โลกใบใหม่เก็บไว้ในก้อนเมฆ ( Cloud Computing)
ขึ้นหัวเรื่องภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อาจจะไม่สอดคล้องกันแต่ที่ผู้เขียนอยากจะแนะนำต่อไปนี้ ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องก้อนเมฆ ที่ไม่เกี่ยวกับฟ้าฝนที่ตกกันทุกวันช่วงนี้ ก้อนเมฆที่จะกล่าวต่อไปจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการทำงาน ในชีวิตประจำวันของเราที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีทุกวัน พูดง่าย ๆ มันก็คือระบบอินเตอร์เน็ตนั่นแหละ แต่ด้วยวิวัฒนาการของการพัฒนาระบบให้มีการใช้งานที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน เราสามารถเปลี่ยนแนวคิดการทำงานใหม่ ๆ ซึ่งระบบ Cloud Computing ก็เช่นกัน บริการของ Cloud หลัก ๆ ตอนนี้ที่เห็นก็มี 2 แบบ นั่นคือ Cloud Computing และ Cloud Storage โดยที่ Cloud Computing คือการประมวลผลระบบสารสนเทศบนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ส่วน Cloud Storage ก็หมายถึงการเก็บข้อมูลบนระบบอินเตอร์เน็ต เราเคยสังเกตหรือไม่ว่า เราสมัครใช้อีเมล์ ของ Google หรือ Yahoo หรือตามเว็บไซต์ต่างๆแล้ว เขาเอาข้อมูลของเราไปเก็บไว้ที่ไหน บางเว็บไซต์เราสามารถเก็บข้อมูลหรือแม้กระทั่งงานที่เราทำทุกวันไว้ได้เลย ถ้าหากใครเคยใช้ Google จะพบว่าในเว็บไซต์ของ Google จะมี Google Doc ให้เราไว้เก็บเอกสารได้ ปัจจุบันมีเว็บไซต์หลายๆ แห่ง ที่ได้ริเริ่มโครงการในลักษณะนี้ และจะเป็นที่นิยมในอนาคตอันใกล้ ที่กำลังแข่งขันกันเปิดให้บริการระบบ Cloud Computing เช่น ของ Google , Microsoft, Intel, IBM , yahoo, HP ฯลฯ
คำนิยามของ Cloud Computing มีผู้รู้หลายท่านได้แปลไว้ เช่น หมายถึงทรัพยากรสำหรับการประมวลผลที่จัดเตรียมและจัดการโดยบุคคลหรือองค์กรที่สาม (Third Party) โดยทรัพยากรเหล่านี้ถูกจัดเตรียมไว้ที่ Data Center จากนั้นผู้ใช้ของ Cloud Computing สามารถเข้าไปใช้ทรัพยากรเหล่านี้โดยการซื้อ(หรือเช่า) ได้ตามที่ต้องการโดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องคำนึง(หรือแม้แต่กังวล) ว่าผู้ให้บริการทรัพยากรจะบริหารทรัพยากรให้มีความสามารถขยายตัวด้วยวิธีอะไร หรืออีกนิยามหนึ่งที่ได้อธิบายไว้ Cloud Computing คือการขาย Computation power โดย Customers จะจ่ายเท่ากับจำนวนหน่วยที่ใช้ และนิยามสุดท้ายที่จะขอนำเสนอ Cloud Computing ก็คือการนำเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนมากมาเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน คอมพิวเตอร์ทั้งหมดในกลุ่ม Cloud อาจไม่จำเป็นต้องติดตั้งอยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่อาจมีการเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายสื่อสารความเร็วสูง เป้าหมายเพื่อการดึงพลังการประมวลผล (Processing) ของคอมพิวเตอร์ทั้งหมดมาประสานกัน เพื่อนำไปใช้จัดการงานประมวลผลใหญ่ ๆ ที่แต่เดิมอาจต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์คุณภาพสูง ต้นทุนมหาศาล แต่กับเทคโนโลยี Cloud Computing แล้ว ผู้ลงทุนสามารถลดต้นทุนและหันมาใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ราคาประหยัดมาทำงานร่วมกันแทน
ตัวอย่างในปัจจุบันที่มีให้บริการ อย่างเช่นระบบความสัมพันธ์ของลูกค้า หรือระบบ CRM ตอนนี้ก็มีเว็บไซต์ที่ให้บริการคือ salesforce.com ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการซอฟต์แวร์ของ CRM รายใหญ่ของโลก ผู้ใช้ก็ไม่ต้องซื้อหาซอฟต์แวร์ทางด้านบริหารจัดการ CRM ตลอดจนฮาร์ดแวร์ ระบบเครือข่ายและผู้ดูแลระบบ ผู้ใช้สามารถเลือกใช้แพ็คเกจที่เซลฟอร์ทมีไว้ให้บริการ ในเรื่องการชำระเงินก็จะมีค่าใช้จ่ายเท่าที่เราใช้บริการ เช่น ใช้พื้นที่ในการเก็บข้อมูล 10 GB ก็จ่ายเพียงแค่เท่าที่ใช้ ประหยัดกว่าการจัดหาระบบเอง จากการที่ระบบดังกล่าวได้รับความนิยมพบว่ามีการขยายการให้บริการไปใช้ในด้านต่างๆ เช่น ด้านโฆษณา ด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์และด้านระบบการชำระเงินออนไลน์
แล้วทำไมการใช้งานเทคโนโลยี Cloud Computing จึงจะเป็นที่นิยมในอนาคตอันใกล้นี้ จากรายงานของบริษัทการ์ตเนอร์ (Gartner) ได้จัดอันดับ 10 เทคโนโลยีต้อนรับปี 2009 โดยนักวิเคราะห์จากการ์ตเนอร์เชื่อว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในอีก 3ปีข้างหน้า และการ์ตเนอร์ได้แนะนำให้บริษัทต่าง ๆ ว่าควรให้ความสนใจกับเทคโนโลยีเหล่านี้ โดยเทคโนโลยี Cloud Computing อยู่ในลำดับที่ 2 รองลงมาจาก Virtualization ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางด้านการจำลองหรือโลกเสมือน ที่ปัจจุบันกำลังได้รับความนิยม
ในระบบการจัดการศึกษาในอนาคตก็คงต้องคิดในเรื่องการประหยัดต้นทุนด้วยเช่นกัน ไม่แน่ต่อไปมหาวิทยาลัยแม่โจ้อาจจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำงานใหม่ ก็อย่างที่เป็นที่รู้กันอยู่ว่างบประมาณของมหาวิทยาลัยตัดลดลงทุกปี การปรับปรุงวิธีการทำงานบางครั้ง เราก็ต้องหันมาดูการบริหารงานแบบเอกชนบ้าง จะมัวมานั่งกอดกฎ ระเบียบต่อไปคงจะไม่ได้แล้วในยุคสังคมที่อะไรๆ ก็จำลองแบบนี้
บรรณานุกรม
ศาสตราจารย์ ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน. June 2009. CIO WORLD & BUSINESS. ความน่าสนใจของ cloud computing . คอมพิวเตอร์ อิเล็กทริค จำกัด.