การวิจัยเรื่อง ความพร้อมในการผลิตผลงานวิชาการเพื่อขอตำแหน่งที่สูงขึ้น ของพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ สังกัดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาถึงความพร้อมในการผลิตผลงานวิชาการของพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ สังกัดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ 2) ศึกษาถึงปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อความพร้อมในการผลิตผลงานวิชาการเพื่อขอตำแหน่งที่สูงขึ้น ของพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ สังกัดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ 3) ศึกษาข้อเสนอแนะในการผลิตผลงานวิชาการของพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ สังกัดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ให้ข้อมูลในการวิจัย คือ พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ สังกัดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีคุณสมบัติในการขอตำแหน่งที่สูงขึ้น เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถามวัดความคิดเห็น วัดความพร้อมในการผลิตผลงานวิชาการเพื่อขอตำแหน่งที่สูงขึ้น และแบบสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เชิงบรรยายและเชิงปริมาณด้วยการใช้ สถิติร้อยละ ผลการวิจัยปรากฏดังต่อไปนี้ 1) พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ สังกัดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ มีความพร้อมที่จะขอตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น ในระดับปานกลาง โดยมีการวางแผน การพัฒนาตนเองด้านตำแหน่งทางวิชาการ มีความคิดที่จะทำคู่มือปฏิบัติงานเป็นอันดับแรก คิดจะทำงานวิจัย และทำผลงานเชิงวิเคราะห์หรือสังเคราะห์งานในหน้าที่ เป็นอันดับรองลงมา แต่ยังคิดว่าการจัดทำผลงานประกอบการขอตำแหน่งยังมีความยุ่งยาก และคิดว่าหลักเกณฑ์การผลิตผลงานวิชาการของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ยังมีความชัดเจนในระดับปานกลาง ความเข้าใจเกณฑ์ผ่านการประเมิน/ คุณภาพ และความสามารถผลิตผลงานวิชาการได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนดยังอยู่ในระดับปานกลาง ผู้ให้ข้อมูลที่อยู่ระหว่างการผลิตผลงานวิชาการยังมีไม่มาก ผู้ที่อยู่ในระหว่างขั้นตอนการยื่นขอตำแหน่งที่สูงขึ้นและมีความคิดจะยื่นเสนอขอตำแหน่งที่สูงขึ้นยังมีน้อย 2) ปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อความพร้อมในการผลิตผลงานวิชาการเพื่อขอตำแหน่งที่สูงขึ้น ของพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ สังกัดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 ด้าน คือ ปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านสังคม ปัจจัยด้านจิตวิทยา และปัจจัยด้านสิ่งสนับสนุน 3) พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ สังกัดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ มีข้อ เสนอแนะโดยสรุปได้ คือ มหาวิทยาลัยควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการขอตำแหน่งที่สูงขึ้นของบุคลากรสายสนับสนุนวิชาการ ควรจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ผลงานวิชาการ ควรจัดอบรมให้ความรู้ด้านการผลิตผลงานวิชาการให้กับบุคลากรอย่างต่อเนื่อง มีข้อมูลรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการ การจัดเตรียมเอกสารหรือข้อมูลที่ใช้ประกอบการจัดทำผลงานวิชาการ ควรจัดศูนย์หรือสำนักงานในการให้บริการ หรือคลินิกให้คำปรึกษาในเรื่องการผลิตผลงานวิชาการ โดยมีผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีตำแหน่งทางวิชาการในแต่ละด้านเป็นพี่เลี้ยงในการจัดทำผลงานทางวิชาการ รวมถึงคณะกรรมการประเมินผลงานวิชาการ ควรมีความเชี่ยวชาญและมาจากสายงานในการขอตำแหน่งวิชาการในแต่ละด้าน การตรวจผลงานวิชาการ ควรกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนไม่ควรนานเกินไป จะทำให้ผู้ขอผลงานเสียโอกาสหลายด้าน