ข้าพเจ้า นางสาวยุพเยาว์ คบพิมาย ตำแหน่งอาจารย์ สังกัด สาขาพันธุศาสตร์ ขอนำเสนอรายงานสรุปเนื้อหาและการนำไปใช้ประโยชน์จากการเข้าร่วมประชุมวิชาการเกษตรอินทรีย์ระดับนานาชาติ ประจำปี 2559 (International Organic Symposium 2016) เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ณ ห้องข้าวหอมมะลิ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ตามหนังสืออนุญาตเลขที่ ศธ 0523.4.9.1/036 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559ดังนั้นจึงขอนำเสนอสรุปเนื้อหาและการนำไปใช้ประโยชน์ของการประชุมวิชาการดังต่อไปนี้
จากการเข้าร่วมประชุมข้าพเจ้าได้ทราบสาเหตุที่ต้องมีการปฏิรูปการทำเกษตรจากการใช้สารเคมีมาเป็นการผลิตแบบอินทรีย์ เพราะปัจจุบันมีการปนเปื้อนของสารเคมีในอาหารและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลจากการทำการเกษตรเคมีจำนวนมาก และมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค เช่น ทำให้เป็นมะเร็ง นอกจากประเทศไทยที่ตระหนักเรื่องเกษตรอินทรีย์ ประเทศอื่นๆ ที่ใกล้เคียงก็มีการศึกษาและทำการเกษตรอินทรีย์เช่นเดียวกัน สามารถสรุปข้อมูลด้านเกษตรอินทรีย์และสถานการณ์การทำเกษตรอินทรีย์ในประเทศต่างๆ ในเอเชีย ดังนี้
1. มาตรฐานเกษตรอินทรีย์นานาชาติ จะต้องมีการตรวจสอบกระบวนการปลูก การผลิต การจัดจำหน่าย ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิต สุขภาพผู้บริโภค ดิน สภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ดีต่อสุขภาพ การเกษตรอินทรีย์ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นธรรมในการค้าระหว่างเกษตรกร แรงงาน ผู้จัดจำหน่ายและผู้บริโภค เพื่อให้ทุกคนได้ผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีผลผลิตเกษตรที่ดี รายได้เหมาะสม
2. มหาวิทยาลัยแม่โจ้มีสถาบันไอคิวเอส (IQS : The Institute of Product Quality and Standardization) หรือ สถาบันบริการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานวิสาหกิจภายใต้การกำกับของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้จัดตั้งโครงการออกานิกส์แลนด์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อินทรีย์ตั้งแต่ต้นน้ำคือการผลิตไปถึงปลายน้ำคือการรับรองมาตรฐาน และการตลาดในระดับนานาชาติ อย่างครบวงจร เช่น ความร่วมมือกับบริษัทสุขะเฮ้าส์ ประเทศไทย จำกัด ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตข้าวอินทรีย์คุณภาพดีภายใต้การควบคุมของไอคิวเอส และส่งขายแก่ผู้บริโภค
3. ประเทศจีนพบว่าดินมีการปนเปื้อนโลหะหนักมากกว่ามาตรฐานทางภาคใต้และภาคตะวันตกเฉียงใต้ รวมถึงในเขตเหมืองแร่ ดังนั้นการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ควรมีการศึกษาภูมิศาสตร์รวมถึงคุณภาพอากาศ น้ำ และดินด้วย
4. การเลี้ยงผึ้งแบบดั้งเดิมมีความใกล้เคียงกับการเลี้ยงผึ้งแบบอินทรีย์ ดังนั้นสามารถพัฒนาไปสู่การผลิตผึ้งอินทรีย์ได้ โดยรังผึ้งต้องผลิตจากวัสดุธรรมชาติ ปลอดสารพิษและเชื้อต่างๆ ผึ้งควรได้รับอาหารอินทรีย์ พื้นที่อาหารไม่ควรเป็นพื้นที่เสี่ยงการติดเชื้อและมลพิษ
5. การปลูกข้าวในกัมพูชามีการปลูกแบบดั้งเดิมที่ไม่ใช้สารเคมี แต่ก็มีข้าวไม่มากนักที่ได้รับการรับรองว่าเป็นอินทรีย์ ในปี 2003 องค์กรต่างๆ ได้ส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์ ข้าวอินทรีย์ที่นิยมปลูกคือข้าวหอมเนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาดและมีราคาสูง และจากนั้นเป็นต้นมาการผลิตข้าวอินทรีย์ก็มีปริมาณมากขึ้น โดยในปี 2010 ผลิตข้าวอินทรีย์ได้ทั้งหมด 1000 ตัน แต่ก็เป็นเพียงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับตลาดข้าวทั้งหมด ชาวนาในกัมพูชาได้รวมตัวกันผลิตข้าวอินทรีย์ในรูปแบบสหกรณ์ เช่น สหกรณ์กรสตางเสน สหกรณ์ทาแปงระสี สหกรณ์นิตาเพชร และสหกรณ์ซอเชง เป็นต้น
6. ประเทศญี่ปุ่นได้มีการสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์โดยในปี 2006 ได้กำหนดการเกษตรอินทรีย์เป็นนโยบายแห่งชาติ อย่างไรก็ตามจำนวนครอบครัวเกษตรกรที่ทำการเกษตรอินทรีย์ของประเทศญี่ปุ่นมีเพียงร้อยละ 0.5 จากจำนวน 2,530,000 กว่าครัวเรือน และอัตราส่วนของการกระจายตัวในพื้นที่เกษตรอินทรีย์คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของพื้นที่ทั้งหมด อีกหนึ่งปัญหาที่พบคือเกษตรอินทรีย์ให้ผลผลิตน้อยกว่าการเกษตรที่ใช้สารเคมีร่วมด้วย
นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยคากาวาได้ศึกษาการเลี้ยงไก่ไข่แบบอินทรีย์ โดยใช้ถ่านไม้และน้ำส้มควันไม้ พบว่าการใช้ถ่านไม้ 4 ส่วนต่อน้ำส้มควันไม้ 1 ส่วน ผสมในอาหารไก่อัตราร้อยละ 1 จะทำให้การดูดซึมของลำไส้ดีขึ้น มีการเพิ่มขึ้นของเยื่อหุ้มไข่ ความหนาแน่นของไฟเบอร์เปลือกไข่ ไข่จะหนา ทำให้สามารถเก็บรักษาไข่ให้สดได้นานขึ้น ถ่านไม้ที่จะนำมาใช้ต้องถูกอบที่อุณหภูมิ 370 องศาเซลเซียส นาน 2 สัปดาห์ สารที่มีประโยชน์ที่อยู่ในถ่านไม้จึงจะไม่ถูกทำลาย และน้ำส้มควันไม้จะต้องถูกเก็บไว้เป็นเวลา 3 เดือน จึงจะแยกเป็น 3 ชั้น และจะถูกนำมาใช้เฉพาะส่วนกลางเท่านั้น
7. ที่ประเทศไต้หวัน ได้เริ่มโครงการเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ปี 1986 โดยรัฐบาลได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการทางด้านการเกษตรของมหาวิทยาลัยจงชิง และในปัจจุบันภาคเอกชนเป็นผู้ให้การรับรองพืชที่ผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ในมหาวิทยาลัยจงชิงมีการเปิดหลักสูตรเพื่อสอนทางด้านเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะหลายหลักสูตรได้แก่ เกษตรยั่งยืน การทำฟาร์มอย่างยั่งยืน การจัดการฟาร์มอินทรีย์ การจัดการธุรกิจเกษตรอินทรีย์ นโยบายการเกษตรอินทรีย์ สภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา การจัดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทางด้านการท่องเที่ยวท้องถิ่น
ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติผิงตง ได้มีการศึกษาผลไม้พันธุ์ใหม่ให้เหมาะสมกับการปลูกในสภาพอินทรีย์ พบว่าผลไม้หลายชนิดสามารถปลูกในสภาพอินทรีย์ได้ดี เช่น Abiu และแก้วมังกร แต่ต้องมีการจัดการที่เหมาะสม รวมทั้งการควบคุมการผลิตเพื่อป้องกันการล้นตลาดในอนาคต
8. ประเทศภูฏาน ได้ให้การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่ และรัฐบาลได้ประกาศว่าภูฏานจะต้องเป็นประเทศเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดภายในปี 2020 ตามนโยบาย Organic Agriculture (OA) และ Gross National Happiness (GHN) อย่างไรก็ตามยังมีความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนอาหาร และความมั่นคงของชาติโดยรัฐบาลเกรงว่าหากมีการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มรูปแบบแล้ว ศัตรูพืชและโรคต่างๆ จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น และประเทศขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากพื้นที่ของประเทศจำกัด รัฐบาลได้สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชที่มีราคาสูง
เนื่องจากประเทศภูฏานมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญทางด้านเกษตรอินทรีย์เพียง 2 คน เท่านั้น ดังนั้นจึงมีการบรรจุวิชาเกษตรอินทรีย์จำนวน 12 หน่วยกิต อยู่ในทุกหลักสูตรของวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาการเกษตร และ College of Natural Resources, Royal University of Bhutan จะเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาการเกษตรอินทรีย์ขึ้นในปี 2017
