กล้วยไม้ เส้นใย และลีลา
วันที่เขียน 13/1/2554 11:23:07     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 17:46:04
เปิดอ่าน: 13183 ครั้ง

เสียดายว่าปะเดี๋ยวนี้จกบ่ไหวสังขารมันบ่เอื้ออำนวยเสียแล้ว ลูกหลานมันก็บ่เอาแล้ว คงจะต้องปล่อยหื้อภูมิปัญญาบรรพบุรุษค่อยสูญสิ้นไป พร้อมกับผ้าซิ่นตีนจกผืนสุดท้ายของแม่อุ๊ยนี้แล้วหนอ

กล้วยไม้  เส้นใย  และลีลา

เรื่องโดย  อาจารย์จรัสพิมพ์  บุญญานันต์


     ตีพิมพ์ในวารสารแม่โจ้ปริทัศน์  ปีที่  7  ฉบับที่  4  ประจำเดือน  กรกฎาคม-สิงหาคม  พ.ศ. 2549   ในช่วงนั้นมหาวิทยาลัยแม่โจ้กำลังจะจัดงานนิทรรศการกล้วยไม้ครั้งใหญ่   ในงานนอกจากมีประกวดกล้วยไม้แล้วยังมีกิจกรรมประกวดการออกแบบเสื้อผ้า  ที่ผลิตจากผ้าทอพื้นเมือง  และมีการเดินแบบด้วย  ผู้เขียนได้รับมอบหมายจากกองบรรณาธิการที่เคารพ  ให้โจทย์มาให้เขียนเรื่องทั้ง  3  นี้ในบทความเดียว  โอ้...ช่างเป็นโจทย์ที่มหาหินโหด  นั่งคิดนอนคิด  กินข้าวยังคิด  ในที่สุดก็ออกมาเป็นแบบนี้ไปได้  ช่างเป็นการเขียนที่เอาแต่อำเภอใจตนเองเสียนี่กะไร  โชคดีที่กองบรรณาธิการใจดีมีเมตตา  ปล่อยให้ผ่านออกมา  เป็นงานเขียนเป็นภาษาเมืองเพียงชิ้นเดียวของผู้เขียน  ให้เขียนอีกทีก็คงทำไม่ได้แล้ว

 


(ภาพ "ฟ้อนเล็บ" วาดโดย อาจารย์จักรพันธุ์  โปษยกฤต)


เอื้องงามยามสอดเกล้า                   แซมผม

ภูษาสำอางสม                              สอดสร้อย

 ลีลาชื่นชวนชม                             แอวอ่อน  องค์เฮย

 สามสิ่งงามชดช้อย                        เป็นเฉลิมแก่นรี

เพลาเช้า...

     เสียงกลองแอว  กลองหลวง  ดังตุ้มต้ะตุ้มโทนแว่วๆมาจากทางบ้านเหนือ  เลยกอไผ่ตรงหัวโค้งมุมถนนได้ยินมาแต่ไกล  เป็นสัญญานหมายว่าขบวนแห่ครัวทานกำลังจะเคลื่อนพล  เพื่อมุ่งหน้าไปยังวัดหลวงประจำหมู่บ้านในไม่ช้านี้  แม่อุ๊ยรีบฉวยสไบบางผืนสีขาวพันทับเสื้อลูกไม้แขนสามส่วนสีตองอ่อนตัวเก่ง  ดูว่าแน่นหนาดีแล้ว  จึงเหลียวมองหาหลานสาววัย  6  ขวบ  โน่นอีหน้อยแล่นลงเรือนไปถึงหน้าถนนโน่นแล้ว  เกิบก็บ่ยอมสวม  อีกประเดี๋ยวขบวนแห่คงจะผ่านมาทางนี้แล้ว  แม่อุ๊ยอุ้มขันดอกไม้บรรจุกรวยดอกไม้ธูปเทียน  ที่เตรียมไว้พร้อมตั้งแต่เมื่อคืน  ก่อนจะค่อยก้าวออกไปที่นอกชาน

     “ขอหื้อทุกคนมาพร้อมกันตี้ขบวนแห่ครัวทานได้แล้วเน้อ  หมู่เฮาจะเริ่มพิธีการแล้ว”  เสียงพ่อแก่วัดดังผ่านลำโพงเครื่องขยายเสียงประจำหมู่บ้าน  เสียงกลองตึ่งโนงดังขึ้นเรื่อยๆ  ครู่ใหญ่หัวขบวนจึงโผล่พ้นหัวโค้งตรงกอไผ่มาทางเรือนของแม่อุ๊ย

    นำขบวนเป็นแถวของนางช่างฟ้อนรุ่นลูกรุ่นหลาน  หน้านวลแฉล้มแจ่มใส  แต่ละนางนุ่งซิ่นต๋า  ซิ่นก่าน  สีเหลืองสดตัดกับส่วนต่อตีนต่อแอวซึ่งเป็นสีดำ  สวมเสื้อลูกไม้สีขาวตัวสั้น  รัดองค์แอวอ่อนบาง  ห่มสไบผ้าไหมเมืองสะหว้ายแล่งพองาม  ผมเจ้าก็เกล้ามวยสวยเรียบ  เหน็บดอกเอื้องผึ้งช่อน้อยๆ  ที่สั่นไหวยามเยื้องย่างกรีดกราย  อวดเล็บทองงอนงามเป็นประกายจับตาเมื่อต้องแสงแดดยามเช้า  งามผุดงามผาดบาดตาราวนางฟ้านางสวรรค์ลงมาฟ้อนให้ดูอยู่ต่อหน้า  เจ้าหลานสาวของแม่อุ๊ยเห็นเข้ายังนิ่งจ้องมองตลึง  หายซนไปได้พักใหญ่  ต่อจากขบวนนางช่างฟ้อนจึงเป็นหมู่กลองตึ่งโนงประจำหมู่บ้าน  อันเป็นที่มาของเสียงแอเล็กแอใหญ่  ส่งเสียงแอ้อี้อ้อยส้อยหวานมาแต่เช้า  ถัดไปเห็นใบหน้าคุ้นตาของบรรดาพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยเดินเรียงแถวอุ้มขันดอกไม้ส่งยิ้มกว้างมาให้  ตรงกลางขบวนเป็นรถแห่ครัวทาน  ที่ถูกตกแต่งไว้สวยงาม ท้ายโน้นยังมีขบวนต่ออีกยืดยาว  แต่สุดที่จะพรรณนาด้วยเหตุที่พ้นแนวสายตาไปอีกตั้งไกล

     แม่อุ๊ยมองดูเหล่านางช่างฟ้อนแล้วก็นึกถึงลูกสาว  มันว่าจะมาตั้งตะวาน  จนป่านนี้ก็ยังบ่เห็น  ถ้าไม่อย่างนั้นคงได้มาฟ้อนนำขบวนอยู่นี่แล้ว  อีหล้ามันเตียวไปเป็นช่างฟ้อนในเมืองได้เมินหลายปีแล้ว  มันว่ามันฟ้อนหื้อแขกฝรั่งต่างบ้านต่างเมืองผ่อในร้านอาหารขันโตก   ได้เงินนัก  ได้ส่งเงินมาให้แม่อุ๊ยอยู่สม่ำเสมอ  ไม่เคยขาด  ในเวียงนี่มักมีประเพณีแปลก  ไม่เหมือนแถวบ้านของอุ๊ย  ดูอย่างนางช่างฟ้อนที่นี่  เขาฟ้อนถวายเป็นพุทธบูชา  แต่ในเวียงเขาฟ้อนในงานขันโตกหื้อแขกฝรั่งต่างชาติผ่อแกล้มกับแกล้มข้าว แต่ว่าก็ว่าเต๊อะ  อย่าว่าแต่ในเวียงเลย  แม้แต่ที่นี่  ประเพณีเก่าๆก็เปลี่ยนไปติ๊กๆ  เมื่อก่อนอยู่กันสบายกว่านี้  อาหารการกินก็ไม่ต้องซื้อต้องหา  ผักผลไม้ก็ปลูกกินกันบ้าง  ขอกินกันบ้าง  อยู่กันตามธรรมชาติ  เสื้อผ้าก็ทอไว้ใส่เอง  แม่อุ๊ยลูบผ้าซิ่นตีนจกที่สวมใส่อยู่ด้วยความภาคภูมิใจ  ผ้าซิ่นผืนเก่ามีรอยปะชุนอยู่บ้าง  แต่ก็เป็นงานทอที่งดงามยิ่งในความรู้สึกของผู้สวมใส่  เนื่องด้วยรำลึกถึงความวิริยะอุตสาหะพากเพียร  กว่าจะจกลายซิ่นได้สักผืน  ถ้าใจบ่มักบ่ชอบแล้วไซร้  ก็คงจะไม่มีทางสำเร็จเป็นแน่  สมัยก่อนเมื่อสายตายังดี  ฝีมือการจกลายซิ่นของแม่อุ๊ยเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทั้งหมู่บ้าน  ต่อมาระยะหลังๆมีคนจากกรุงเทพมาขอซื้ออยู่บ่อยๆ  นางค่อยทยอยขายไป  จนที่สุดในตอนนี้เหลือเก็บไว้กับตัวเพียง  2  ผืน  คือผืนที่ใช้สำหรับใส่ไปงานบุญเฉกเช่นวันนี้  และอีกผืนหนึ่งสำหรับใช้นุ่งในงานศพของตัวเองเพื่อไว้ใช้ในโลกหน้า  ส่วนผืนที่สวยงามเป็นพิเศษ  นางยกให้อีหล้ามันไป  เผื่อไว้สำหรับฟ้อนโชว์แขกบ้านแขกเมืองจีนฝรั่งอั้งม้อจะได้ไม่อายเขา

     ฝีมือการทอซิ่นตีนจกของแม่อุ๊ยได้รับการถ่ายทอดมาจากรุ่นแม่ของอุ๊ยอีกทอดหนึ่ง  ทุกลวดลายมีความหมายลึกซึ้งผ่านการถักทอฝึกฝนวันละเล็กละน้อย  เริ่มจากลายตรง  ลายโคม  ขัน  นาค  หงส์  น้ำต้น  จนไปถึงลายส่วนล่างสุดของตีนซิ่น  ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “หางสะเปา” (สำเภา)  ที่จกเรียงร้อยเป็นลวดลายบนเชิงซิ่นสีแดง  เหล่านี้ล้วนถ่ายทอดสัญลักษณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา  และระบบจักรวาลได้อย่างลึกซึ้ง  เป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมาจากรุ่นสู่รุ่น  เสียดายว่าปะเดี๋ยวนี้จกบ่ไหวสังขารมันบ่เอื้ออำนวยเสียแล้ว  ลูกหลานมันก็บ่เอาแล้ว  คงจะต้องปล่อยหื้อภูมิปัญญาบรรพบุรุษค่อยสูญสิ้นไป  พร้อมกับผ้าซิ่นตีนจกผืนสุดท้ายของแม่อุ๊ยนี้แล้วหนอ

    แม่อุ๊ยกระชับขันดอกไม้ไว้ให้มั่น  อีกมือหนึ่งจูงมือหลานสาวตัวน้อย  ก่อนที่จะค่อยก้าวเดินช้าๆ  เข้าไปร่วมขบวนแห่ครัวทานที่กำลังเคลื่อนลัดตัดทุ่งข้าวเขียวขจี  ไปสู่วัดบนเชิงดอยเบื้องหน้า

************************** 

 เพลาค่ำ...


     เสียงกลองตึ่งโนงดังจากลำโพงเครื่องขยายเสียงชั้นดี  เป็นท่วงทำนองหวานอ้อยส้อยอันคุ้นหู  บนเวทีต่ำขนาดกว้างนั้นมืดสลัว  ไร้แสงไฟ  ผู้คนมากมายทั้งชายหญิง  ทั้งเด็กแลผู้ใหญ่  หลากชาติหลายเผ่าพันธุ์  เป็นจำนวนนับสิบนับร้อยเห็นนั่งอยู่เป็นเงาตะคุ่มๆ  ในห้องโถงขนาดใหญ่ตกแต่งสลักเสลางดงามด้วยชิ้นไม้แกะสลักแลม่านแพรอัดจีบ  ดูราวกับจะเป็นคุ้มหอคำของเจ้านายองค์ใดองค์หนึ่งตามคำร่ำลือในอดีต  สายตาเกือบทุกคู่ต่างจ้องมองฝ่าความมืดจับจ้องที่เวทีเบื้องหน้า  ทันใดนั้นเอง  แสงเทียนน้อยๆก็ค่อยลอยเลื่อนมาเป็นทิวเป็นแถวตามจังหวะดนตรี  จากนั้นแสงไฟค่อยสว่างเรืองขึ้นตามลำดับ  มีไฟต่างสีสาดจับให้เห็นเหล่านางงามช่างฟ้อน  ที่กำลังเยื้องย่างกรีดกรายด้วยเทียนเล่มน้อยในมือนาง  ท่ามกลางเสียงพึมพัมฮือฮาของมวลประชาที่อยู่ด้านล่างเวที  ใบหน้าแฉล้มที่แต่งไว้พองามของนางเหล่านั้นต่างประดับไว้ด้วยรอยแย้มยิ้มหวานปานจะหยด  ผมมุ่นมวยสวยเรียบ  เหน็บประดับด้วยดอกไม้ไหวทำจากโลหะสีทองประดิษฐ์เป็นช่อเอื้องผึ้งอันงาม  ไหวพะยาบตามจังหวะย่างเท้าของสาวเจ้า  เหล่านางช่างฟ้อนต่างนุ่งซิ่นผ้าไหมเทียมสีส้มแกมทองระยิบ  สวมเสื้อคลุมผ้าแพรปักฉลุ  สีนวลขาว  ทับบนเสื้อตัวในสีแดงหมากสุก  ผ้าคล้องคออันระหงนั้นเป็นผ้าโปร่งบางใสสีขาวอ่อนเจือเส้นสีทอง  ยามเมื่อนางย่างย้าย  ประดุจดั่งฝูงนกยูงทองมาร่อนรำอยู่ไหวๆ  ฝูงชนผู้ชมดูต่างนิ่งอึ้งตะลึงแล  ลืมดื่มลืมกินอยู่ชั่วอึดใจนั้นเอง

     หนึ่งนางในหมู่นั้นมีร่างอวบท้วมกว่านางช่างฟ้อนผู้อื่น  ใบหน้าอิ่มงามดูเหม่อลอยบ่แย้มยิ้ม  ด้วยใจไพล่ไปคิดถึงแม่แก่ผู้เฒ่าและลูกสาวตัวน้อยที่ฝากไว้ให้ดูแล  ป่านนี้คงจะชะเง้อคอยท่าอยู่ที่เรือนแล้ว  นางคิดฝันไปถึงขบวนแห่ครัวทานท่ามกลางทุ่งข้าวไหวอ่อนเอน  แล้วก็พลันสะดุ้งด้วยน้ำตาเทียนหยดต้องนิ้ว  ต้องหันกลับมาตั้งใจฟ้อนสอดประสานตามจังหวะลีลา  จนกระทั่งเสียงดนตรีสิ้นสุดลง  เสียงปรบมือดังกึกก้องไปทั่งห้องในคุ้มหอคำจำลองแห่งนั้น  จากนั้นแสงไฟก็สว่างขึ้น  เหล่านางงามพากันเดินชดช้อยลงจากเวทีไปเบื้องล่าง  เพื่อถ่ายรูปกับแขกผู้มาเยือนแลกกับเงินรางวัลก้อนงาม  ท่ามกลางขันโตกและเศษอาหารที่เหลือกองก่ายระเกะระกะ  ควันบุหรื่ลอยอ้อยอิ่งลวงตาให้ระลึกถึงไอหมอกในยามเช้า  สาวงามจากถิ่นชนบทอันห่างไกล  กลั้นใจถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวสูงอายุชาวต่างชาติ  ผู้ฉวยโอกาสโอบสะเอวบางเข้ามาจนชิด  นางรู้สึกคับแค้นแน่นหน้าอก  น้ำใสๆคลอคลองในหน่วยตา  หากมือก็ยกขึ้นพนมค้อมหัวยามรับเงินรางวัล  ใจก็คิดถึงแต่แม่กับลูก  พรุ่งนี้จะปิ๊กบ้านแล้ว  จะซื้ออะหยังไปฝากอีหน้อยดีหนอ  แม่เอย  ลูกนี้คิดถึงนัก  พรุ่งนี้ลูกจะได้นุ่งผ้าซิ่นตีนจกไปวัดทำบุญกับแม่แล้ว  นักท่องเที่ยวกลุ่มนั้นหันไปคุยอะไรกันเสียงดังขโมงโฉงเฉง  หนึ่งในนั้นพ่นควันบุหรี่ใส่หน้าเธอจนแสบตาไปหมด  พวกเขาพากันหัวร่อร่าจนสำลักเศษอาหาร  เลยขากเสลดที่พื้นห่างจากหัวแม่เท้าของนางไปไม่ถึงนิ้ว  แม่นางช่างฟ้อนคนงามหันหลังกลับค่อยเดินออกมาจากที่นั่นช้าๆ  แล้วค่อยสาวเท้าเร็วขึ้นเรื่อยๆ  แม่จ๋า  พรุ่งนี้ลูกจะปิ๊กบ้านเฮาแล้ว  ลูกจะขอหื้อแม่สอนหัดทอผ้าซิ่นตีนจก  ลูกจะกลับไปนั่งหลังกี่ตัวเก่าที่แม่เคยนั่ง  แลเมื่ออีนางน้อยโตขึ้น  ลูกจะสอนหื้อมันทอผ้าซิ่นและฟ้อนนพขบวนแห่ครัวทาน  รอลูกโตยเถ๊อะ  ลูกกำลังจะกลับไป 

     นางเดินแกมวิ่ง  ออกจากคุ้มหอคำจำลองแห่งนั้น  ดอกเอื้องคำประดิษฐ์ที่สอดแซมมุ่นมวยผม  ไหวสั่นพะเยิบพะยาบยามวิ่ง  ในที่สุดก็หลุดร่วงหล่นลงกลางทาง  โดยบ่มีไผสนใจใยดีอีกเลย

มรดกตกทอดแต่                 บุราณ

อย่าทอดทิ้งรำคาญ                   เรื่ยไว้

รักษาอย่าเสียหาย                    หุยเรี่ย  รายเนอ

เติมต่อเป็นก้านแก้ว                   ยิ่งยศ  ยอเมือง

 


บรรณานุกรม

  1. จารุปภา  จองมู  2540  “แม่แจ่ม  ความหวังของวันเวลา”  เชียงใหม่  สำนักพิมพ์สารคดี  กรุงเทพฯ
  2.  พรรณเพ็ญ  เครือไทย  และไพฑูรย์  ดอกบัวแก้ว  2545  ลักษณะโคลงล้านนา  สถาบันวิจัยสังคม  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. มณี  พะยอมยงค์  2543  ประเพณีสิบสองเดือน  ล้านนาไทย  โครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  4. วิลักษณ์  ศรีป่าซาง  2547  ครัวหย้อง  ของงาม  แม่ญิงล้านนา  สถาบันวิจัยสังคม  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คำสำคัญ :
กลุ่มบทความ :
หมวดหมู่ :
แชร์ :
https://erp.mju.ac.th/acticleDetail.aspx?qid=28
ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา
เก็บมาคิด...เก็บมาเขียน » พักกาย-พักใจ ให้สงบ...เติมพลังให้ชีวิต
การดำเนินชีวิตในยุคศตวรราที่ 21 ต้องมีสติรู้เท่าทันสังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป การทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้คนเรามีสติรู้เท่าทันพร้อมทั้งมีจิตใจที่เข้มแข็...
เข้าพรรษา  คณะผลิตกรรมการเกษตร  ปาณิศา คงสมจิตต์  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ศตวรรษที่ 21  ห้องสมุด     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา
ผู้เขียน ปาณิศา วงค์ใส  วันที่เขียน 11/8/2559 16:25:41  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 16:03:48   เปิดอ่าน 4423  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
เรื่องนี้ต้องแบ่งปัน » ภูมิปัญญาบรรพบุรุษจากกลองหลวงล้านนาไทย
บทความเรื่อง"ภูมิปัญญาบรรพบุรุษจากกลองหลวงล้านนาไทย"มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมส่งเสริมในด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยบทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารแม่โจ้ปร...
กลองหลวงล้านนา  ภูมิปัญญา  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ศิลปวัฒนธรรม  ห้องสมุดคณะผลิตกรรมการเกษตร     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา
ผู้เขียน ปาณิศา วงค์ใส  วันที่เขียน 7/9/2558 15:37:43  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 15:58:38   เปิดอ่าน 4482  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
เรื่องนี้ต้องแบ่งปัน » ชีวิตยังงดงาม...ด้วยเส้นทางแห่งแรงบุญ
"ชีวิตยังงดงาม...ด้วยเส้นทางแห่งแรงบุญ" เป็นการเล่าเรื่องประกอบภาพที่ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปพร้อมกับบุคลากรของคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เนื่องในกิจกรรมถวายเทียนพรรษา ประจำปี 255...
คณะผลิตกรรมการเกษตร  ถวายเทียนพรรษา  วัดพระเจ้าหลวง(ม่อนพระเจ้าหลาย)  ห้องสมุด     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา
ผู้เขียน ปาณิศา วงค์ใส  วันที่เขียน 30/7/2558 15:05:27  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 20/11/2567 12:27:32   เปิดอ่าน 4596  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง