พื้นฐาน...ใครว่าไม่สำคัญ
วันที่เขียน 24/4/2557 10:27:33     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 24/11/2567 5:12:13
เปิดอ่าน: 4991 ครั้ง

การวางพื้นฐานในการฝึกอ่านเบื้องต้นเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถอ่านออกและเขียนได้

 

พื้นฐาน....ใครว่าไม่สำคัญ

ผู้เขียน : ปาณิศา  คงสมจิตต์

นักเอกสารสนเทศ : ห้องสมุดคณะผลิตกรรมการเกษตร

 

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้มีสื่อมวลชนหลายสื่อได้ออกมาพูดและกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกรณีที่มีเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 ยังอ่านหนังสือไม่ออกและเขียนไม่ได้เป็นจำนวนมากรวมทั้งพบว่ามีเด็กที่อ่านเขียนไม่คล่องและต้องปรับปรุงอีกมากกว่า 200,000 คน ทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องรีบแก้ไขปัญหานี้และมีแนวทางที่จะนำหนังสือแบบเรียนภาษาไทยแบบเรียนเร็วใหม่ฝึกสะกดคำภาษาไทยในยุคของหลวงดรุณกิจวิทูร( ชด  เมนะโพธิ) และนายฉันท์  ขำวิไล  ที่ได้ร่วมกันแต่งเมื่อปี พ.ศ.2477 กลับมาใช้ใหม่

 

   โดยแนวทางนี้นัยว่าเป็นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับเด็กอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่คล่อง ซึ่งเป้าหมายจะอยู่ในช่วงชั้นที่ 1 คือระดับ ป.1 – ป.3 เริ่มตั้งแต่เด็กที่เรียนอยู่ในชั้น ป.1 อยู่แล้วให้ฝึกเรียนแบบสะกดคำ  ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือเด็กที่เรียนพ้น ป.1 ไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถอ่านหนังสือได้  ก็สามารถใช้แบบเรียนดังกล่าวเข้าไปแก้ปัญหาได้  เด็กก็จะสามารถอ่านเขียนได้คล่องขึ้น  ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะจัดส่งแบบเรียนเร็วใหม่นี้ไปให้กับทางโรงเรียนที่สมัครใจต้องการใช้  ซึ่งในเบื้องต้นนี้อยู่ในระหว่างการจัดพิมพ์เพียง 600,000 เล่ม และจะแจกให้ทันในภาคเรียนแรกของปีการศึกษา 2557

 

  มีนักวิชาการหลายท่าน ออกมาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนกับแนวทางแก้ปัญหานี้   เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันโรงเรียนเน้นสอนแบบให้เด็กท่องจำเป็นคำๆ ทำให้เมื่อเจอศัพท์ใหม่ เด็กไม่สามารถอ่านประโยคนั้นได้  สอดคล้องกับทรรศนะของผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการศึกษาที่ออกมาให้ข้อมูลว่า  การเรียนแบบแจกลูกสะกดคำเป็นรากฐานที่สำคัญของการเรียนภาษาไทย ต้นเหตุที่ทำให้การเรียนการสอนภาษาไทยผิดเพี้ยนไป  อาจเป็นเพราะมีนักวิชาการยุคสมัยหนึ่งที่จบมาจากต่างประเทศนำวิธีการเรียนแบบจำเป็นคำๆ  มาใช้กับการสอนภาษาไทย  ทำการสอนแบบเร่งรัดมากเกินไป  เด็กไม่ได้เริ่มจากการฝึกเขียน  ฝึกอ่านสะกดคำ  หรือฝึกผันวรรณยุกต์แบบออกเสียง  จึงทำให้เด็กอ่านหนังสือได้ไม่แตกฉานและเขียนหนังสือไม่ถูกต้อง ซึ่งถ้าหากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะนำหนังสือแบบเรียนเร็วใหม่กลับมาใช้ก็จะทำให้เด็กเรียนรู้การสะกดคำได้อย่างถูกต้อง  เมื่อไปเจอศัพท์ยากขึ้นก็จะไม่มีปัญหา

 

แม้กระทั่งในโลกของโซเชียลมีเดียหรือสังคมออนไลน์  คนร่วมยุคสมัยอย่างเช่นบุคคลที่มีนามว่าป้าเสลาก็ได้แสดงความเห็นว่า “ ป้าเสลาก็อยากให้กระทรวงศึกษาฯ นำหนังสือแบบเรียนรุ่นนี้มาสอนเด็กๆ อีกจังเลย เพราะรู้สึกว่าการเรียนภาษาไทยสมัยก่อนจะสร้างฐานความรู้ทางภาษาได้แน่นดี”

 

เมื่อย้อนกลับไปยังยุคสมัยที่ผู้เขียนยังเป็นเด็ก  ก็ยังเคยได้ใช้แบบเรียนภาษาไทยแบบเรียนเร็วใหม่ของหลวงดรุณกิจวิทูร( ชด  เมนะโพธิ) และนายฉันท์  ขำวิไล  ในการฝึกอ่าน เป็นหนังสือแบบเรียนที่ฝึกให้ผู้เรียนได้ฝึกอ่านแบบแจกลูกสะกดคำ (ซึ่งใครที่อยากเห็นตัวอย่างหรือหน้าตาของหนังสือที่ว่านี้ก็เปิดเข้าไปดูทางอินเทอร์เน็ตได้) พิมพ์เป็นตัวอักษรด้วยตัวหนาสีดำตัวโต  อ่านง่าย ผู้เขียนชอบหยิบมาอ่านบ่อยๆ  เพราะมีเรื่องชวนให้อ่าน จากคำและประโยคที่ผูกเป็นเรื่องราว เข้าใจง่าย อ่านเมื่อไรก็ไม่เคยเบื่อ  ยังจดจำได้ขึ้นใจ  อาทิเช่น...

“ อีกาตาดี   ปะปู   อีกาดูปู   บิดาปะอีกาดูปู   บิดาดูอีกา ”

“ ป้าปะปู่   กู้อีจู้   ป้าดูปู่กู้อีจู้ ”

“ เด็กชายใหม่   รักหมู่   เป็นเด็กดี   ตื่นนอนแต่เช้าๆ ทุกวัน.....”

“ เมืองไทย   ใหญ่อุดม   ดินดีสม   เป็นนาสวน....”          ฯลฯ

 

ผู้เขียนจำได้ว่า  เป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิตที่ทำให้ผู้เขียนสามารถอ่านหนังสือได้  อ่านทุกวัน  อ่านจนคล่อง  และอ่านจนจบเล่ม  เมื่อจบเล่มแรกแล้วก็ทำให้อยากอ่านเล่มอื่นๆ อีก จนทำให้ติดเป็นนิสัยรักการอ่านโดยไม่รู้ตัวและชอบที่จะขีดๆ เขียนๆ และอ่านเพื่อจะเรียนรู้เป็นการเพิ่มประสบการณ์ในสิ่งที่ตนเองไม่เคยไปพบไปเห็น  จากสิ่งนั้น....ส่งเป็นผลให้เกื้อกูลและมีประโยชน์กับหน้าที่การงานที่ทำมาจนถึงเวลานี้ ทั้งการ(เคย)เป็นครูสอนภาษาไทย  พิธีกร  นักเขียน   หรือแม้กระทั่งการเป็นนักจัดรายการวิทยุที่ต้องผ่านกระบวนการทดสอบจนได้รับบัตรผู้ประกาศจากกรมประชาสัมพันธ์ ( นับว่าหินมาก  สอบถึงสามครั้งกว่าจะได้บัตรนี้มา )

 

ในช่วงท้ายนี้  ผู้เขียนอยากจะชี้ให้เห็นว่า  พื้นฐานการฝึกอ่านภาษาไทยเบื้องต้นในช่วงวัยเด็กนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะจะสืบเนื่องไปในภายภาคหน้า  ซึ่งเมื่อมีพื้นฐานการอ่านที่ดี  อ่านได้เป็น  อ่านได้คล่อง  ก็จะส่งผลให้มีการเขียนที่ดีและถูกต้องได้ด้วย  โดยจากเสี้ยวหนึ่งของชีวิตในด้านที่ประสบกับความสำเร็จ  ทำให้ผู้เขียนไม่อาจละเลยในการที่จะระลึกถึงและกราบขอบพระคุณให้กับแบบเรียนเร็วของหลวงดรุณกิจวิทูร( ชด  เมนะโพธิ) ที่แต่งร่วมกับนายฉันท์  ขำวิไล นี้ได้   นับว่าเป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิต  ที่ทำให้ผู้เขียนเป็นคนรักการอ่าน  รักที่จะเรียนรู้  อย่างไม่มีวันสิ้นสุด...ขอขอบคุณและคารวะด้วยหัวใจ Innocent......

 

*แหล่งอ้างอิง

- หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน : ฟื้นแบบเรียน “ก.กา” แก้เด็กอ่านไม่ออก,  หน้า 6 , ฉบับวันที่ 23  เมษายน 2557.   

 - www.att.in.th/index.php?op=dynamiccontent_detail&dynamiccontent_id=9112  (ออนไลน์:สืบค้นเมื่อ      22 เมษายน 2557)

- www.arunsawat.com/board/index.php?topic=2899.50 (ออนไลน์ : สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2557)

ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : การศึกษา การเรียนการสอน
การอบรมและสัมมนา » link smart home cabling system technology for the future
เนื้อหาการอบรม link smart home cabling system technology for the future จะเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับความหมายของเครือข่ายและข่ายสายสัญญาณ รูปแบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Network Topology) องค์ประกอบพื้น...
เครือข่ายและข่ายสายสัญญาณ  ช่องทางการติดต่อสื่อสารในระบบโทรคมนาคม  ประเภทของสายสัญญาณและ connector  รูปแบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์  เส้นใยนำแสง  องค์ประกอบพื้นฐานในการสื่อสารข้อมูล     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   การศึกษา การเรียนการสอน
ผู้เขียน ภานุวัฒน์ เมฆะ  วันที่เขียน 10/7/2567 9:56:15  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 15:56:15   เปิดอ่าน 267  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
ผลงานวิจัย » เทคนิคการเขียนบทความทางวิชาการฯ
ในการเขียนบทความ ควรเริ่มจากการทำแผนที่บทความเพื่อแบ่งสัดส่วนของหัวข้อของบทความข้างต้นตามเกณฑ์วารสารที่กำหนดจะทำให้การเขียนง่ายขึ้น สามารถใช้ ChatGPT ช่วยในการเขียนตามหัวข้อที่กำหนดได้ง่ายขึ้น
  บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   การศึกษา การเรียนการสอน
ผู้เขียน หนึ่งหทัย ชัยอาภร  วันที่เขียน 4/3/2567 10:46:23  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 23/11/2567 15:59:52   เปิดอ่าน 621  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง