เมื่อวันที่ 21 - 30 พฤศจิกายน 2557 ดิฉันได้มีโอกาสไปนำเสนอผลงานทางวิชาการในงาน the 6th World Conferenceon Photovoltaic Energy Conversion (WCPEC-6) ณ ประเทศญี่ปุ่น ในหัวข้อ Mathematical Modeling for Characteristic Analysis of Input and Output Parameter of Roof Top Photovoltaic System and Residential Air Conditioning Load ซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญในเชิงวิชาการที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนี้
เนื่องจากพฤติกรรมความไม่เชิงเส้นของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และระบบปรับอากาศ ซึ่งมีตัวแปรร่วมที่เกี่ยวข้องเป็นความเข้มแสงอาทิตย์ อุณหภูมิและกำลังไฟฟ้า ดังนั้นแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ Hammerstein-Wiener จึงมีความเหมาะสมในการอธิบายพฤติกรรมของทั้งสองระบบนั้น เพื่อให้ได้รับแบบจำลองที่มีความถูกต้องแม่นยำ จึงได้มีการออกแบบและการทดลองโดยเก็บข้อมูลอินพุต และเอาท์พุต โดยระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้ในการทดสอบ มีขนาด 3 กิโลวัตต์ โดยมีอินพุตและเอาท์พุตเป็นความเข้มแสงอาทิตย์ อุณหภูมิและกำลังไฟฟ้า ตามลำดับ ในขณะเดียวกันก็ได้มีการเก็บบันทึกข้อมูลกำลังไฟฟ้า อุณหภูมิและความเข้มแสง ในสภาวะแวดล้อมของเครื่องปรับอากาศแยกส่วนขนาด 12000 BTU/h ที่ตั้งอุณหภูมิ 25 องศา ข้อมูลทั้งสองส่วนจะถูกแบ่งออกเป็น ข้อมูลการสอนและการตรวจสอบ เพื่อให้ได้รับแบบจำลองที่เหมาะสม แบบจำลองได้ถูกตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งกับเครื่องปรับอากาศชนิดเดียวกันและระบบพลังงานแสงอาทิตย์ โดยป้อนความเข้มแสงและอุณหภูมิ และเปรียบเทียบอัตราการผลิตไฟฟ้า และอัตราการบริโภคพลังงานเครื่องปรับอากาศ ผลการทดสอบพบว่า มีความถูกต้องอยู่ในระดับที่พึงพอใจ แบบจำลองที่ได้รับจะสามารถนำไปใช้หาความสัมพันธ์ ทำนายปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้า การผลิตพลังงานไฟฟ้า การออกแบบระบบพลังงานแสงอาทิตย์ให้สอดคล้องกับปริมาณการใช้โหลดไฟฟ้าต่อไป ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับต่อตนเอง ได้แก่ สามารถพัฒนางานวิจัยโดยการประยุกต์ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ได้และได้ฝึกทักษะสมรรถนะหลักความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศ และประโยชน์ที่ได้รับต่อหน่วยงาน ได้แก่ ผลงานวิจัยทางด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์ที่เป็นส่วนหนึ่งในการวิจัยของสาขาวิชาคณิตศาสตร์และเผยแพร่ในระดับนานาชาติ