รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามคำสำคัญ  : ซุ้มประตูโขง
การบริการวิชาการสู่ชุมชนด้านการทำนุบำรุงมรดกทางวัฒนธรรม » ซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุเสด็จ จังหวัดลำปาง
ซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุเสด็จ นครลำปาง กับหลักฐานความงามในอดีตจากภาพถ่ายโบราณ ถ้ากล่าวถึงซุ้มประตูโขงสกุลช่างลำปางที่สวยงามอีกหนึ่งหลัง ในยุคพม่าปกครองล้านนา (พ.ศ. 2101-2300) คือซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุเสด็จ(หลักฐานจากภาพถ่ายโบราณ) ไม่มีหลักฐานใดระบุปีที่สร้างซุ้มประตูโขงหลังนี้ที่ชัดเจน แต่สิ่งที่ยังคงเหลือให้เห็นเป็นหลักฐานด้านรูปแบบงานศิลปกรรมคือ “เซรามิคประดับ” และเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัดพระธาตุเสด็จ เป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือและสันนิษฐานได้ว่าซุ้มประตูโขงหลังดังกล่าว ก็น่าจะสร้างขึ้นในคราวเดียวกันกับซุ้มประตูโขงวัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน นอกจากนั้นแล้วยังมีบันทึกอีกว่า เมื่อ ปี พ.ศ. 2404 ครูบาปินตา วัดหลวงกลางเวียง(วัดบุญวาทย์วิหาร) และครูบาจินา ปกเสาซ่อมประตูโขงวัดพระธาตุเสด็จ ซึ่งก็หมายความว่าซุ้มประตูโขงได้มีมาก่อนหน้านี้แล้ว และได้ชำรุดเสียหายตามกาลเวลา จนได้มีครูบาทั้งสองมาเป็นประธานในการบูรณะซ่อมแซมอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุเสด็จ ถูกซ่อมแซมใหม่ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2475 จากหลักฐานภาพถ่ายโบราณ ด้วยลักษณะทางรูปแบบและการประดับตกแต่งซุ้มประตูโขงคล้ายกับวัดไหล่หินหลวงด้วยงานเซรามิคประดับ อันมีความเกี่ยวเนื่องกับครูบามหาป่าพระมหาปัญญาที่เคยบวชเรียนที่วัดพระธาตุเสด็จมาก่อน จึงเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่ารูปแบบการสร้างประตูโขงนั้นน่าจะส่งอิทธิพลถึงกันไม่มากก็น้อย กรณีความสัมพันธ์ของวัดพระธาตุเสด็จ วัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืนและวัดพระธาตุลำปางหลวง เกิดจากความสัมพันธ์ในตัวบุคคลเป็นหลัก ตามบันทึกได้กล่าวถึงสมัยที่พม่าปกครองล้านนา ที่นครลำปางมีพระมหาป่า(พระในตระกูลอรัญวาสี) 2 รูป เป็นพี่น้องกัน คือพระมหาป่าเกสระปัญโญองค์พี่ จำพรรษาวัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน และพระมหาปัญญาองค์น้อง จำพรรษาวัดพระธาตุลำปางหลวง องค์น้องเคยบวชเรียนอยู่วัดพระธาตุเสด็จ และพระมหาป่าองค์พี่บวชเรียนที่วัดป่าซางดอยเฮืองเมืองลำพูน ทั้งคู่กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดดังกล่าวแล้วก็ได้เป็นต้นแบบหรือ “เค้าครู” ถ่ายทอดรูปแบบศิลปกรรมและพระธรรมให้กับวัดในลำปางยุคนี้ ในขณะนั้นประกอบด้วยวัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดลำปางกลาง วัดปงยางคก วัดพระธาตุเสด็จ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีลูกศิษย์ต่างเมือง คือ ขุนด่านสุตตา เจ้าเมืองเถินที่ได้รับการถ่ายทอดรูปแบบงานศิลปกรรมไปยังเมืองเถิน จะสังเกตเห็นว่า ความสัมพันธ์ของพระมหาป่าและศิษย์สำนักครูเดียวกันนั้น เป็นหนึ่งในมูลเหตุให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายช่างฝีมือและการหยิบยืมแบบแผนในการสร้างงานศิลปกรรมในยุคนี้มาก จากกรณีกลุ่มวัดดังกล่าวนี้ ทั้งวัดพระธาตุเสด็จ วัดไหล่หินแก้วช้างยืน วัดป่าตันหลวง วัดเวียงเถิน วัดล้อมแรด ทำให้มีการสร้างซุ้มประตูโขงในยุคสมัย รูปแบบ และคติการสร้างที่คล้ายๆกัน โดยอาจจะเป็นการใช้ตำรา สูตรช่าง ในรูปของอิทธิพลร่วมกันในช่วง 2 ศตวรรษนี้
คำสำคัญ : ซุ้มประตูโขง  
กลุ่มบทความ : บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป
หมวดหมู่ : ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
สถิติการเข้าถึง : เปิดอ่าน 2329  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
ผู้เขียน ฐาปกรณ์ เครือระยา  วันที่เขียน 26/8/2564 13:47:29  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 19/4/2567 20:31:48