|
การบริการวิชาการสู่ชุมชนด้านการทำนุบำรุงมรดกทางวัฒนธรรม
»
ซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุเสด็จ จังหวัดลำปาง
|
ซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุเสด็จ นครลำปาง กับหลักฐานความงามในอดีตจากภาพถ่ายโบราณ
ถ้ากล่าวถึงซุ้มประตูโขงสกุลช่างลำปางที่สวยงามอีกหนึ่งหลัง ในยุคพม่าปกครองล้านนา (พ.ศ. 2101-2300) คือซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุเสด็จ(หลักฐานจากภาพถ่ายโบราณ) ไม่มีหลักฐานใดระบุปีที่สร้างซุ้มประตูโขงหลังนี้ที่ชัดเจน แต่สิ่งที่ยังคงเหลือให้เห็นเป็นหลักฐานด้านรูปแบบงานศิลปกรรมคือ “เซรามิคประดับ” และเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัดพระธาตุเสด็จ เป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือและสันนิษฐานได้ว่าซุ้มประตูโขงหลังดังกล่าว ก็น่าจะสร้างขึ้นในคราวเดียวกันกับซุ้มประตูโขงวัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน นอกจากนั้นแล้วยังมีบันทึกอีกว่า เมื่อ ปี พ.ศ. 2404 ครูบาปินตา วัดหลวงกลางเวียง(วัดบุญวาทย์วิหาร) และครูบาจินา ปกเสาซ่อมประตูโขงวัดพระธาตุเสด็จ ซึ่งก็หมายความว่าซุ้มประตูโขงได้มีมาก่อนหน้านี้แล้ว และได้ชำรุดเสียหายตามกาลเวลา จนได้มีครูบาทั้งสองมาเป็นประธานในการบูรณะซ่อมแซมอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุเสด็จ ถูกซ่อมแซมใหม่ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2475
จากหลักฐานภาพถ่ายโบราณ ด้วยลักษณะทางรูปแบบและการประดับตกแต่งซุ้มประตูโขงคล้ายกับวัดไหล่หินหลวงด้วยงานเซรามิคประดับ อันมีความเกี่ยวเนื่องกับครูบามหาป่าพระมหาปัญญาที่เคยบวชเรียนที่วัดพระธาตุเสด็จมาก่อน จึงเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่ารูปแบบการสร้างประตูโขงนั้นน่าจะส่งอิทธิพลถึงกันไม่มากก็น้อย
กรณีความสัมพันธ์ของวัดพระธาตุเสด็จ วัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืนและวัดพระธาตุลำปางหลวง เกิดจากความสัมพันธ์ในตัวบุคคลเป็นหลัก ตามบันทึกได้กล่าวถึงสมัยที่พม่าปกครองล้านนา ที่นครลำปางมีพระมหาป่า(พระในตระกูลอรัญวาสี) 2 รูป เป็นพี่น้องกัน คือพระมหาป่าเกสระปัญโญองค์พี่ จำพรรษาวัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน และพระมหาปัญญาองค์น้อง จำพรรษาวัดพระธาตุลำปางหลวง องค์น้องเคยบวชเรียนอยู่วัดพระธาตุเสด็จ และพระมหาป่าองค์พี่บวชเรียนที่วัดป่าซางดอยเฮืองเมืองลำพูน ทั้งคู่กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดดังกล่าวแล้วก็ได้เป็นต้นแบบหรือ “เค้าครู” ถ่ายทอดรูปแบบศิลปกรรมและพระธรรมให้กับวัดในลำปางยุคนี้ ในขณะนั้นประกอบด้วยวัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดลำปางกลาง วัดปงยางคก วัดพระธาตุเสด็จ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีลูกศิษย์ต่างเมือง คือ ขุนด่านสุตตา เจ้าเมืองเถินที่ได้รับการถ่ายทอดรูปแบบงานศิลปกรรมไปยังเมืองเถิน
จะสังเกตเห็นว่า ความสัมพันธ์ของพระมหาป่าและศิษย์สำนักครูเดียวกันนั้น เป็นหนึ่งในมูลเหตุให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายช่างฝีมือและการหยิบยืมแบบแผนในการสร้างงานศิลปกรรมในยุคนี้มาก จากกรณีกลุ่มวัดดังกล่าวนี้ ทั้งวัดพระธาตุเสด็จ วัดไหล่หินแก้วช้างยืน วัดป่าตันหลวง วัดเวียงเถิน วัดล้อมแรด ทำให้มีการสร้างซุ้มประตูโขงในยุคสมัย รูปแบบ และคติการสร้างที่คล้ายๆกัน โดยอาจจะเป็นการใช้ตำรา สูตรช่าง ในรูปของอิทธิพลร่วมกันในช่วง 2 ศตวรรษนี้
|
คำสำคัญ :
ซุ้มประตูโขง
|
กลุ่มบทความ :
บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป
|
หมวดหมู่ :
ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
|
สถิติการเข้าถึง :
เปิดอ่าน
2535
ครั้ง | แสดงความคิดเห็น
0
ครั้ง
|
ผู้เขียน
ฐาปกรณ์ เครือระยา
วันที่เขียน
26/8/2564 13:47:29
แก้ไขล่าสุดเมื่อ
5/10/2567 15:32:32
|
|
|
การบริการวิชาการสู่ชุมชนด้านการทำนุบำรุงมรดกทางวัฒนธรรม
»
ช่อฟ้าแบบลำปาง
|
รูปแบบช่อฟ้ากลุ่มลำปางอันเป็นอัตลักษณ์เชิงช่าง ก็ต้องกล่าวถึงช่อฟ้าเซรามิกประดับวิหารวัดพระธาตุเสด็จ ที่เป็นช่อฟ้าเซรามิกรูปทรงเป็นพญานาค ที่ระบุว่าสร้างในปี จ.ศ. 1008 หรือ พ.ศ. 2189 ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่ชาติหริภุญชัย และช่อฟ้าเซรามิกจากวิหารหลวงวัดพระธาตุลำปางหลวง ที่ปัจจุบันถอดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งเชื่อว่าถูกสร้างขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน เพราะรูปแบบของช่อฟ้าทั้งสอง มีลักษณะเหมือนกันคือมีปราสาทผ่าครึ่งต่อสันหลังช่อฟ้า อันเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้รูปแบบช่อฟ้านั้นสมบูรณ์ และอีกหนึ่งชิ้น คือช่อฟ้าประดับวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง โดยช่อฟ้าทั้งสามชิ้นนี้ทำจากดินเผาเคลือบสีเขียวแกมน้ำตาลเข้ม หรือที่ช่างเรียกว่าน้ำก้าบ ซึ่งเมื่อดูช่วงอายุของงานและอ้างตามจารึกการสร้างวิหารพบว่ามีอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ 22
รูปแบบช่อฟ้าดังกล่าว ยังส่งอิทธิพลถึงรูปแบบช่อฟ้าในเมืองลำปางในช่วงระยะเวลาต่อมา แต่เป็นรูปแบบที่ปราสาทผ่าครึ่งหายไปเหลือแต่ตัวช่อฟ้า ดังปรากฏรูปแบบช่อฟ้าประดับวิหารโคมคำ วัดพระธาตุเสด็จ ที่สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2366 โดยพระเจ้าสุวรรณหอคำดวงทิพย์ ผู้ครองนครลำปาง และช่อฟ้าประดับวิหารไม้โบราณ วัดคะตึกเชียงมั่น ดังจารึกปีที่สร้างคือ พ.ศ. 2375 ซึ่งถึงแม้ว่าจะผ่านการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง แต่รูปแบบช่อฟ้าดังกล่าวก็ยังคงอยู่และยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ช่อฟ้าแบบงานช่างศิลป์ลำปางไว้อย่างชัดเจน
รูปแบบช่อฟ้าอีกแบบหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในเมืองลำปาง ช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา คือช่อฟ้าแบบศิลปะเชียงแสน ที่เข้ามาโดยกลุ่มช่างชาวเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาสู่เมืองลำปางในช่วงเวลาดังกล่าว ในยุคของพระเจ้ากาวิละ เกิดวิหารสกุลช่างเชียงแสนมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทางรูปทรงที่มีเอกลักษณ์ชัดเจนกระจัดกระจายหลายพื้นที่ในจังหวัดลำปาง