สบายใจในวันสงกรานต์
วันที่เขียน 15/4/2554 10:35:08     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 8/10/2567 7:20:31
เปิดอ่าน: 9177 ครั้ง

เพื่อเป็นศิริมงคลที่ดีในวันมหาสงกรานต์ของปี 2554 นี้ ผู้เขียนได้พาคุณพ่อมาถวายสังฆทานที่สำนักวิปัสสนาเกษตรใหม่ธรรมธราราม จีงเป็นที่มาของธรรมเทศนาอันเป็นบุญใหญ่ของครอบครัวในวันมหาสงกรานต์ ซึ่งเห็นควรที่จะได้บันทึกไว้เพื่อเป็นการเผยแผ่บุญนี้ไปให้ถ้วนทั่วกัน

สบายใจในวันสงกรานต์


จากบทสนธนาธรรมกับ พระอาจารย์พัฒน์  สำนักวิปัสสนาเกษตรใหม่ธรรมธราราม จังหวัดเชียงใหม่ 

วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

 


บันทึกโดยโดย อาจารย์จรัสพิมพ์  บุญญานันต์


 

          เช้าวันสงกรานต์  ตื่นมาพร้อมกับลมหนาวที่ยังหลงเหลือเชื้อพัดเอื่อยๆชวนให้นอนต่อ  ตามมาด้วยสายฝนที่กระหน่ำเทลงมาตอนสายๆ  เปียกปอนขนาดนี้ ใครจะออกจากบ้านไปทำไมนิ  แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่กุลธิดาเพื่อศิริมงคลที่ดีในวันปีใหม่  ผู้เขียนจึงได้ดั้นด้นพาคุณพ่อมาถวายสังฆทานที่สำนักวิปัสสนาเกษตรใหม่ธรรมธราราม   ขออนุญาตเรียกว่าวัดก็แล้วกัน เรียกสำนักรู้สึกไม่คุ้นชิน

          กว่าจะไปถึงวัดตอนสายๆฝนก็ซาแล้ว  ไม่พบใครซักคน  มีแต่น้องหมาหน้าตาคุ้นเคยออกมาต้อนรับ  ดูเหมือนน้องหมาที่นี่จะมีสุขภาพดีขึ้นกว่าเมื่อครั้งมาเที่ยวที่แล้ว  ตัวที่เคยมีแต่หนังเปล่าๆเปลือยสีเทาๆ มาบัดนี้ก็มีขนสีขาวๆชี้ๆขึ้นกระจายหรอมแหรมไปทั่วทั้งตัว  สถานที่ของวัดค่อนข้างกว้างขว้าง  ถนนสะอาดสะอ้าน  ต้นไม้ป่าปลูกสูงชะลูดถูกฝนชะใบสีเขียวอ่อนไปทั้งป่า แลดูสดชื่น  เลยเดินวนไปเดินมา 2 รอบ ก็พบพระภิกษุรูปหนึ่งท่านเดินออกมาจากบริเวณกุฎิเล็กๆ ที่ตั้งเรียงรายอยู่ในป่าด้านหลัง  ท่านแจ้งให้ทราบว่าท่านเจ้าอาวาสไม่อยู่  รับกิจนิมนต์ไปวัดวิเวกวนาราม ด้วยเหตุที่เขากำลังทำบุญล้างป่าช้ากัน  พอนิมนต์ขอให้ท่านรับสังฆทาน ท่านก็ชี้บอกให้ไปรอที่โรงฉันด้านหน้าวัด  ท่านจะไปตามพระอาจารย์มาให้   ผู้เขียนกับคุณพ่อจึงไปนั่งรอที่โรงฉัน  คุณแม่ชีท่านหนึ่งแจ้งว่าท่านเจ้าอาวาสกำลังเดินทางกลับมา   ขณะนั้นพระอาจารย์ (ภายหลังทราบว่าชื่อ พัฒน์ ถ้าสะกดชื่อผิดก็กราบขออภัยด้วยค่ะ)  ซึ่งถูกพระรูปแรกตามมาก็ได้กรุณามานั่งรออยู่ด้วย  และในโอกาสนี้ท่านจึงได้ชวนสนทนาธรรม  จีงเป็นที่มาของธรรมเทศนาอันเป็นบุญใหญ่ของครอบครัวในวันมหาสงกรานต์  ซึ่งเห็นควรที่จะได้บันทึกไว้เพื่อเป็นการเผยแผ่บุญนี้ไปให้ถ้วนทั่วกัน  และขอกราบเรียนให้ทราบบวกกับขออภัยว่าอาจขาดตกบกร่องไปบ้างเนื่องด้วยเป็นการบันทึกจากความจำซึ่งกระพร่องกระแพร่งเต็มทน  อีกประการหนึ่งคือคุณพ่อจะไม่ค่อยพูดเพราะท่านเป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง  มีอาการของโรคอัมพฤกษ์อัมพาต  จะนึกคำพูดไม่ออกค่ะ

