เนื่องจากข้อมูลอาคาร สามารถแสดงได้ในรูปแบบข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อให้สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาเป็นระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการและสนับสนุนการตัดสิน จึงได้มีการศึกษาแนวคิดทฤษฏีที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบ GIS เชื่อมโยงกับระบบอาคารสถานที่ ได้แก่ แนวคิดเกี่ยวกับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) การพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ผ่านอินเตอร์เน็ต (Internet GIS) โดยสรุปพอสังเขป ดังนี้
1. แนวคิดเกี่ยวกับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS)
เป็นกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเชิงพื้นที่ ที่มีความสัมพันธ์ข้อมูลกับตำแหน่งในแผนที่ ทำให้สามารถแสดงในรุปของข้อมูลในรูปแบบภาพแผนที่ เชื่อมโยงกับตารางข้อมูล หรือที่เรียกว่า ข้อมูลเชิงบรรยายได้ พร้อมกัน จึงมีประโยชน์ในการวิเคราะห์แลตอบคำถามที่สัมพันธ์กับพื้นที่ ได้แก่ อยู่ที่ไหน ช่วงเวลาใดมีอะไรเปลียนแปลงไปบ้าง เป็นต้น (สมพร สง่าวงค์, 2541) ซึ่งองค์ประกอบของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ มี 5 ส่วนคือ เครื่องมือที่ใช้ในการนำเข้าข้อมูล ซอฟต์แวร์ สำหรับการจัดการข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ขั้นตอนการทำงาน ข้อมูลที่ใช้ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และผู้ปฏิบัติงานทางด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ (สุเพชร จิรขจรกุล, 2549) โดย ศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย (2549) ได้เพิ่มองค์ประกอบด้านเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการแลกเปลี่ยนข้อมูล
ประเภทข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ มี 2 ส่วน คือ ข้อมูลบอกตำแหน่ง (Spatial data) และข้อมูลบอกคุณลักษณะหรือข้อมูลเชิงบรรยาย (Attribute Data) แสดงเป็นตารางข้อมูล (Table) โดยทั้ง 2 ส่วน จะเชื่อมโยงกันทำให้ผู้ใช้ข้อมูลสามารถค้นหาตำแหน่งพิกัดในแผนที่ ที่สามารถอ้างอิงตำแหน่งที่มีอยู่จริงบนพื้นโลกได้ (ศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย , 2549) ข้อมูลเชิงพื้นที่ มี 2 รูปแบบ คือ ข้อมูลแบบเวกเตอร์ (Vector) ที่แสดงตำแหน่งภูมิศาสตร์ด้วยสัญลักษณ์ 3 กลุ่ม ได้แก่ จุด (Point) แสดงตำแหน่งที่ตั้งเฉพาะเจาะจง เส้น (Arc) แสดงึความยาวใน 1 มิติ และ พื้นที่ (Polygon) แสดงเป็นขอบเขตพื้นทีรูปปิด และ ข้อมูลแบบแรสเตอร์ (Raster format) เช่น ข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม
ESRI (1998) ได้กำหนดรูปแบบข้อมูลเชิงพื้นที่ของ Shape File จะมีไฟล์หลัก 3 ไฟล์ คือ
- Main file (.shp) เป็นไฟล์หลัก เก็บข้อมูลแสดงลักษณะทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ Point Are Polygon ไว้
- dBase file (.dbf) เป็นไฟล์ข้อมูลเชิงบรรยาย ในลักษณะตารางข้อมูล
- index file (.shx) เป็นไฟล์เชื่อมโยงข้อมูลเชิงพื้นที่และข้อมูลเชิงบรรยาย นั่นคือไฟล์ .shp และ .pdf
2. การพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ผ่านอินเตอร์เน็ต (Internet GIS) (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), 2560) ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
- Client คือ ผู้ใช้บริการ ซึ่งในเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้บริการต้องมี Web browser
- Server คือ ผู้ให้บริการ ซึ่งในเครื่องแม่ข่าย จะต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแสดงผลข้อมูลเชิงพื้นที่ผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น ArcIMS Minnesota หรือ Mapserver เป็นต้น
โปรแกรมภูมิสารสนเทศผ่านอินเทอร์เน็ต ที่ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า รหัสเปิด (Open source) ได้แก่
- Linux/ Fedora core 4/ Apache / IIS เป็นระบบปฏิบัติการที่เป็นเว็บเซิร์ฟเวอร์
- PostgreSQL 8.0.3 เป็นระบบจัดการฐานข้อมูลเชิงวัตถุสัมพันธ์
- Minnesota Mapserver 4.6.0 เป็นโปรแกรมที่ใช้กำหนดการแสดงข้อมูลเชิงพื้นที่ผ่านอินเทอร์เน็ต
- ภาษาใช้ในการพัฒนาโปรแกรมบนฝั่งเซิร์ฟเวอร์
- HTML / Java Script เป็นภาษาที่ใช้ในการสร้างเว็บเพจ หรือแสดงผลข้อมูลในฝั่งลูกข่าย
จากการศึกษาค้นคว้า จึงสรุปได้ว่า การพัฒนาระบบ GIS เชื่อมโยงกับระบบอาคารสถานที่ จะเชื่อมโยงด้วยข้อมูลในตาราง Attribute Data นามสกุล .dbf โดยการนำรหัสอาคารกำหนดไว้ในแต่ละตำแหน่งของข้อมูลใน Spatial data นามสกุล .shp โดยมี index file (.shx) เป็นไฟล์เชื่อมโยงข้อมูลเชิงพื้นที่และข้อมูลเชิงบรรยาย โดยการแสดงผล จะใช้หลักการแสดงข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ผ่านอินเตอร์เน็ต (Internet GIS) 2 องค์ประกอบ ที่ต้องมี
เอกสารอ้างอิง
-
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน). (2560). ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ผ่านอินเตอร์เน็ต. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://learn.gistda.or.th/2017/04/03/ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์/ (5 กันยายน 2567).
-
ศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย. (2549). Introduction to GIS. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.gisthai.org/download/Intro_GIS.pdf (5 กันยายน 2567).
-
สมพร สง่าวงศ์. (2545). หลักการระบบสารสนเทศเบื้องต้น. เชียงใหม่.
-
สุเพชร จิรขจรกุล. (2549). ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และการใช้โปรแกรม ArcGIS Desktop เวอร์ชั่น 9.1. นนทบุรี: บริษัท เอส.อาร์พริ้นติ้งแมสโปรดักส์จํากัด.
- ESRI. (1998). ESRI Shapefile Technical Description An ESRI White Paper—July 1998. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.esri.com/content/dam/esrisites/sitecore-archive/Files/Pdfs/library/whitepapers/pdfs/shapefile.pdf (20 สิงหาคม 2567).