ดังปรากฏรูปแบบช่อฟ้าประดับวิหารวัดสุชาดาราม ที่สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2325-2352 รูปแบบช่อฟ้าประดับวิหารวัดหัวข่วง ที่มีอายุรุ่นเดียวกันกับวิหารวัดสุชาดาราม รูปแบบช่อฟ้าประดับวิหารวัดป่าดัวะ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2430 โดยเจ้าวรวงค์และเจ้าอินตุ้ม ณ ลำปาง รูปแบบช่อฟ้าประดับวิหารวัดนางเหลียว สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2470 และรูปแบบช่อฟ้าประดับวิหารวัดศรีล้อม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2496
ช่อฟ้าประดับวิหารทั้ง 5 หลังนี้ แสดงให้เห็นถึงการยังคงไว้ซึ่งงานช่างเชียงแสน ที่ส่งผ่านงานศิลปกรรมประดับศาสนาสถาน ในช่วงระยะเวลาเกือบ 2 ศตวรรษ ถึงแม้ว่าชาวเชียงแสนจะถูกโยกย้ายถิ่นฐาน แต่ก็ยังคงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนไว้บนพื้นที่เมืองลำปาง จนท้ายที่สุดกลายเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมเมืองที่สำคัญ
จากเส้นทางเวลาของรูปแบบช่อฟ้าบนพื้นที่จังหวัดลำปาง ก็พอมีเรื่องเล่าเพียงเท่านี้ เพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมที่ส่งถึงกันในพื้นที่เมืองลำปาง จากอดีตถึงปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ
|
คำสำคัญ :
ช่อฟ้าลำปาง
|
กลุ่มบทความ :
บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป
|
หมวดหมู่ :
ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
|
สถิติการเข้าถึง :
เปิดอ่าน
1870
ครั้ง | แสดงความคิดเห็น
0
ครั้ง
|
ผู้เขียน
ฐาปกรณ์ เครือระยา
วันที่เขียน
26/8/2564 13:42:04
แก้ไขล่าสุดเมื่อ
6/10/2567 9:22:08
|
|
|
การบริการวิชาการสู่ชุมชนด้านการทำนุบำรุงมรดกทางวัฒนธรรม
»
วัดร้างแสนขานกับจิตรกรรมเขียนสีกลางกรุ อายุ 600 ปี ค้นพบใหม่อีกแห่งในล้านนา
|
เจดีย์วัดร้างแสนขาน ตั้งอยู่บนถนนมณีนพรัตน์ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ปรากฏชื่อวัดแสนขาน ในเอกสารตำนานพงศาวดาร แต่สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นวัดที่ปรากฏชื่อในพงศาวดารโยนกว่า “...พญาเมืองเกษเกล้าได้ถูกอัญเชิญให้ขึ้นครองราชย์ แต่พระองค์ครองราชย์ได้แค่ 2 ปี พระองค์ก็ทรงเสียพระจริตจึงถูกปลงพระชนม์ และทำการส่งสักการ(เผา) ณ วัดแสนขาน แล้วจึงนำเอาพระอัฐิธาตุไปบรรจุไว้ ณ เจดีย์วัดโลกโมฬี..”
อีกหนึ่งข้อสันนิษฐานคือ วัดนี้สร้างขึ้นโดยเจ้าแสนขาน หนึ่งในอำมาตย์ของพระเจ้าสามฝั่งแกน ที่คิดช่วยให้ "เจ้าลก" พระโอรสองค์ที่ 6 ในพญาสามฝั่งแกน ขึ้นครองราชย์ในนาม พระเจ้าติโลกราช แล้วบังคับให้พระเจ้าสามฝั่งแกนสละราชสมบัติ ในปี พ.ศ. 1985 ซึ่งต่อมาถูกพระเจ้าติโลกราชคุมขังและลดยศเป็น "หมื่นขาน" และให้ไปครองเมืองเชียงแสนแทน
โดยสถาพปัจจุบันเป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านพักอาศัยของประชาชน โดยการบุกรุกพื้นที่ของวัดจนถึงแนวขอบของฐานเจดีย์ รอบด้านเป็นอาคารบ้านพักชั้นเดียวและสองชั้น ซึ่งได้ทำการเช่าที่ดินจากราชพัสดุมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว
สิ่งที่น่าสนใจคือจิตรกรรมฝาผนังที่ถูกค้นพบในครั้งนี้ ถือเป็นหลักฐานใหม่ที่เกี่ยวข้องกับงานจิตรกรรมฝาผนังล้านนาในสมัยพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งในอดีตที่ผ่านมามีข้อมูลเพียงงานจิตรกรรมฝาผนังในถ้ำคูหา วัดอุโมงค์ เชิงดอยสุเทพ ซึ่งเมื่อกล่าวถึงงานจิตรกรรมล้านนาโบราณในสมัยพุทธศตวรรษที่ 21 แล้ว ย่อมเป็นงานที่พบได้น้อยมากและเป็นภาพลายดอกไม้และลายธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากการเวลาและสภาพภูมิอากาศ ที่เป็นตัวทำลายงานจิตรกรรมเขียนสีเหล่านั้น
จากการค้นพบครั้งนี้เกิดจากการสำรวจวัดร้างในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ ระหว่างปี 2561-2562 นำโดย รศ.ดร. สืบศักดิ์ แสนยาเกียรติคุณ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.ธวัชชัย ทำทอง จากมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง และ อ.ฐาปกรณ์ เครือระยา จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ทำการสำรวจวัดร้างแสนขาน ตามเอกสารที่ได้บันทึกไว้ว่า วัดร้างดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกของวัดโลกโมฬี นอกจากนี้ยังพบว่าวัดร้างแสนขานยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากทางกรมศิลปากร จึงทำให้เห็นสภาพเจดีย์ร้างอยู่ท่ามกลางสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่ ซึ่งก็เป็นบ้านเรือนของประชาชนที่จับจองพื้นที่รายล้อมเขตโบราณสถานดังกล่าว โดยสภาพของเจดีย์ยังค่อนข้างเห็นเป็นองค์ชัดเจน รูปแบบของเจดีย์สามารถบ่งบอกรายละเอียดได้บ้างบางส่วน สิ่งที่ทำให้เราเห็นหลักฐานภาพจิตรกรรมล้านนาโบราณในสมัยพุทธศตวรรษที่ 21 ก็เพราะการขุดหาของมีค่าจากกรุจนกรุแตก
ภาพเขียนฝาผนังภายในกรุของวัดร้างแสนขานนั้น เขียนขึ้นเพื่อตกแต่งภายในกรุสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็ก กว้าง 55 เซนติเมตร ยาว 140 เซนติเมตร และสูง 120 เซนติเมตร ซึ่งเป็นกรุชั้นใน ส่วนกรุชั้นนอก (กรุหลอก) จะมีการก่อปูนไม่ฉาบ ห่างออกมาจากกรุในด้านละประมาณ 40-45 เซนติเมตร โดยกรุดังกล่าวอยู่ในระดับตัวเรือนธาตุ
จิตรกรรมฝาผนังประดับกรุ ปรากฏบนผนังกรุด้านทิศเหนือ(ตัวภาพหันหน้าไปทางทิศใต้) ซึ่งเป็นผนังฝั่งเดียวที่มีงานเขียนภาพจิตรกรรม อีกทั้งภาพหลักฐานจิตรกรรมฝาผนังในกรุมีสภาพลบเลือนไปมาก จำเป็นต้องใช้เทคนิคคัดลอกจิตรกรรมด้วยมือและคอมพิวเตอร์ควบคู่กัน โดยการคัดลอกลายเส้น เพื่อให้เห็นรายละเอียดของภาพรวมในงานจิตรกรรมฝาผนังอันเก่าแก่ของศิลปะล้านนา ซึ่งมีอายุกว่า 600 ปีได้ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม
จิตรกรรมดังกล่าวเป็นเทคนิคเขียนสีปูนเปียก ซึ่งเป็นเทคนิคที่นิยมกันในยุคโบราณ เพื่อให้งานจิตรกรรมนั้นติดทนนาน ดังนั้นภายในห้องกรุเราจึงเห็นเนื้อปูนที่กะเทาะออกมาสองชั้นคือชั้นแรกคือปูนฉาบ และชั้นที่สองคือชั้นปูนเปียกเพื่อเตรียมเขียนงานจิตรกรรม สีที่ใช้เขียนพบว่ามีเพียงสองสีที่ชัดเจน คือสีแดงและสีดำ ซึ่งน่าจะเป็นสีที่มาจากชาดและยางรัก อันเป็นวัตถุให้สีที่นิยมกันในยุคโบราณ ส่วนภาพเขียนเป็นภาพเทวดา 2 องค์ องค์แรกไม่สามารถระบุได้เนื่องจากมีการกะเทาะของปูนบริเวณส่วนองค์เทวดาพอดี องค์ที่ 2 เป็นเทวดา 4 กร นั่นคือพระพรหมนั่นเอง
