ทุนการศึกษาภายใต้ความร่วมมือการประชุมความร่วมมือทางวิชาการไทย-ลาว
รัฐบาลไทยได้มอบทุนการศึกษาภายใต้ความร่วมมือการประชุมความร่วมมือทางวิชาการไทย-ลาว ให้แก่ผู้รับทุนจากประเทศ สปป.ลาว เพื่อมาศึกษาระดับปริญญาโทและเอกที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จะดำเนินการประชาสัมพันธ์ รับสมัคร และคัดเลือกผู้รับทุนรัฐบาลไทย ตามหลักสูตรที่แต่ละมหาวิทยาลัยเปิดสอน
ตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 – 2559 มีผู้รับทุนรัฐบาลไทยจาก สปป.ลาว มาศึกษาที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในหลักสูตรต่างๆ จำนวน 27 คน ระดับปริญญาเอก 1 คน และระดับปริญญาโท 26 คน โดยรัฐบาลไทยจะอนุมัติทุนให้แก่ผู้ที่ผ่านการคัดเลือก ซึ่ง กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้มีระเบียบและแนวปฏิบัติการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายผู้รับทุนรัฐบาลไทยจาก สปป.ลาว ดังนี้
1. ค่าธรรมเนียมการศึกษา โดยผู้รับทุนทำการลงทะเบียนเรียน และมหาวิทยาลัยจะดำเนินการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมฯ ไปยังกรมความร่วมมือฯ โดยขอให้มหาวิทยาลัยแนบแผนการศึกษาของนักศึกษาตลอดหลักสูตร รายละเอียดของการลงทะเบียนแต่ละภาคเรียน รวมทั้งผลการเรียนให้กรมความร่วมมือฯ ประกอบการพิจารณาเบิกจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา โดยขอให้แนบสำเนาเลขที่บัญชีของมหาวิทยาลัยทุกครั้ง และกรมความร่วมมือฯ จะโอนเงินเข้าบัญชีของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดงบประมาณที่อนุมัติ
2. การเบิกค่าใช้จ่ายผู้รับทุนจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก และค่าหนังสือ เป็นเงินเบิกจ่ายล่วงหน้า (การทำประกันชีวิตและสุขภาพ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศจะดำเนินการให้) โดยกรมความร่วมมือฯ จะขอให้มหาวิทยาลัยรวบรวมใบเสร็จรับเงินเพื่อหักล้างเงินเบิกจ่ายล่วงหน้า โดยอนุมัติค่าใช้จ่ายงวดที่ 1 (เดือนสิงหาคม – มกราคม) และงวดที่ 2 (เดือนกุมภาพันธ์ – กรกฎาคม)
2.1 การจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง ผู้รับทุนทุกคนได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงอัตราเหมาจ่ายเดือนละ 7,000 บาท โดยมหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่ในการเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงให้ผู้รับทุน ก่อนวันที่ 5 ของทุกเดือน ในกรณีผู้รับทุนจะสำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยจะยังไม่ดำเนินการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงให้ผู้รับทุนในเดือนสุดท้าย จนกว่าจะทราบกำหนดการจบที่แน่นอน และไม่กรณีที่ผู้รับทุนไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามที่กำหนด และต้องขยายทุน ต้องดำเนินการจัดทำเรื่องขยายทุนให้เสร็จสิ้นก่อน จึงจะจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเดือนสุดท้าย
