การศึกษาไทยในเวทีประชาคมอาเชียน
ประเทศไทยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ได้กำหนดแนวทางการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐและทุกภาคส่วนไว้แล้วอย่างครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะในส่วนของราชการ ทางสำนักงาน ก.พ. ได้วางแนวทางการพัฒนาข้าราชการสู่ประชาคมอาเซียนไว้เช่นกัน โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง ซึ่งช่วงที่ 1 ปี 2554 จะเป็นการสร้างความตระหนัก และตื่นตัว ช่วงที่ 2 ปี 2555-2556 สร้างความพร้อมทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก และช่วงที่ 3 ปี 2557-2558 เน้นพัฒนาความรู้ ทักษะและสมรรถนะที่เข้มข้นขึ้นในทุกระดับ
ปี พ.ศ. 2558 อีก 3 ปีที่การจัดตั้ง ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) จะต้องเกิดขึ้น ตามที่ผู้นำชาติอาเซียนได้เคยลงนามร่วมกันไว้ในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือกัน เพื่อจัดตั้งประชาคมอาเซียน ด้วยเหตุผลสำคัญที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มอำนาจต่อรองเพื่อให้อาเซียนที่มีประชากรรวมกันกว่า 550 ล้านคน มีความสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นได้ในโลกโลกาภิวัตน์ที่มีการแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะกับประเทศมหาอำนาจประชาคมอาเซียนจะเป็นความร่วมมือกันใน 3 เสาหลัก คือ 1. ประชาคมความมั่นคงอาเซียน ASEAN Security Com-munity หรือ ASC 2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ASEAN Economic Community หรือ AEC และ 3. ประชาคมสังคมวัฒนธรรมอาเซียน ASEAN Socio-Cultural Community หรือ ASCC
ประชาคมอาเซียน กับ การศึกษา (พ.ศ.2558)
ประชาคมอาเซียนประกอบด้วยประเทศไทย มาเลเชีย อินโดนีเซีย กัมพูชา พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียนนาม ดารุสซาลามบรูไน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก่อเกิดความร่วมมือ 3 เสาหลัก คือ ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community – ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community -ASCC) เสาหลักแต่ละด้านมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
การเมืองและความมั่นคงอาเซียน
มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ประเทศในภูมิภาคอยู่อย่างสันติสุขโดยการแก้ไขปัญหาในภูมิภาคโดยสันติวิธีและยึดมั่นในหลักความมั่นคงรอบด้าน ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนจะ
(1) ใช้ข้อตกลงและกลไกของอาเซียนที่มีอยู่แล้วในการเพิ่มศักยภาพในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทภายในภูมิภาค รวมทั้งการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น การก่อการร้ายการลักลอบค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติอื่นๆ และการขจัดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
(2) ริเริ่มกลไกใหม่ๆ ในการเสริมสร้างความมั่นคงและกำหนดรูปแบบใหม่สำหรับความร่วมมือด้านนี้ ซึ่งรวมถึงการกำหนดมาตรฐานการป้องกันการเกิดข้อพิพาท การแก้ไขข้อพิพาท และการสร้างเสริมสันติภาพภายหลังการยุติข้อพิพาท
(3) ส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล ทั้งนี้ ความร่วมมือข้างต้นจะไม่กระทบต่อความเป็นอิสระของประเทศสมาชิกในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศและความร่วมมือทางทหารกับประเทศนอกภูมิภาคและไม่นำไปสู่การสร้างพันธมิตรทางการทหาร
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความมั่นคง มั่งคั่งและสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้ โดย
(1) มุ่งให้เกิดการไหลเวียนอย่างเสรีของสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมภายในปี 2558
(2) ทำให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว (single market and production base) โดยจะริเริ่มกลไกและมาตรการใหม่ๆ ในการปฏิบัติตามข้อริเริ่มทางเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้ว
(3) ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียนเพื่อลดช่องว่างการพัฒนาและช่วยให้ประเทศเหล่านี้เข้าร่วมกระบวนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน (4) ส่งเสริมความร่วมมือในนโยบายการเงินและเศรษฐกิจมหภาค ตลาดการเงินและตลาดทุน การประกันภัยและภาษีอากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม พัฒนาความร่วมมือด้านกฎหมาย การเกษตร พลังงาน การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยการยกระดับการศึกษาและการพัฒนาฝีมือแรงงาน
ความสำคัญของการศึกษาในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนปรากฏรูปธรรมอย่างชัดเจนในปฏิญญาว่าด้วยแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียนที่ได้เน้นย้ำความสำคัญของการศึกษาซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการนำอาเซียนบรรลุวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 โดยกำหนดให้อาเซียนมีวิสัยทัศน์สู่ภายนอก มีสันติสุข และมีการเชื่อมโยงเข้าด้วยกันในการเป็นหุ้นส่วนในสิ่งแวดล้อมของประชาธิปไตยและอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน การพัฒนาที่มีพลวัตร และการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่ ใกล้ชิดและในสังคมที่ เอื้ออาทรที่ระลึกถึงสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นทางประวัติศาสตร์ตระหนักถึง ความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่ มีร่วมกันและเชื่อมโยงในอัตลักษณ์ของภูมิภาค
ในส่วนของความร่วมมือด้านการศึกษาของประชาคมอาเซียนนั้น ได้มีการลงนามในปฏิญญาชะอำ-หัวหิน โดยนายกรัฐมนตรีของไทยและผู้นำของประเทศต่างๆ ในอาเซียน ประกอบด้วยความร่วมมือใน 3 เสาหลัก คือ ประชาคมด้านการเมืองและความมั่นคง โดยใช้การศึกษาเป็นตัวนำ ประชาคมด้านเศรษฐกิจ ทุกประเทศจะต้องพัฒนาความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก และประชาคมด้านสังคมและวัฒนธรรม ให้ถือว่าความงดงามมาจากความแตกต่างและหลากหลาย วัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่ในความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้นจะช่วยสร้างความร่วมมือในลักษณะสังคมเอื้ออาทร โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ ทั้ง 3 เสาหลักส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อให้สามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จของการเป็นประชาคมอาเซียนได้ภายในปี 2558 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า
จากปฏิญญาดังกล่าว ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องเร่งแสวงหาความร่วมมือเพื่อเพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนเตรียมพร้อมเด็กไทยก้าวสู่ประชาคมอาเซียนตามเป้าหมาย โดยเฉพาะให้กลไกการศึกษาเป็นตัวนำสำคัญในการขับเคลื่อนให้สามารถก้าวไปได้อย่างมีทิศทาง ผสานประโยชน์ร่วมกัน องค์กรหลักในกระทรวง ศึกษาธิการจึงต้องเร่งเครื่องก้าวเดินอย่างไม่หยุดนิ่ง
จากการระดมความคิดในหลากหลายเวทีจากผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 เสาหลัก รวมถึงผู้บริหารการศึกษา ครูผู้สอน นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้อง พบข้อเสนอแนวทางมากมาย เช่น การให้ความรู้แก่พลเมือง ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้าน การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน และจิตสำนึกของพลเมืองอาเซียน ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมจัดกิจกรรมด้านการศึกษา สร้างเด็กให้มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานแลสถานประกอบการ การจัดหลักสูตรการศึกษาอาเซียน ด้วยการส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้าน เป็นต้น
ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เร่งพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้รู้จักวัฒนธรรม สังคม ความเป็นอยู่ของเพื่อนอีก 9 ประเทศ ที่จะสามารถก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมั่นใจ โดยการดำเนินโครงการพัฒนาประชาคมสู่อาเซียน (Spirit of ASEAN) เพื่อรองรับการรวมกลุ่มของประเทศอาเซียน ในปี 2558 เช่น โรงเรียน Buffer School เป็นโรงเรียนที่อยู่ติดชายแดนกับประเทศสมาชิกอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ ลาว พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย โรงเรียน Sister School เป็นโรงเรียนที่มีความพร้อม มีความเข้มแข็งทั้งในเรื่องของภาษาและ ICT ที่อยู่ในพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่ติดชายแดนแต่มีประสานสัมพันธ์กับอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไน เป็นต้น
สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในเรื่องของหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ระดมความคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูผู้สอน และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกำหนดกรอบแนวทางในการพัฒนาโรงเรียนเป็นการเตรียมพร้อมสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน โดยการกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของเด็กไทยที่สอดรับกับประชาคมอาเซียน การวิเคราะห์หลักสูตรในส่วนของอาเซียนศึกษา การกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้สถานศึกษาสามารถพัฒนาผู้เรียนได้อย่างมีคุณภาพและแข็งแกร่งในประชาคมอาเซียน
การพัฒนามาตรฐานการศึกษาไทยให้ก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนนั้นคงไม่เพียงพอ แต่ยังต้องพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้มีศักยภาพพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงของกระแสสังคมโลกได้อย่างมั่นใจที่สำคัญคือทุกภาคส่วนในสังคมต้องผสานความร่วมมือขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ก้าวไปสู่เวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
การจัดการศึกษาในอาเซียนเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเข้มแข็ง และความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของอาเซียนและเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การอุดมศึกษาในอาเซียนได้กลายเป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่และไร้พรมแดนเพื่อตอบสนองการเปิดเสรีการศึกษาทั้งในกรอบอาเซียนและการค้าโลก เป็นผลให้เกิดกระแสการแข่งขันในการให้บริการด้านการศึกษาการเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนามาตรฐานการศึกษาของสถาบันการอุดมศึกษาไปสู่ความเป็นนานาชาติและ World Class University ตามระบบและรูปแบบการจัดการศึกษาของยุโรปและอเมริกาทั้งในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักภาษาหนึ่งในการเรียนการสอน เช่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์มาเลเซีย และในประเทศที่ใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นหลัก เช่น ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม เพื่อตอบสนองการ เปลี่ยนแปลงและความต้องการของตลาดแรงงานในระดับชาติและภูมิภาค การปรับตัวต่อกระแสการเปิดเสรีทางการศึกษา กฏบัตรอาเซียน ฯลฯ
แนวทางดังกล่าวก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในอาเซียนและประชาคมยุโรปในลักษณะข้อตกลงที่ทำร่วมกันในระดับสถาบันต่อสถาบันทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยของภาคเอกชนในด้านการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาสถาบันและสถาบันการศึกษาร่วมกัน ในขณะเดียวกันการจัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนได้ช่วยส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาคณาจารย์ นักวิชาการ และนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทั้งระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันเองและความร่วมมือกับประเทศคู่เจราจาในอาเซียนบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่นเกาหลีจีน อินเดีย รัสเซีย และสหภาพยุโรป อีกด้วย
การศึกษาเพื่อเสริมสร้างความเป็นอาเซียน
การจัดการศึกษาทุกระดับเพื่อให้เกิดการรวมตัวของอาเซียน การจัดทำหลักสูตร เน้นกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายส่งเสริมโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนอาเซียน เช่น การจัดโครงการบ้านฉันบ้านเธอ การจัดตั้งชมรม ASEANNESS การพัฒนาครู การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยในการสอน เป็นต้น
สรุป
ความร่วมมืออาเซียนด้านการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดตั้งประชาคมอาเซียนซึ่งมีเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและการพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
สำหรับประเทศไทย ประโยชน์ที่จะได้รับในกรอบความร่วมมือกับอาเซียน ได้แก่ความช่วยเหลือด้านวิชาการ และเทคนิคภายใต้โครงการต่างๆ รวมทั้งการกำหนดนโยบายที่อาศัยการผลักดันร่วมกันภายใต้กรอบอาเซียน นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสในการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ และโอกาสที่จะมีสิทธิมีเสียงในการผลักดันนโยบายของประเทศสู่เวทีระดับนานาชาติตลอดจนโอกาสในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยในเวทีโลก ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยด้านการศึกษาเป็นไปในทิศทางที่ สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายโอกาสทางการศึกษา การยกระดับคุณภาพการศึกษา การนำโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามารองรับการขยายโอกาสและการยกระดับคุณภาพให้เป็นการศึกษาตลอดจนการบริหารจัดการทางการศึกษาในเชิงคุณภาพเพื่อสร้างประชาคมอาเซียนดินแดนแห่งความสงบสุข สันติภาพและมีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
เกษม ใคร้มา
บุคลากรชำนาญการพิเศษ