9. ประเทศอินโดนีเชีย มีการปลูกข้าวอินทรีย์อย่างเป็นระบบ โดยรัฐบาลได้สนับสนุนปศุสัตว์ และมีการจัดการเพื่อรองรับปัจจัยการผลิตของชาวนาได้แก่ ปุ๋ยอินทรีย์และยากำจัดแมลงอินทรีย์ โดยได้วัตถุดิบมาจากมูลปศุสัตว์และการจากการแปรรูปมะพร้าว มีการควบคุมการเพาะปลูกอย่างมีมาตรฐานตั้งแต่การจัดการพื้นที่ การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวและหลังการเก็บเกี่ยว และมีการแปรรูปสินค้าเกษตร โดยได้มีการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยและมีมาตรฐานที่เหมาะสม ระบบการตลาดคอยสนับสนุนให้ผลผลิตได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในราคาที่สามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาวนาผู้ดูแลระบบชลประทานควบคุมดูแลไม่ให้น้ำมีสิ่งปนเปื้อน การปลูกข้าวอินทรีย์นั้นเพื่อบริโภคทั้งภายในและส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง
10. ประเทศเวียดนาม ในปัจจุบันสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น ฮานอย โฮจิมิน สินค้าที่สำคัญได้แก่ ชา ผัก เครื่องเทศ น้ำมันหอมระเหย นอกจากบริโภคในประเทศแล้วยังมีการส่งสินค้าเกษตรอินทรีย์ออกไปยังต่างประเทศด้วย แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังไม่ให้นโยบายในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างเด่นชัด
11. ประเทศพม่า เกษตรกรพม่าได้มีการตื่นตัวในการทำเกษตรอินทรีย์ และได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน เช่น สมาคมและบริษัทต่างๆ สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญได้แก่ ผัก ผลไม้ พืชสมุนไพร ข้าว ขิง ข่า อย่างไรก็ตามอุปสรรคในการทำเกษตรอินทรีย์คือ มีความต้องการน้อย และมีการทำเกษตรอินทรีย์น้อย การเข้าถึงตลาด เทคโนโลยี การควบคุมแมลงและโรค นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการรับรองสูง มหาวิทยาลัยหลักที่สอนและสิ่งเสริมการเกษตรอินทรีย์คือ มหาวิทยาลัยเยซิน
12. ประเทศลาว วิทยาลัยเกษตรและป่าไม้ภาคเหนือได้จัดตั้งฟาร์มออแกนิกส์สาธิต ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 โดยมีแผนการทำงานแบบครบวงจรตั้งแต่ทำการผลิต แปรรูปและส่งออก ซึ่งทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้วิธีทำเกษตรอินทรีย์โดยการลงมือปฏิบัติจริงและครอบคลุมทุกขั้นตอน
13. ประเทศมาเลเซีย การทำเกษตรอินทรีย์ในมาเลเซียได้เริ่มขึ้นในปี 1986 โดยองค์กรเอกชนที่เรียกว่าศูนย์สิ่งแวดล้อมเทคโนโลยีและการพัฒนา แต่ไม่ได้รับความสนใจมากนัก จากนั้นรัฐบาลจึงจัดตั้ง Malaysia Organic Certification Program ในปี 2003 โดยการดำเนินการของ Department of Agriculture ซึ่งได้มีการฝึกอบรมและจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบฟาร์มต่างๆ จากการสำรวจในปี 2001 ถึง 2015 พบว่าจำนวนฟาร์มและพื้นที่ในการทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2015 มีจำนวนฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับรองมาตรฐานถึง 164 ฟาร์ม ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ทั้งหมด 1795.21 เฮกเตอร์ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ ดังนั้นจึงมีการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์จากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น และราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์สูงกว่าสินค้าทั่วไปถึง 3 เท่า
ปัญหาของเกษตรอินทรีย์ในมาเลเซียคือการขาดแรงงานและค่าแรงสูง ขาดการส่งเสริมและการฝึกอบรม เพื่อให้เกษตรอินทรีย์ประสบความสำเร็จมาเลเซียต้องจัดการองค์ความรู้และทรัพยากรทางด้านการวิจัยและพัฒนาเกษตรอินทรีย์
ความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมประชุมวิชาการในครั้งนี้จะถูกนำไปใช้ประกอบการวิจัยเพื่อศึกษายีนที่ทำให้พืชมีลักษณะที่ดี และเหมาะสมต่อการปลูกในสภาพอินทรีย์ เช่น ให้ผลผลิตมากแต่ต้องการปุ๋ยน้อย หรือต้านทานต่อโรคและแมลงต่างๆ เป็นต้น เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการพัฒนาการเกษตรแบบอินทรีย์