2.2 การจ่ายค่าที่พัก ผู้รับทุนทุกคนได้รับค่าที่พักไม่เกินเดือนละ 7,000 บาท (เบิกจ่ายตามจริง) โดยมหาวิทยาลัยแจ้งรายชื่อหอพักในบริเวณใกล้เคียงของมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาพิจารณา ในกรณีที่เป็นที่พักของมหาวิทยาลัย ให้มหาวิทยาลัยเรียกเก็บพร้อมกับค่าธรรมเนียมการศึกษา แต่ในกรณีที่เป็นที่พักเอกชน ให้มหาวิทยาลัยรวบรวมใบเสร็จค่าที่พัก ที่มีชื่อที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของเจ้าของที่พัก ส่งให้กรมความร่วมมือระหว่างประเทศงวดที่ 1 ภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์ และงวดที่ 2 ภายในกลางเดือนสิงหาคม
2.3 ค่าหนังสือ และบริการที่เกี่ยวข้องกับ Internet ผู้รับทุนจะได้รับการสนับสนุนค่าหนังสือเหมาจ่าย ค่าบริการที่เกี่ยวข้องกับ Internet จำนวน 10,000 บาท/ปี โดยแบ่งจ่ายปีละ 2 ภาคการศึกษา ๆ ละ 5,000 บาท หากไม่มีวิชาเรียนรายวิชาในภาคการศึกษาใด มีเพียงการทำวิทยานิพนธ์เท่านั้น กรมความร่วมมือฯ จะไม่จ่ายค่าหนังสือ แต่ในกรณีที่มหาวิทยาลัยเรียกเก็บค่าหนังสือ โดยรวมกับค่าธรรมเนียมการศึกษาแล้ว กรมความร่วมมือฯ จะไม่จ่ายค่าหนังสือให้ผู้รับทุนอีก (มหาวิทยาลัยจ่ายให้ผู้รับทุนโดยตรง)
3. การขยายระยะเวลาการพำนัก ผู้รับทุนจะได้ Visa ประเภท F ซึ่งสามารถพำนักอยู่ในประเทศไทยได้ครั้งละ 2 ปี แต่ในการเดินทางเข้าประเทศไทยครั้งแรก ด่านตรวจคนเข้าเมืองจะประทับตราให้อยู่ในประเทศไทยได้ไม่เกิน 90 วัน และจะมีค่าใช้จ่ายในการทำ VISA จำนวน 2,000 บาท ซึ่งออกใบเสร็จรับเงินโดยสอท. ณ เวียงจันทร์ ขอให้มหาวิทยาลัยจ่ายเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ผู้รับทุน พร้อมทั้งส่งใบเสร็จหักล้างเงินเบิกจ่ายล่วงหน้า (ค่า VISA เบิกได้ 1 ครั้ง เมื่อเดินทางมาถึงเท่านั้น)
4. การประกันชีวิตและสุขภาพ กรมความร่วมมือฯ ประสานการจัดทำประกันชีวิตให้ผู้รับทุนเป็นรายปี ในกรณีที่ผู้รับทุนเข้ารับการรักษาพยาบาล และมีการเบิกจ่ายเกินสิทธิ์ขอให้มหาวิทยาลัยดำเนินการส่งใบเสร็จรับเงิน และใบรับรองแพทย์ ไปยังกรมความร่วมมือฯ เพื่อดำเนินการเบิกจ่ายให้ โดยมีวงเงินประกันคนละ 100,000 บาท โดยครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยด้วย ในกรณีค่ารักษาพยาบาลเกินวงเงินจากบริษัทประกันคุ้มครอง กรมความร่วมมือฯ ให้เบิกค่ารักษาพยาบาลเพิ่มได้อีกไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดหลักสูตร
5. ค่าทำวิทยานิพนธ์และเก็บข้อมูลภาคสนาม ในการเก็บข้อมูลในการทำวิทยานิพนธ์เน้นการส่งเสริมให้ผู้รับทุนเก็บข้อมูลในประเทศไทย โดยค่าใช้จ่ายในการเก็บข้อมูลภาคสนามให้เบิกจ่าย ดังนี้
5.1 ค่าพาหนะเดินทางไป-กลับ ให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง ในอัตราเทียบเท่าตำแหน่งข้าราชการพลเรียนระดับ 6 ตามพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ
5.2 ค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักในประเทศไทยไม่เกิน 1 เดือน
5.3 ค่าใช้จ่ายในการเก็บข้อมูลภาคสนามใน สปป.ลาว ทำได้ครั้งเดียว สำหรับหลักสูตรสูงกว่าปริญญาตรีให้เหมาจ่ายในอัตรา 20,000 บาท (รวมค่าเดินทางและที่พักภายใน สปป.ลาว)
