ในงานประชุมวิชาการทางคณิตศาสตร์ประจำปี 2559 (ครั้งที่ 21) และการประชุมวิชาการคณิตศาสตร์บริสุทธิ์และประยุกต์ประจำปี 2559 นี้ ข้าพเจ้าได้รับฟังการบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่อยู่ในวงการคณิตศาสตร์หลายท่านดังนี้
ดร. พูมใจ นาคสกุล FSVP, Quantitative Models and Enterprise Analytics ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งท่านได้สร้างความมั่นใจให้กับผู้ศึกษาสาขาคณิตศาสตร์ทุกคนว่าไม่มีทางตกงาน เพราะคณิตศาสตร์ได้แทรกซึมอยู่ในทุกสาขาวิชาหรือทุกศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาเรื่องหุ้น จะต้องอาศัย Measure Theory มาช่วยในการศึกษาพฤติกรรมความแตกต่างระหว่างหุ้น 2 หุ้น ซึ่งจะทำให้ทราบถึงค่าคาดหวัง (Expectation) ในอนาคต และสามารถที่จะประมาณค่าราคาหุ้นปัจจุบัน โดยใช้แบบจำลอง Martingale และแบบจำลอง Monte Carlo เป็นต้น นอกจากนี้ได้มีการนิยามความหมายของคณิตศาสตร์ประยุกต์ (Applied Mathematics) ว่าเป็นการศึกษาปัญหาที่ใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์ไปช่วยแก้ปัญหาและนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือกล่าวได้ว่าเป็นโครงสร้างทางคณิตศาสตร์ที่สะท้อนความเป็นจริง ซึ่งท่านได้กล่าวว่า ในปัจจุบันธนาคารได้รับผู้สำเร็จการศึกษาสาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์เป็นส่วนใหญ่เพื่อเข้ามาทำงาน เพราะสาขาดังกล่าวมีความรู้ทางด้านแคลคูลัสขั้นสูง Simulation และ Probability เชิงลึก
คุณพิเชฐ เจียรมณีทวีสิน นายกสมาคมคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย ท่านได้กล่าวถึงคณิตศาสตร์ที่ได้ใช้ในสาขาคณิตศาสตร์การเงิน ได้แก่ ทฤษฎีดอกเบี้ย ความน่าจะเป็น พื้นฐานแคลคูลัส การจัดการความเสี่ยง และแบบจำลองคณิตศาสตร์ และได้กล่าวถึงบทบาทของคณิตศาสตร์ประกันภัย ได้แก่ Marketing / Product Actuary Corporate Linking Risk Modeling Actuary Reinsurance Actuary Investment Actuary Pension Actuary และ Machine Learning
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ นายกสมาคมคณิตศาสตร์ศึกษาและคณบดีศึกษาศาสตร์ ได้แนะนำแนวทางการสอนคณิตศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 โดยได้กล่าวถึงเปอร์เซ็นการรับรู้ที่ได้รับจากวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน แสดงดังรูป
ซึ่งทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 คือการสอนผ่านรายวิชาเพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะการคิด (Thinking Skill) ด้วยตนเอง
เสวนาวิชาการ เรื่อง Mathematics Solve Global Problems โดย 1) ดร. จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยสารสนเทศการสื่อสารและการคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศษสตร์และเทคโนโลยี 2) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บุรินทร์ อัศวพิภพ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3) รองศาสตราจารย์ ดร. ชัยวิทย์ อาภรณ์เทวัญ ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4) คุณภาณุ อึ้งสกุล Senior Research, WorldQuant ทุกท่านได้ร่วมกันเสวนาถึง 10 ปัญหาใหญ่ที่สุดของโลก ได้แก่
- Food security and why it matters
- Why should growth be inclusive?
- What will the world of work look like?
- Climate change: can we turn words into action?
- What's the future of global finance?
- What's the future of the internet?
- Will the future be gender equal?
- What’s the deal with global trade and investment?
- Long-term investing: how can we plug the gap?
- How can we make healthcare fit for the future?
ซึ่งวิทยากรแต่ละท่านได้ยกตัวอย่างงานวิจัยที่ได้นำวิธีการทางคณิตศาสตร์มาช่วยในการแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น การจัดทำฐานข้อมูลเพื่อค้นหาพืชที่ควรเพาะปลูกและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ให้แก่เกษตรกร เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การขาดแคลนน้ำ และการเพาะปลูกที่ไม่ตรงกับสภาพดิน โดยใช้หลักการทางคณิตศาสตร์ทางด้าน Mathematical Modeling และ Optimization นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยทางด้านการสร้างสัญญาณอินเตอร์เน็ตในอนาคต ซึ่งจะต้องอาศัยวิธีการทางคณิตศาสตร์ เช่น Discrete Fourier Transform (DFT) Mathematical Modeling และ Quantum Computation เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมฟังการนำเสนอผลงานวิชาการทางด้านคณิตศาสตร์หลายเรื่องและนำนักศึกษาของสาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เข้าร่วมนำเสนอผลงาน
ซึ่งในงานประชุมวิชาการในครั้งนี้นอกจากเป็นเวทีให้นักศึกษา คณาจารย์ และนักวิจัย ได้นำเสนอผลงานวิชาการแล้ว ยังเปิดโอกาสในการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์อันจะนำไปสู่ความร่วมมือทางวิชาการและการสร้างผลงานวิจัยเพื่อนำไปสู่เวทีระดับนานาชาติต่อไป