ในช่วงวันที่ 7-9 เมษายน 2564 มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์โครงการยกระดับคุณภาพบริการของธุรกิจท่องเที่ยวในภาคเหนือด้วยวิธี SERVICE DESIGN (กลุ่มอาหาร) SERVICE DESIGN THINKING Boot Camp Vol.1 จัดโดย CEA และ iGTC สามารถสรุปผลลัพธ์การเรียนรู้พอสังเขป ได้ดังนี้
- รู้เรา (Contextual Analysis) :
กิจกรรม “สะท้อนภาพตัวตน (Self Reflection) ด้วยการถ่ายทอดภาพตัวเรา “Self Portrait” เพื่อ “เคารพ (Self Respect)” และเข้าใจในฐานทุนทุกมิติของตนเอง มุ่งสร้าง Self Response รู้ตัวเรา รักตัวเรา เพื่อสร้าง “ตัวตน” ค้นหา Find Your WHY หรือปณิธานสูงสุดในการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับการพัฒนาธุรกิจที่จะพาเราไปในพื้นที่ชีวิต พร้อมเปิดพรมแดนการเรียนรู้ใหม่ (Circle of Competence) ทำการรวบรวมชุดข้อมูลขีดความสามารถของบุคคลในการพัฒนาพื้นที่เป้าหมายด้วยวิธีการประเมินตนเอง (Self Assessment) โดยการวัดผลการปฏิบัติงาน (Importance Performance Analysis: IPA) เพื่อประเมินช่องว่าง (gap analysis) ด้วยวิธีการจัดลำดับความสำคัญ 2 ตัวแปร ได้แก่ ความสำคัญ (importance) และ ความสามารถ (performance) บนฐานทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในพื้นที่เป้าหมายของธุรกิจ สร้าง Purpose Built Services เมื่อออกแบบอย่างไร้จุดหมาย ผลงานการออกแบบนั้นก็จะไม่มีความหมายตั้งแต่แบบร่าง
- รู้รอบ (Scenario Analysis) :
สืบค้นข้อมูลด้วยเทคนิค 3Ss ได้แก่ “กวาด (scan) กรอง (scope) เก็บ (store)” สัญญาณสิ่งเร้าจากสถานการณ์ภายนอกที่คาดว่าจะมีอิทธิพล หรือเป็นปัจจัยขับดัน (driving forces) เร่งรัดให้เกิดภาพอนาคต (future images) ด้วยตารางวิเคราะห์แนวโน้ม (Trends Matrix) เพื่อวิเคราะห์สภาวะแวดล้อม และจับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะส่งกระทบต่อการพัฒนาขับเคลื่อนธุรกิจบริการ ตลอดจนแสวงหาปัจจัยพลิกผัน (key uncertainties) ที่มีผลต่อการพลิกโฉมสถานการณ์ และฉากทัศน์บริการในอนาคต (Service Scenario) สร้างสรรค์บริการให้ไหลลื่นไปกับการเปลี่ยนแปลง และเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนไปภายใต้สภาวะไม่ปกติ
- รู้ลึก (User Analysis) :
มุ่งเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งานผ่านการสำรวจข้อมูลการวิจัยผู้ใช้งาน (User Research) โดยจัดเก็บข้อมูลดิบ (Raw Data) รวมถึงข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์และตีความหมายข้อมูล (Interpreted Data) ด้วยเครื่องมือการวิจัยบริบท (Contextual Research) ในมิติของห่วงโซ่การบริโภค (Consumption Chain) ด้วยการวิเคราะห์ความสัมพันธ์สายโซ่วิธีการ-เป้าหมายการบริโภค (Mean-End Chain Method) การศึกษาในขั้นตอนนี้มุ่งเน้นให้ผู้ช่วยนักวิจัย และทีมงานจัดเก็บข้อมูลภาคสนาม รู้จักเครื่องมือการศึกษาผู้ใช้งานผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้งาน (User Analysis) เข้าใจกระบวนการ (Design Process) และเครื่องมือการออกแบบประสบการณ์ (Experience Design)
- รู้เขา (Business Analysis) :
ค้นหาคุณค่าที่ลูกค้ามองหา เข้าใจความหมาย เข้าถึงความสำคัญ และความจำเป็น ของการรังสรรค์ “คุณค่า” เพื่อสร้าง “มูลค่า” โดยทำการสังเคราะห์คุณลักษณะของลูกค้า (Customer Profile) มองหาโอกาสใหม่ในการนำเสนอวิธีการ หรือ กระบวนการแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าอย่างสร้างสรรค์บนฐานของระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับการเกื้อกูลสินค้าหรือบริการใหม่ที่ได้รับการออกแบบสร้างสรรค์ (Minimum Viable Ecosystem: MVE) ดำเนินการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งกำหนดเป็นร่างกรอบข้อเสนอเชิงคุณค่า (Value Proposition) และนำไปพัฒนาข้อกำหนดสำหรับการออกแบบ (Design Brief) เพื่อผลิตเป็นต้นแบบสินค้าหรือบริการในอนาคต (Minimum Viable Product/Service: MVP/MVS)