5.4 ในกรณีเก็บในประเทศไทย เก็บได้ 2 ครั้ง เหมาจ่าย 20,000 บาท
5.5 ค่าใช้จ่ายจัดทำเอกสารวิทยานิพนธ์ (เข้าเล่ม/ทำปก) ให้เหมาจ่ายในอัตรา 12,000 บาท โดยให้หน่วยงานผู้จัดหรืออาจารย์ที่ปรึกษาให้การรับรองอนุมัติการทำวิทยานิพนธ์ของผู้รับทุน กรณีมหาวิทยาลัยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการจัดทำดังกล่าวแล้ว กรมความร่วมมือฯ จะไม่จ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้แก่ผู้รับทุนอีก
ค่าใช้จ่ายจัดทำเอกสารสารนิพนธ์ รายงานการค้นคว้าแบบอิสระ หรือรายงานในลักษณะที่หลักสูตรการศึกษาบังคับโดยไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์ แต่ไม่รวมถึงการจัดทำรายงานประกอบวิชาต่าง ๆ ทั่วไป ให้เหมาจ่ายในอัตรา 8,000 บาท โดยให้มหาวิทยาลัยหรืออาจารย์ที่ปรึกษาให้การรับรองอนุมัติการทำรายงานของผู้รับทุน โดยเบิกจ่ายได้เพียง 1 ครั้ง กรณีมหาวิทยาลัยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการจัดทำดังกล่าวไว้แล้ว ให้งดค่าใช้จ่ายดังกล่าวแก่ผู้รับทุน8. การกำหนดแผนการศึกษาของผู้รับทุน เมื่อผู้รับทุนพบอาจารย์ที่ปรึกษาให้หารือเพื่อจัดทำกำหนดแผนการศึกษา โดยระบุแผนการเรียน และระยะเวลาศึกษา (เริ่มต้น-สิ้นสุด) โดยมหาวิทยาลัยส่งแผนการศึกษาให้กรมความร่วมมือฯ และในกรณีที่ผู้รับทุนประสงค์จะย้ายสาขาหรือเปลี่ยนแผนการเรียน ขอให้มหาวิทยาลัยแจ้งกรมความร่วมมือฯ พร้อมทั้งระบุเหตุผลการขอเปลี่ยนสาขาหรือแผนการเรียน เพื่อแจ้งให้รัฐบาลลาวพิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้ ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลลาวก่อนจึงจะสามารถเปลี่ยนได้
6. การรายงานผลการศึกษา มหาวิทยาลัยจะต้องรายงานผลการศึกษาให้กรมความร่วมมือฯ ทราบทุกสิ้นภาคการศึกษา โดยให้รายงานพร้อมกับการขอเบิกจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา
7. การสำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยแจ้งกำหนดที่คาดว่าสำเร็จการศึกษาให้กรมความร่วมมือฯ ทราบล่วงหน้า 2 เดือน แจ้งวันเดินทางกลับล่วงหน้า 1 เดือน และยืนยันการสำเร็จการศึกษา พร้อมทั้งแนบสำเนาผลการศึกษา และส่งเล่มวิทยานิพนธ์/สารนิพนธ์ ของผู้รับทุนมาให้กรมความร่วมมือฯ คนละ 1 เล่ม โดยกรมความร่วมมือฯ แจ้งสอท.ลาว ประจำประเทศไทยทราบกำหนดการเดินทางกลับเมื่อสำเร็จการศึกษา และดำเนินการจองบัตรโดยสารเครื่องบินให้ในกรณีที่ผู้รับทุนแจ้งความประสงค์ขอเดินทางกลับโดยทางเครื่องบิน และผู้รับทุนจะได้รับค่าพาหนะเหมาจ่ายจากที่พัก – สนามบิน ตามระยะทาง หากผู้รับทุนประสงค์จะเดินทางกลับโดยทางรถไฟ จากกรุงเทพฯ – หนองคาย หรือโดยรถยนต์ จะได้รับค่าพาหนะเหมาจ่ายตามระยะทาง และผู้รับทุนจะได้รับค่าขนส่งหนังสือและอุปกรณ์ ในอัตราเหมาจ่ายคนละ 2,000 บาท (หากระยะเวลาศึกษามากกว่า 1 ปี)
กองวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานอธิการบดี เป็นหน่วยงานที่ดูแลและบริหารจัดการผู้รับทุนรัฐบาลไทยจากประเทศ สปป.ลาว โดยจะติดต่อประสานงานร่วมกับกรมความร่วมมือระวห่างประเทศ