พระอาจารย์:    มาทำบุญกันนี่ก็ดี  โยมได้ทำบุญกันบ่อยไหม

คุณพ่อ:           ....................... ไม่

ผู้เขียน:          ทำบ้างค่ะ  จะทำบุญวันเทศกาล เช่น วัน มาฆบูชา วันวิสาขบูชา  แต่วันพระจะไม่ได้ทำค่ะ

พระอาจารย์:    โยมได้ทำบุญทุกวันเทศกาลบุญใหญ่  แต่ไม่ได้ทำบุญทุกวันพระ ไม่เป็นไร  ขอให้ทำเมื่อเรามีเวลาว่าง  มีความสบายกาย สบายใจ นั้นแหละจึงเป็นบุญ  บุญคือเมื่อเราทำไปแล้ว  เรารู้สึกปิติในใจ  ทุกครั้งที่เราหวนระลึกถึงบุญนั้นเราก็รู้สึกอิ่มใจ ภูมิใจ  นี่จึงเรียกว่าบุญแท้ๆ  บางครั้งสิ่งที่เราทำไปแล้ว  แต่ก็ไม่ได้เก็บมาคิด  ไม่ได้นึกถึง  ก็เป็นแต่การทำความดี  ไม่ใช่บุญ  ยกตัวอย่างเช่น  ถ้าคุณพ่อนี่ซื้อเสื้อผ้าให้ลูก  แต่เขาไม่ใส่  นี่คุณพ่อจะรู้สึกอย่างไร

คุณพ่อ:           ......

พระอาจารย์:    บุญนั้นเป็นสิ่งที่จะติดตัวเรา  ถึงแม้ว่ากายเราจะแตกดับไปแล้ว  แต่บุญนี้จะติดตัวเราไป ในภพชาติหน้า  โดยติดไปกับจิต  อย่างที่เราสงสัยว่าทำไมคนนั้นคนนี้ถึงได้เป็นนายกรัฐมนตรี  เป็นโน่นเป็นนี่  นั่นเป็นผลของบุญที่ติดตัวมา  สั่งสมมา บางคนอาจจะมีกรรมติดตัวมาบ้าง  แต่ผลของบุญจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้  เหมือนกับน้ำในแก้วนี่  หากมีปริมาณน้ำมากๆ เมื่อเราใส่เกลือลงไป  มันก็จะเจือจางลง  แต่ถ้าถามว่าแล้วมันเค็มไหม มันก็เค็ม แต่ว่าน้อย  ต่อเมื่อน้ำระเหยแห้งไปนั่นแหละความเค็มจึงจะปรากฎชัดขึ้น

โยมได้ฟังเทศ ฟังธรรมบ้างหรือเปล่า 

คุณพ่อ:           ......................ฟังของ....วัดป่าบ้านตาด

ผู้เขียน:          คุณพ่อฟังวิทยุทุกๆเช้า  ตั้งแต่ตี  5  ประมาณ  1  ชั่วโมง  เป็นของวัดป่าบ้านตาด  มีสวดมนต์ด้วยค่ะ

พระอาจารย์:    อ้อ..ของหลวงตา (มหาบัว)  นี่แหละเป็นการเอาธรรมะมาไว้ในบ้าน  สมัยนี้มีอุปกรณ์ต่างๆที่ช่วยเราได้  แม้ว่าเราจะไม่ได้มาวัด  แต่ก็สามารถเอาธรรมมะมาไว้ในบ้านได้  แบบที่เขาเรียกว่า ธรรมะอยู่ในใจ  เราเชิญธรรมมะ  เชิญพระมาไว้ในใจของเรา  บางคนนี่แม้ว่านอนหน้าหิ้งพระแท้ๆยังไม่มีโอกาสกราบพระเลย  อาตมาได้เดินทางไปตามที่ต่างๆ  บางคนเขามาถามอาตมาว่า  เขานอนอยู่หน้าหิ้งพระเลย  แต่ทำไมผียังมาหลอกได้  ที่ผีหลอกนั้นไม่ได้หลอกคน  แต่เป็นวิญญาณของเรา  ตอนนั้นกายเราหลับไปแล้ว  เหลือแต่วิญญานที่มาเจอกัน  ถ้าเรามีพระอยู่ในใจ  ไม่ว่าวิญญาณเราจะไปทางไหนก็มีพระอยู่ตรงนั้น  ผีเจอเข้าก็หลีกทางหมด

โยมพ่อนั่งสมาธิบ้างหรือเปล่า

คุณพ่อ:          นั่งไม่ได้ (ชี้ไปที่เป็นร่างกายที่อัมพาต)

ผู้เขียน:          คุณพ่อเป็นอัมพาตครึ่งซีกค่ะ

พระอาจารย์:    โยมพ่อเข้าใจผิดแล้ว  การทำสมาธิ ไม่สำคัญว่าเราจะต้องนั่งอย่างเดียว  เราจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ได้  ขอให้ดูลมหายใจของตัวเอา  หายใจเข้า  หายใจออก  คอยดูไป  หายใจออกเป็นสมาธิ  หายใจเข้าเป็นวิปัสสนา  เพราะมันจะทำให้รู้สึกตัว และมีสติ  หายใจโล่งๆ  สบายๆ  ให้เป็นธรรมชาติ  (ท่านทำท่าทางประกอบ)  ถ้าเราฝืนธรรมชาติ  มันจะรู้สึกหนักไปหมด  หลัง ไหล่นี่  จะหนักไปหมด  เราจะทำตอนไหนก็ได้  จะอยู่ในอิริยาบถใดก็ได้  จะลืมตาหรือหลับตาก็ได้  ตอนนี้ก็ทำได้  หายใจเข้า  หายใจออก  หายใจเข้า  หายใจออก  ตามลมหายใจ  จนรู้สึกเหมือนหลับไป  บางทีก็จะเกิดนิมิต

ผู้เขียน:          ดิฉันเองก็เคยนั่งสมาธิมาก่อน  นานมาแล้ว  ตอนนี้ไม่ได้นั่งแล้วค่ะ  แต่ไม่เคยเกิดนิมิตเลย  ได้ถึงแค่สมาธิเท่านั้นเอง

หลวงพี่:         เป็นยังไงที่ว่าเกิดสมาธิ

ผู้เขียน:          ก็รู้สึกสงบ  นิ่ง  เป็นสมาธิ  แต่ไม่เกิดนิมิตอะไร  บางครั้งรู้สึกว่ามันสว่างๆ (คือมันไม่มืด) แต่ก็รู้ว่ามันเป็นธรรมชาติ  ไม่ใช่นิมิต

หลวงพี่:          อืม..นั่นแหละ  มันเป็นธรรมชาติ  นั่นแหละ

          ขณะนั้นท่านเจ้าอาวาสพระครูสังฆรักษ์ วิเลน วิโรจน์ (ทองเชื้อ) กลับมาพอดี  ก็เลยต้องหยุดการสนทนาธรรมไว้แต่เพียงเท่านั้น  คุณพ่อและข้าพเจ้าได้ทำบุญถวายสังฆทาน  และสนทนากับท่านทั้งสองครู่หนึ่งจึงขอตัวกลับ  และรู้ปิติในใจเมื่อย้อนนึกถึงเหตุการณ์ในวันนี้..อืม..แบบนี้เอง  ที่เขาเรียกว่า “ทำบุญ แล้วได้บุญ”

