เมื่อถึงช่วงปลายเดือนมีนาคมของทุกปีอากาศเริ่มร้อน อบอ้าว ลมร้อนและการเบ่งบานของดอกลมแล้ง สีเหลืองอ่อน สองฝั่งข้างถนนต่างๆ เพิ่มความสดใสให้เห็นเป็นสัญญาณที่ชาวล้านนารู้ว่าช่วงเทศกาลปีใหม่เมืองได้ใกล้เข้ามาแล้วปีใหม่เมืองของล้านนานั้นมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นเป็นเวลาช้านานทั้งในแง่พิธีกรรมทางศาสนาและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลนี้ อาทิเช่น จะได้เข้าวัดเพื่อฟังธรรม ดำหัวเพื่อขอพรและขอขมาคารวะผู้สูงวัย ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ที่อาจได้ล่วงเกินทางกาย วาจา ใจ เพื่ออโหสิกรรมต่างๆ ทั้งยังเป็นเทศกาลที่ญาติพี่น้องซึ่งแยกย้ายกันอยู่ที่ต่างๆ ได้มีโอกาสกลับบ้านมาพบปะสังสรรค์พร้อมหน้าพร้อมตากันในแง่ของพิธีกรรมกิจกรรม ตลอดจนความเชื่อดังกล่าว กลายเป็นสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติสืบมา ปีใหม่เมืองจึงมีความสำคัญต่อคนล้านนาดังนี้ (ฮีตบ่าเก่า ปี๋ใหม่เมือง, 2552)
1. เป็นการเปลี่ยนปีของคนเมือง ซึ่งจะนับปีตามปีใหม่เมือง
2. เป็นการเตือนตนและสำรวจตนเองเพราะว่าการที่มีอายุเพิ่มจะเป็นการย้ำเตือนให้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของวัน วัย และสังขาร
3. เป็นการชำระสะสางสิ่งที่ไม่ดี เป็นช่วงโอกาสที่คนเมือง สำรวจตรวจสอบสิ่งต่างๆ ที่ล่วงมา เมื่อพบข้อบกพร่อง ผิดพลาดไป ก็มักจะตั้งจิตตั้งใจสะสางสิ่งที่ไม่ดีไม่งามออกไป สิ่งใดที่ร้ายก็ขอให้ดับไปกับไฟ ไหลไปกับน้ำ ล่องไปกับสังขาร
4. เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ปีใหม่เมืองมีสิ่งที่เกิดขึ้นมากมายหลายประการ ทั้งที่เป็นวัตถุ ความเคลื่อนไหว เช่น การจัดซื้อเสื้อผ้า ข้าวของ มีความคึกคักจัดซื้อมาสวมใส่และใช้งานในการต้อนรับปีใหม่ ถือว่าเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง
ช่วงเทศกาลประเพณีปีใหม่เมืองจะมีวันสำคัญต่างๆ ซึ่งแต่ละวันจะมีประเพณี พิธีกรรม กิจกรรมหลายอย่างที่เกิดขึ้นหรือกระทำในวันนั้น ๆ บางอย่างลางเลือนไปบ้าง บางอย่างยังดำรงอยู่ วันสำคัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ของล้านนา ได้แก่ วันสังขานต์ล่อง วันเน่า วันพญาวัน และวันปากปี
เผยแพร่ในวารสาร แม่โจ้ปริทัศน์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 2 ประจำเดือน เมษายน-มิถุนายน 2561
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.erp.mju.ac.th/eDocumentGenerateFile.ashx?key=NTQ3NjEy