พระพรหมทรงเครื่องสวมชฎามีรัศมี มือคู่แรกประนมมือไว้ มือคู่หลังกรีดกรายเหมือนถือช่อดอกไว้แต่ไม่ชัดเจน นุ่งผ้าสะบัดพลิ้ว รอบๆมีดอกไม้ลอยเป็นดอกโบตั๋น ส่วนฐานล่างสุดเป็นลายหม้อดอกบูรณฆฏะในหม้อเป็นดอกบัว ส่วนด้านบนเป็นลักษณะของรูปทรงสามเหลี่ยม ซึ่งจากการดูลายเส้นที่เลือนรางสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นรูปทรงของฉัตรหรือไม่ก็เป็นรูปทรงของเจดีย์
จิตรกรรมผาผนังภายในกรุวัดร้างแสนขาน ตามสภาพปัจจุบันนั้น อยู่ในสภาพที่ชำรุดลบเลือนมาก จนหลายคนเข้าใจว่าคงไม่มีภาพจิตรกรรมหลงเหลือ แต่จากการสำรวจครั้งนี้กลับพบหลักฐานของจิตรกรรมฝาผนังที่มีความสำคัญมากอีกชิ้นหนึ่งในล้านนา ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการวิชากาต่อไปในอนาคต
|
คำสำคัญ :
จิตรกรรมวัดร้างแสนขาน, จิตรกรรมล้านนา 600 ปี
|
กลุ่มบทความ :
บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป
|
หมวดหมู่ :
ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
|
สถิติการเข้าถึง :
เปิดอ่าน
2600
ครั้ง | แสดงความคิดเห็น
0
ครั้ง
|
ผู้เขียน
ฐาปกรณ์ เครือระยา
วันที่เขียน
5/9/2563 22:20:19
แก้ไขล่าสุดเมื่อ
4/10/2567 22:46:13
|
|
|
การบริการวิชาการสู่ชุมชนด้านการทำนุบำรุงมรดกทางวัฒนธรรม
»
การบริการวิชาการสู่ชุมชน ว่าด้วยการทำนุบำรุงมรดกทางวัฒนธรรม
|
การบริการวิชาการสู่ชุมชนด้านการทำนุบำรุงมรดกทางวัฒนธรรมนั้น ผู้จัดทำโครงการต้องมีบทบาทในการอนุรักษ์ซ่อมแซมและสร้างจิตสำนึก ด้วยการเข้ามาทำความรู้จักงานศิลปกรรมภายในชุมชนและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ศิลปกรรมที่มีในท้องถิ่น ดังโครงการที่ได้จัดทำขึ้นตามชุมชนต่างๆ เช่นการอนุรักษ์และทำทะเบียน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่พบภายในชุมชนนั้นๆ ซึ่งต้องอาศัยคนในชุมชนโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์งานศิลปกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้อาวุโสภายในชุมชน เข้ามาร่วมวิภาคและแสดงความคิดเห็น รวมทั้งเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ของชุมชน เพื่อได้รับรู้และเข้าใจร่วมกัน อันเป็นการกระบวนการปลุกจิตสำนึกร่วมกับชุมชน
นอกจากนี้งานบริการวิชาการยังได้สร้างกลุ่มผู้นำในการอนุรักษ์ศิลปกรรมในท้องถิ่น โดยส่งผลให้เกิดกระบวนการอนุรักษ์ต่อไปได้อย่างมีระบบ โดยอาศัยกลุ่มประธานชุมชน กลุ่มแม่บ้าน และกลุ่มเยาวชน เข้ามามีบทบาทหน้าที่ในการแสดงความสามารถและแสดงความคิดเห็นในการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมภายในชุมชน มีสิทธิ เสรีภาพในการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยอาศัยแนวทางการปฏิบัติตามที่คณะวิจัยได้เสนอแนะ คือการทำงานร่วมกับชุมชน
บทเรียนสำคัญจากการทำงานร่วมกับชุมชนนั้น คือการสร้างความรู้สึกร่วมให้ได้ โดยลำดับแรกของการทำงานนั้น ต้องทำให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าและความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่ตนมีให้ได้ โดยอธิบายทั้งในด้านรูปแบบทางศิลปกรรม สถานะภาพในปัจจุบันและการใช้งานในอดีต รวมไปถึงสร้างความรู้สึกรักและหวงแหนในงานศิลปกรรม ว่าชุมชนดังกล่าวเป็นหนึ่งในชุมชนที่มีเพียงไม่กี่แห่ง ที่มีภาพตุงค่าวธรรมชุดนั้น ซึ่งมีความสำคัญมากในทางวิชาการ
ต่อจากนั้นจะเป็นกระบวนการสร้างความไว้วางใจระหว่างคนในชุมชน และทีมงานวิจัยว่าที่ผ่านมาได้เข้าไปทำงานในพื้นที่ใดแล้วบ้าง รวมไปถึงแสดงรูปแบบของการทำงานในชุมชนต่างๆ ที่ผ่านมา ให้คนในชุมชนรับรู้และเข้าใจถึงกระบวนการการทำงานทั้งหมด นอกจากนี้การมีพระสงฆ์เข้าเป็นหนึ่งในทีมงานวิจัย สามารถสร้างความเชื่อมั่นในวงการสงฆ์ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเมื่อพระสงฆ์ในชุมชนนั้นไว้วางใจแล้ว นั่นหมายถึงความไว้วางใจจากคนในชุมชนนั้นๆด้วย
การสร้างสำนึกร่วม ถึงเป็นการกระตุ้นให้ตระหนักถึงคุณค่าและอยากเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรมตนเอง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา ในการทำงานแต่ละครั้ง ทีมนักวิจัยจะให้เกียรติคนในชุมชนในการซ่อมแซมภาพตุงค่าวธรรมด้วยตัวเอง ทั้งนี้ทีมงานจะเป็นผู้แนะนำวิธีการในเบื้องต้น โดยเป็นกระบวนการที่ง่ายไม่สลับซับซ้อน ถือเป็นกระบวนการที่คนในชุมชนคุ้นเคย และสามารถร่วมกับคณะวิจัยในการทำงานได้อย่างมั่นใจ การสร้างสำนึกร่วมดังกล่าว เป็นกระบวนการสำคัญที่สามารถนำไปสู่การรักและหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมตนเองให้กับคนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
กระบวนการสุดท้ายคือ การสร้างบทบาทหน้าที่ให้คนในชุมชน ถือเป็นกระบวนการที่ไม่ได้เน้นความรู้ทางวิชาการ แต่เน้นให้ทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติ ต่องานงานศิลปกรรมชิ้นนั้นๆ เช่นการจัดเก็บในที่ๆจัดเตรียมไว้ การให้ชาวบ้านช่วยกันถือ เพื่อบันทึกภาพร่วมกัน หรือแม้กระทั่งการขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลรักษางานศิลปกรรมชิ้นนั้นๆ ก่อนจะนำถวายคืนให้กลับวัด และจัดเก็บเป็นกระบวนการสุดท้าย
จากประสบการณ์และแนวทางการบริการวิชาการสู่ชุมชนเบื่องต้นนี้ เป็นเพียงกระบวนการและวิธีการหนึ่งเท่านั้น ที่เป็นผลจากการเรียนรู้ร่วมกับคนในชุมชน ในการเข้าไปจัดการทั้งองค์ความรู้ จัดการมรดกทางวัฒนธรรม และการจัดการคนในชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนล้วนแล้วแต่มีบริบททางสังคมที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งองค์ความรู้หรือแนวทางดังกล่าวอาจจะสามารถนำไปปรับใช้ในกระบวนการบริการวิชาการสู่ชุมชนต่างๆได้ ต่อไป
|
คำสำคัญ :
บริการวิชาการ มรดกทางวัฒนธรรม
|
กลุ่มบทความ :
บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป
|
หมวดหมู่ :
ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
|
สถิติการเข้าถึง :
เปิดอ่าน
3871
ครั้ง | แสดงความคิดเห็น
0
ครั้ง
|
ผู้เขียน
ฐาปกรณ์ เครือระยา
วันที่เขียน
21/6/2559 10:46:40
แก้ไขล่าสุดเมื่อ
6/10/2567 8:52:37
|
|
|