 

*************************************************************

หมายเหตุ  - ภาพประกอบนี้ไม่ใช่ภาพที่สำนักวิปัสสนานะคะ เป็นภาพถ่ายบนดอยกาดผีที่ จ.เชียงราย พอดีดูแล้วสวยสงบดี เลยเอามาลง สถานที่จริงๆอยู่ใกล้ๆ มหาวิทยาลัยแม่โจ้บนที่ราบ ห่างออกไปแค่ 2 กิโลเมตรค่ะ

              - เนื้อหาที่สนทนากันจริงๆ มีมากกว่านี้ค่ะ มานึกได้ในภายหลัง เป็นเรื่องเกี่ยวกับวัตรปฎิบัติของพระ อุบาสก และอุบาสิกาที่มาปฏิบัติธรรมในสำนักแห่งนี้ แต่มาทบทวน คิดว่าถ้าเพิ่มอาจจะยาว และเห็นว่าไม่ใช่ใจความสำคัญเลยไม่ได้เพิ่มลงไปค่ะ

ความคิดเห็นทั้งหมด (4)
ดอกกล้วยไม้     วันที่เขียน : 25/4/2554 0:00:00

สาธุ  ดีมากเลย  เคยมาปฏิบัติธรรมที่นี่ 3 วันค่ะ

เกษม     วันที่เขียน : 19/4/2554 0:00:00

ดีมากเลยครับ ถ้ามีอีกช่วยเป็นทานกับทุกคนด้วย ขอบคุณ

จรัสพิมพ์ บุญญานันต์     วันที่เขียน : 15/4/2554 0:00:00

สาธุ _/\_ 

^___^

สุวรรณ เลียงหิรัญถาวร     วันที่เขียน : 15/4/2554 0:00:00

สาธุ

ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ ^^

รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา
เก็บมาคิด...เก็บมาเขียน » พักกาย-พักใจ ให้สงบ...เติมพลังให้ชีวิต
การดำเนินชีวิตในยุคศตวรราที่ 21 ต้องมีสติรู้เท่าทันสังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป การทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้คนเรามีสติรู้เท่าทันพร้อมทั้งมีจิตใจที่เข้มแข็...
เข้าพรรษา  คณะผลิตกรรมการเกษตร  ปาณิศา คงสมจิตต์  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ศตวรรษที่ 21  ห้องสมุด     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา
ผู้เขียน ปาณิศา วงค์ใส  วันที่เขียน 11/8/2559 16:25:41  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 7/10/2567 11:30:03   เปิดอ่าน 4398  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
เรื่องนี้ต้องแบ่งปัน » ภูมิปัญญาบรรพบุรุษจากกลองหลวงล้านนาไทย
บทความเรื่อง"ภูมิปัญญาบรรพบุรุษจากกลองหลวงล้านนาไทย"มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมส่งเสริมในด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยบทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารแม่โจ้ปร...
กลองหลวงล้านนา  ภูมิปัญญา  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ศิลปวัฒนธรรม  ห้องสมุดคณะผลิตกรรมการเกษตร     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา
ผู้เขียน ปาณิศา วงค์ใส  วันที่เขียน 7/9/2558 15:37:43  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 7/10/2567 11:29:48   เปิดอ่าน 4463  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
เรื่องนี้ต้องแบ่งปัน » ชีวิตยังงดงาม...ด้วยเส้นทางแห่งแรงบุญ
"ชีวิตยังงดงาม...ด้วยเส้นทางแห่งแรงบุญ" เป็นการเล่าเรื่องประกอบภาพที่ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปพร้อมกับบุคลากรของคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เนื่องในกิจกรรมถวายเทียนพรรษา ประจำปี 255...
คณะผลิตกรรมการเกษตร  ถวายเทียนพรรษา  วัดพระเจ้าหลวง(ม่อนพระเจ้าหลาย)  ห้องสมุด     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา
ผู้เขียน ปาณิศา วงค์ใส  วันที่เขียน 30/7/2558 15:05:27  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 7/10/2567 8:21:54   เปิดอ่าน 4577  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง