ครูไทยไปอเมริกา
เรื่องและภาพโดย จรัสพิมพ์ บุญญานันต์
ตีพิมพ์เผยแพร่ใน "วารสารแม่โจ้ปริทัศน์" ปีที่ 6 ฉบับที่ 4 ประจำเดือน กรกฎาคา-สิงหาคม พ.ศ. 2548
สมัยก่อนตอนเป็นวัยรุ่น เริ่มเรียนสาขาวิชาสถาปัตยกรรมใหม่ๆ ผู้เขียนนึกอยู่เหมือนกันว่าตนเองมีแนวโน้มที่จะจบไปประกอบอาชีพเป็นครูบาอาจารย์ เนื่องจากทราบดีว่า นิสัยชอบขีดๆเขียนๆแบบนี้ไปทำอย่างอื่นไม่น่าจะรุ่ง แต่ถึงกระนั้นก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะได้มีโอกาสไปสอนหนังสือต่างบ้านต่างเมือง แถมยังต้องสอนเป็นภาษาอังกฤษ คนเรียนเป็นวัยรุ่นฝรั่งผมแดงผมเหลืองเสียอีก แค่คิดก็น่าหวาดเสียว ก็ขนาดสอนเป็นภาษาไทยยังพูดกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง แล้วนี่ถ้าเป็นภาษาอังกฤษจะปวดหัววุ่นวายขนาดไหน
แต่แล้วโชคชะตาก็บันดาลให้ชีพจรลงเท้าของผู้เขียนอีกตามเคย ครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่ภาควิชาภูมิทัศน์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้จัดให้มีโครงการแลกเปลี่ยนทางด้านวิชาการ กับภาควิชาพืชสวนและภูมิสถาปัตยกรรม คณะวิทยาศาสตร์เกษตรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยโอคลาโฮมาสเตท ยูนิเวอร์ซิตี้ (Oklahoma State University) ผู้เขียนจึงมีโอกาสเดินทางไปร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนของสาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรมในระหว่างวันที่ 27 มีนาคม- 29 เมษายน พ.ศ. 2548 และหลังจากนั้นได้เดินทางไปศึกษาดูงานทางด้านภูมิสถาปัตยกรรมที่เมืองซานฟรานซิสโก (San Fransisco) เป็นเวลา 4 วัน ก่อนที่จะเดินทางกลับเมืองไทยในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ซึ่งตรงกับช่วงปิดภาคฤดูร้อนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้พอดี
ตั้งแต่เรียนจบปริญญาโทเป็นต้นมา ผู้เขียนก็ไม่ได้มีโอกาสเดินทางกลับไปเยี่ยมเยียนอเมริกาอีกเลยตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกของการคืนสู่เหย้า เสียดายว่าไม่ได้กลับไปที่มหาวิทยาลัยที่ตนเองจบมาคือ มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียโพลีเทคนิค อินสติติว แอนด์ สเตท ยูนิเวอร์ซิตี้ (Virginia Polytechnique Institute and State University) พบว่าการเดินทางถึงจะยาวนาน แต่ก็ไม่รู้สึกทุกข์ทรมานเหมือนที่เคยจำได้ เป็นความจริงที่ว่าเส้นทางที่เราเคยเดินทางผ่านไปแล้ว เมื่อเราต้องผ่านมันอีกครั้ง เส้นทางนั้นก็จะไม่ไกลอีกต่อไป เมื่อผู้เขียนเดินทางไปถึงนั้นเป็นสัปดาห์หลังจากช่วงปิดสริงเบรกพอดี (Spring Break) นักศึกษาเดินทางกันคึกคักตามสนามบินภายในประเทศเพื่อกลับมาเรียน ผู้เขียนต้องขึ้นเครื่องบินไปลงที่สนามบินของเมืองโอคลาโฮมาซิตี้ (Oklahoma City) อันเป็นเมืองหลวงของรัฐ โดยมี Associate Prof. Paul Hsu อาจารย์ประจำสาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรมมารอรับ และต้องเดินทางโดยรถยนต์อีกประมาณ 1 ? ชั่วโมง จึงจะถึงเมือง สติลวอเตอร์ (Stillwater) อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย
เมืองสติลวอเตอร์ นี้มีชื่อที่เรียกกันในหมู่นักศึกษาไทยที่นี่ว่า เมืองหนองน้ำนิ่ง ฟังแล้วเห็นภาพพจน์ชัดเจนดีจริงๆ เพราะสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปเป็นทุ่งโล่ง พืชพรรณเด่นๆมีไม่กี่ชนิดและที่เด่นที่สุดก็คือทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงปศุสัตว์ สมัยก่อนแถวนี้คงเป็นหนองน้ำ ที่พวกฝูงสัตว์ได้มาอาศัยดื่มกิน แม้ในปัจจุบันถึงแม้ว่าจะพัฒนาเป็นเมืองมหาวิทยาลัย แต่ยังเห็นภาพของภูมิประเทศเดิมๆได้อยู่ เมื่อผู้เขียนมาถึงที่นี่นั้นเป็นปลายฤดูหนาว ต้นไม้ผลัดใบร่วงหล่นเหลือแต่กิ่งก้าน ยืนต้นแห้งโกร๋นดูแล้งตา ช่างแตกต่างจากความเขียวชอุ่มของต้นไม้ในเมืองเชียงใหม่ที่จากมาอย่างลิบลับ มีนักศึกษาไทยเรียนอยู่ที่นี่ประมาณ 30 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ใครส่งลูกหลานมาเรียน เป็นอันสบายใจได้เลยว่าไม่เสียคนแน่นอน เพราะแทบจะไม่มีแหล่งบันเทิงเริงรมย์ใดๆเลย
ภารกิจหลักๆของผู้เขียนในคราวนี้ คือการไปร่วมสอนกับคณาจารย์ของที่โน่น ซึ่งผู้เขียนได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมสอน 2 วิชา ประกอบด้วยวิชา LA 3324 การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม 2 ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เวลา 13.30-16.20 น. สอนร่วมกับ Associate Prof. Paul Hsu และวิชา การออกแบบสวนสาธารณะและพื้นที่นันทนาการ ทุกวัน อังคาร พฤหัส เวลา 14.00 – 18.00 น. สอนร่วมกับ Prof. Charles Leider เรียกได้ว่าต้องเข้าชั้นเรียนทุกวัน นอกจากนี้ยังต้องบรรยายในหัวข้อ “การปฏิบัติวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมในประเทศไทย” ให้แก่นักศึกษาและคณาจารย์ และเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการอื่นๆอีกมากมาย ทางภาควิชาฯได้กรุณาจัดห้องพักอาจารย์ส่วนตัวให้แก่ผู้เขียน มีคอมพิวเตอร์พร้อมสรรพ มีปัญหาขลุกขลักอยู่บ้างเรื่องที่ใช้พิมพ์และอ่านข้อความภาษาไทยไม่ได้ (ผู้เขียนนำข้อมูลที่เป็นภาษาไทยไปด้วย) เลยต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการดาวโลดเอาจากอินเทอร์เนต ส่วนที่พักนั้นพักโรงแรมของมหาวิทยาลัยซึ่งดัดแปลงมาจากหอพักนักศึกษาเดิม มีความสะดวกสบายพอสมควร และอยู่ใกล้กับที่ทำงานเพียงแค่ช่วงระยะเดิน 5 นาทีเท่านั้น ผู้เขียนจะขอแสดงผลของการปฏิบัติงานดังต่อไปนี้
งานสอน
1. วิชา LA 3324 การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม 2
วิชานี้เป็นวิชาเอกสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม เรียนสัปดาห์ละ 3 คาบ วัน จันทร์ พุธ ศุกร์ เวลา 13.30-16.30 น. ผู้เขียนได้นำเอาโจทย์งานโครงการออกแบบโรงแรมพักตากอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ (ภาพที่ 1) ไปให้เป็นแบบฝึกหัดให้แก่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยโอคลาโฮมาสเตท ยูนิเวอร์ซิตี้
ภาพที่ 1 พื้นที่โครงการออกแบบตั้งอยู่ที่ อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่
โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ผู้เขียนได้ให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรมของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ปฏิบัติไปก่อนหน้านี้แล้ว ในวิชา ภส 333 การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม 3 โดยผู้เขียนได้นำตัวอย่างการวิเคราะห์ข้อมูลและผลงานออกแบบไปแสดงให้นักศึกษาที่สหรัฐอเมริกาชม นอกจากนี้ยังได้ให้ข้อมูลค้นคว้าเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมไทย และพืชสวนประดับของไทย ทดลองให้นักศึกษาทำงานเป็นกลุ่ม เนื่องจากเวลาที่มีอยู่จำกัด เมื่อเปรียบเทียบการผลการปฏิบัติงานระหว่างนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนักศึกษามหาวิทยาลัยโอคลาโฮมาสเตท ยูนิเวอร์ซิตี้ พบข้อสรุปดังแสดงในตารางต่อไปนี้
ตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบผลการปฏิบัติงานในโครงการออกแบบวางผังโรงแรมพักตากอากาศ ระหว่างนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนักศึกษามหาวิทยาลัยโอคลาโฮมาสเตท ยูนิเวอร์ซิตี้
หัวข้อในการเปรียบเทียบ
|
นักศึกษา ม. แม่โจ้
|
นักศึกษา OSU
|
1. ลักษณะการทำงาน
|
กำหนดให้ทำงานส่วนบุคคล
|
กำหนดให้ทำงานเป็นทีม
|
2. ระยะเวลาในการทำงาน
|
2 เดือน(โดยต้องเก็บข้อมูลพื้นฐานเองทั้งหมด) กำหนดส่งแบบร่างสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
|
1 เดือน (โดยมีข้อมูลพื้นฐานให้) กำหนดส่งแบบร่างสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
|
3. การตรวจแบบร่าง
|
ตรวจแบบร่างไม่สม่ำเสมอ
|
ตรวจแบบร่างไม่สม่ำเสมอ
|
4. การให้คะแนน
|
ให้คะแนนในตอนท้ายเลย
|
ให้คะแนนในตอนท้ายเลย
|
5. งานวางผัง
|
ต้องปรับปรุง
|
ทำได้ดี
|
6. งานออกแบบรายละเอียด
|
ทำได้ดี
|
ต้องปรับปรุง
|
7. งาน Graphic Design
|
ทำได้ดีพอใช้ ใช้เทคนิคการวาดภาพด้วยมือ แต่ไม่สมบูรณ์ (ภาพที่ 2)
|
ต้องปรับปรุง ใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์ (ภาพที่ 3)
|
8. วินัยและการตรงต่อเวลา
|
ต้องปรับปรุง
|
ทำได้ดีพอใช้
|
ภาพที่ 2 ผลงานออกแบบของนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้
ภาพที่ 2 ผลงานออกแบบของนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้
ภาพที่ 3 ผลงานออกแบบของนักศึกษามหาวิทยาลัย OSU
จากผลการปฏิบัติงานสรุปได้ว่า เนื่องจากระยะเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้นักศึกษาไม่สามารถแสดงศักยภาพในการออกแบบในรายละเอียดได้อย่างเต็มที่ แต่การทำงานเป็นทีม และการกำหนดส่งแบบร่างบ่อย (ภาพที่ 4-5) ทำให้สามารถทำงานวางผังได้ดี และเสร็จงานในเวลาที่กำหนด ซึ่งสามารถนำเอากระบวนวิธีการเรียนการสอนบางอย่าง มาปรับใช้ เพื่อลดจุดอ่อนของการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้
ภาพที่ 4 การตรวจแบบร่างระหว่างการเรียน
ภาพที่ 4 การตรวจแบบร่างระหว่างการเรียน
ภาพที่ 5 การตรวจแบบร่างระหว่างการเรียน
2. วิชาการออกแบบสวนสาธารณะและพื้นที่นันทนาการ
วิชานี้เป็นวิชาเอกสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 และ 5 สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรมอาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชาคือ Prof. Charles Leider ซึ่งเป็นอาจารย์หัวหน้าสาขาภูมิสถาปัตยกรรม ได้ออกโจทย์งานปฏิบัติจริง และเป็นงานประกวดแบบของสมาคมภูมิสถาปนิกของสหรัฐอเมริกา โดยให้นักศึกษาออกแบบวางผังโครงข่ายสวนสาธารณะและพื้นที่นันทนาการในเมืองขนาดเล็กประกอบด้วย เมือง Guymon , Duran และ Paul Valley ที่อยู่ใกล้เคียงกับเมือง Still Water ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย นักศึกษาทำงานเป็นกลุ่ม เดินทางไปศึกษาสถานที่จริง พบและพูดคุยกับคนในพื้นที่ และเจ้าหน้าของรัฐที่มีส่วนรับผิดชอบ จากนั้นจึงทำการออกแบบวางผังแม่บท ไปจนถึงวางผังในรายละเอียด และในตอนท้ายจะต้องแสดงผลงานให้เจ้าหน้าที่ของภาครัฐเจ้าของสถานที่รวมถึงภูมิสถาปนิก และผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ติชมวิจารณ์ผลงาน (ภาพที่ 6-7)
ภาพที่ 6 นักศึกษานำเสนองานขั้นแบบร่าง
ภาพที่ 7 นักศึกษานำเสนองานขั้นสุดท้าย
ในวิชานี้ผู้เขียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจแบบร่างระหว่างการปฏิบัติงาน รวมทั้งเป็นกรรมการตรวจงานขั้นสุดท้ายร่วมกับอาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชนท่านอื่นๆ วิชานี้มีเนื้อหาการเรียนการสอนบางส่วนใกล้เคียงกับหลายๆวิชา ของภาควิชาภูมิทัศน์ แต่ในที่นี้ผู้เขียนจะขอเปรียบเทียบกับ วิชา ภส 435 การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม 5 ซึ่งผู้เขียนได้มีส่วนร่วมในการสอนอยู่ ซึ่งนักศึกษาจะต้องเรียนรู้การออกแบบวางผังพื้นที่สาธารณะในเมือง มีลักษณะการเรียนการสอนที่คล้ายคลึงกันดังนี้
ตารางที่ 2 แสดงการเปรียบเทียบผลการปฏิบัติงานในการออกแบบวางผังโครงข่ายพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะในเขตเมือง ระหว่างนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนักศึกษามหาวิทยาลัยโอคลาโฮมาสเตท ยูนิเวอร์ซิตี้
หัวข้อในการเปรียบเทียบ
|
นักศึกษา ม. แม่โจ้
|
นักศึกษา OSU
|
1. ลักษณะการทำงาน
|
งานวางผังแม่บททำเป็นกลุ่ม งานออกแบบสวนสาธารณะทำงานเดี่ยว
|
งานวางผังแม่บททำเป็นกลุ่มงานออกแบบสวนสาธารณะทำงานเดี่ยว
|
2. ระยะเวลาในการทำงาน
|
2 เดือน(โดยต้องเก็บข้อมูลพื้นฐานเองทั้งหมด) กำหนดส่งแบบร่างสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
|
2 เดือน (โดยต้องเก็บข้อมูลพื้นฐานเองทั้งหมด) กำหนดส่งแบบร่างสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
|
3. การตรวจแบบร่าง
|
ตรวจแบบร่างสม่ำเสมอคณาจารย์เป็นผู้ตรวจ
|
ตรวจแบบร่างสม่ำเสมอ เชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วม
|
4. การให้คะแนน
|
ให้คะแนนในตอนท้ายเลย
|
ให้คะแนนตามลำดับขั้นตอน
|
5. งานวางผัง
|
ทำได้ดี
|
ทำได้ดี
|
6. งานออกแบบรายละเอียด
|
ทำได้ดี
|
ทำได้ดีปานกลาง
|
7. งาน Graphic Design
|
ทำได้ดี ใช้เทคนิคการวาดภาพด้วยมือ
|
ต้องปรับปรุง ใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์
|
8. วินัยและการตรงต่อเวลา
|
ทำได้ดีพอใช้
|
ทำได้ดีพอใช้
|
จะเห็นได้ว่า การทำงานผสมผสานทั้งกลุ่มและทำงานส่วนบุคคล ส่งผลดีต่อวินัยในการปฏิบัติงานของนักศึกษา นอกจากนี้ การแบ่งการให้คะแนนตามลำดับขั้นตอนจะช่วยให้นักศึกษาเอาใจใส่ในการตรวจแบบร่างมากขึ้น การเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมาร่วม ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้บรรยากาศที่ใกล้เคียงกับการปฏิบัติงานจริงมากที่สุด ส่วนงาน Graphic Design เห็นว่านักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้มีศักยภาพสูงอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องเรียนรู้การนำเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ให้มากขึ้น
งานบรรยาย
- การบรรยายในหัวข้อ “การปฏิบัติวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมในประเทศไทย” ผู้เขียนได้จัดเตรียมงานนำเสนอในรูปแบบเวบเพจ และจัดเตรียมเอกสารแจกสำหรับผู้ฟังการบรรยายจำนวน 100 ชุด สำหรับการบรรยาย 2 ครั้ง ต่อไปนี้
- ครั้งที่ 1 บรรยายในวิชาสัมมนาของนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาพืชสวน (ภาพที่ 8) ในวันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2548 เวลา 15.30-17.00 น. มีนักศึกษาและคณาจารย์ภาควิชาพืชสวนเข้าร่วมประมาณ 10 คน เนื่องจากเป็นการบรรยายครั้งแรก ผู้เขียนใช้เวลาในการบรรยายนานเกินไป (1 ชั่วโมง 40 นาที) ผู้ฟังส่วนใหญ่สนใจปัญหาระดับประเทศ เช่น ผลของ การเปิดเสรีทางการค้าที่จะมีต่อการปฏิบัติวิชาชีพในประเทศไทย เป็นต้น
- ครั้งที่ 2 บรรยายพิเศษให้นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 3 4 และ 5 รวมทั้งคณาจารย์ในสาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ (ภาพที่ 9) รวมทั้งสิ้นประมาณ 85 คน ในวันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2548 เวลา 13.30-14.30 น. ในคราวนี้ผู้เขียนพยายามรักษาเวลาในการบรรยาย (50 นาที) ทำให้ไม่สามารถแสดงเนื้อหาในรายละเอียดได้ ในขณะที่พบว่านักศึกษาส่วนใหญ่สนใจข้อมูลในรายละเอียด เช่น รายชื่อพรรณไม้ที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรม เป็นต้น
- การบรรยายในหัวข้อ “โครงการแลกเปลี่ยนทางด้านวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยโอคลาโฮมาสเตท ยูนิเวอร์ซิตี้”
ผู้เขียนได้เดินทางร่วมกับ Associate Prof. Paul Hsu ไปร่วมงานประชุมของสโมสรโรตารีแห่งรัฐโอคลาโฮมา (ภาพที่ 10) ที่เมืองโอคลาโฮมา ซิตี้ ซึ่งอยู่ห่างจากเมือง สตีลวอเตอร์ ในช่วงระยะเวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง ในวันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2548 ทั้งนี้เนื่องจากหน่วยงานภาคเอกชนแห่งนี้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนเงินบริจาคส่วนหนึ่งในการเดินทางของผู้เขียนในครั้งนี้ โดยผ่านการบริจาคของ Associate Prof. Paul Hsu ในการประชุมคราวนี้ผู้เขียนจึงจัดเตรียมงานนำเสนอสั้นๆในรูปแบบ Powerpoint ใช้เวลาในการนำเสนอเพียง 10 นาที เกี่ยวกับกิจกรรมด้านการศึกษาที่ผู้เขียนได้เข้ามามีส่วนร่วมที่สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้พบปะสนทนากับทีมตัวแทนสโมสรโรตารีจากประเทศไทย (ภาพที่ 11) ซึ่งเดินทางมาร่วมกิจกรรมและบรรยายในวันนี้ด้วย
ภาพที่ 8 บรรยายในวิชาสัมมนาระดับปริญญาโท
ภาพที่ 9 บรรยายให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี
ภาพที่ 10 บรรยากาศการประชุม
ภาพที่ 11 พบปะกับตัวแทนสโมสรโรตารีจากประเทศไทย
กิจกรรมช่วงสัปดาห์ภูมิสถาปัตยกรรม
อยู่ในช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2548 เป็นช่วงที่ทางภาควิชาฯ ได้จัดกิจกรรมที่น่าสนใจหลายอย่าง ซึ่งผู้เขียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมดังนี้
- เข้าฟังและเสนอความคิดเห็น ในการนำเสนองาน Resume & Portfolio ของนักศึกษาชั้นปีที่ 5 ซึ่งกำลังจะจบการศึกษา ผู้เข้าฟังการนำเสนอส่วนใหญ่เป็นภูมิสถาปนิกอาชีพ (ภาพที่ 12)
- เข้าฟังและเสนอความคิดเห็น ในการนำเสนองานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัล ASLA merit Award ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 และ 5
- รับประทานอาหารกลางวัน ฟังการบรรยายของภูมิสถาปนิกจากนิวยอร์ค (ภาพที่ 14) ฟังการบรรยายกิจกรรมฝึกงานต่างประเทศโดยตัวแทนนักศึกษา (ภาพที่ 15)
- เข้าร่วมเป็นกรรมการวิจารณ์งาน ร่วมกับคณาจารย์และภูมิสถาปนิกมืออาชีพ ในการสัมมนากึ่งปฏิบัติการของนักศึกษาชั้นปีที่ 4-5 (ภาพที่ 16-17) ในการออกแบบงานภูมิสถาปัตยกรรม โครงการปรับปรุงอาคารคอกม้าโบราณ ให้กลายเป็นหอจัดงานเอนกประสงค์
ภาพที่ 12 นักศึกษานำเสนองาน Resume & Portfolio
ภาพที่ 13 นักศึกษานำเสนองานที่ได้รางวัล ASLA merit Award
ภาพที่ 14 ฟังการบรรยายของภูมิสถาปนิกจากนิวยอร์ค
ภาพที่ 15 ตัวแทนนักศึกษาบรรยายกิจกรรมฝึกงานต่างประเทศ
ภาพที่ 16 การสัมมนากึ่งปฏิบัติการของนักศึกษา
ภาพที่ 17 เข้าร่วมเป็นกรรมการวิจารณ์งาน
กิจกรรมด้านสังคม
การแลกเปลี่ยนความคิดกับคณาจารย์ภาควิชาภาควิชาพืชสวนและภูมิสถาปัตยกรรม คณะวิทยาศาสตร์การเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยโอคลาโฮมาสเตท ยูนิเวอร์ซิตี้ ได้ประโยชน์ในหลายด้านกล่าวคือ ผู้เขียนได้พูดคุยเบื้องต้นทั้งในระดับอาจารย์ประจำวิชา ระดับหัวหน้าสาขาวิชาและระดับคณะ ว่าจะดำเนินกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางการศึกษานี้ต่อไป ส่วนในรายละเอียดนั้น ขึ้นอยู่กับความเห็นจากการหารือในที่ประชุมของภาควิชาภูมิทัศน์ คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นอกจากนี้ยังได้แลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องภูมิสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม สังคม การเมือง และเรื่องทั่วไป (ภาพที่ 18-19) นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้ได้ศึกษารูปแบบการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชา Landscape Contracting ซึ่งสามารถนำบางส่วนมาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงหลักสูตรของสาขาวิชาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ได้ ส่วนในด้านกิจกรรมพบปะกับนักเรียนไทยในมหาวิทยาลัยโอคลาโฮมาสเตท ยูนิเวอร์ซิตี้ นั้น ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเลี้ยงฉลองการได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น ของท่านอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนปัจจุบันอีกด้วย
ภาพที่ 18 งานเลี้ยงรับรองที่ทางภาควิชาจัดให้
ภาพที่ 19 งานสังสรรค์ที่บ้านของ Prof. Dale M. Maronek
ในการเดินทางของข้าพเจ้าในครั้งนี้แม้ว่าจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็นับว่าได้ช่วยให้ข้าพเจ้าได้พัฒนาตัวเองในด้านวิชาการในระดับนานาชาติ อันเป็นโอกาสพิเศษที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่ง ต้องขอขอบคุณอย่างสูงต่อผู้ที่เป็นต้นกำเนิดของโครงการนี้ นั่นคือ Associate Prof. Paul Hsu ท่านอาจารย์โสภณ มงคลวัจน์ และ Ms. Diana Jantakad และขอบคุณแหล่งเงินทุนสนับสนุนทุกแหล่งประกอบด้วยภาควิชาภูมิทัศน์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กองทุนวิชาการคณะผลิตกรรมการเกษตร สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สโมสรโรตารีแห่งรัฐโอคลาโฮมา และมหาวิทยาลัยโอคลาโฮมาสเตท ยูนิเวอร์ซิตี้ แน่นอนอย่างยิ่งว่าประสพการณ์และความรู้ที่ผู้เขียนได้รับ ย่อมจะอำนวยดอกผลอันเป็นประโยชน์ในการพัฒนาภาควิชาภูมิทัศน์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ต่อไปในอนาคต