“ เรียน-สอนกันอย่างไร...ในยุคศตวรรษที่ 21 ”
โดย ปาณิศา คงสมจิตต์
นักเอกสารสนเทศ : ห้องสมุดคณะผลิตกรรมการเกษตร
ในยุคปัจจุบันที่ก้าวมาถึงศตวรรษที่ 21 เทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้าไปแบบไม่หยุดยั้ง ผู้คนทั่วโลกสามารถสื่อสารกันได้แบบไร้พรหมแดน รวมทั้งในแวดวงของการศึกษา การแสวงหาความรู้ต่างๆ ก็สามารถทำได้หลากหลายช่องทางโดยเฉพาะการเรียนการสอนที่มีการเปลี่ยนแปลง ไปตามยุคสมัย ทั้งในระดับโรงเรียนและในระดับมหาวิทยาลัย
จากเดิมๆ ที่เคยจัดการเรียนการสอนแบบที่คอยให้ผู้สอนเป็นฝ่ายป้อนความรู้ให้ผู้เรียนแต่เพียงฝ่ายเดียว ก็มีการปรับรูปแบบให้เปลี่ยนไปทันโลกทันเหตุการณ์ กิจกรรมการเรียนการสอนที่นำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ต้องเปิดโอกาสให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
กิจกรรมที่ว่านี้ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ได้เกิดการเรียนรู้ด้วยการรู้จักคิดในเชิงวิเคราะห์และสังเคราะห์ ( การคิดเชิงวิเคราะห์ หรือ Analytical Thinking เป็นการคิดเชิงเหตุผลของข้อมูล มีการใช้คำถามแยกแยะเรื่องจริงกับเรื่องเท็จและข้อคิดเห็นออกจากกัน / ส่วนการคิดเชิงสังเคราะห์ หรือ Synthesistype Thinking เป็นการนำข้อมูลเดิมที่มีอยู่แล้วมาผสมผสานเพิ่มเติมเข้าด้วยกันเพื่อทำให้ข้อมูลใหม่เกิดขึ้นโดยข้อมูลที่นำมาสังเคราะห์นั้นต้องเป็นข้อมูลเดิม มีความน่าเชื่อถือ ถูกต้อง ชัดเจน และมีความเป็นไปได้มากที่สุด ) ตลอดจนมีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะในการสื่อสารทั้งด้านการฟัง พูด อ่าน เขียน และมีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
ในขณะที่บทบาท หน้าที่ของผู้สอนก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แทนที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เรียนแต่เพียงฝ่ายเดียวเหมือนที่เคยปฏิบัติมา ก็จะต้องปรับตัวเองให้เป็นผู้ชี้นำเป็นผู้ให้แนวทาง รูปแบบของการเรียนในยุคใหม่นี้จะเน้นกิจกรรมที่เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่สำคัญการสร้างองค์ความรู้ที่จะเกิดขึ้นต้องเป็นการสร้างด้วยตัวของผู้เรียน รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีที่เข้ามามีส่วนในการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น อันจะเป็นหนทางนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพดีขึ้น…
สำหรับการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ในก้าวแห่งศตวรรษที่ 21 เรื่องของทักษะนับว่าเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่พึงต้องให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนซึ่งก็คือ ความคิดเชิงสร้างสรรค์ ความคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะการสื่อสาร และทักษะการทำงานร่วมกัน
ลักษณะความคิดเชิงสร้างสรรค์ รายละเอียดทักษะของการสื่อสาร และเรื่องของทักษะการทำงานร่วมกัน ท่านผู้อ่านก็คงพอจะทราบกันบ้างแล้ว แต่ในเรื่องของความคิดหรือการคิดเชิงวิพากษ์ ( Critical Thinking ) นั้นก็หมายถึงความตั้งใจพิจารณาตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยไม่ด่วนสรุปความเห็นคล้อยตามในทันที มีการตั้งคำถามท้าทาย หรือโต้แย้งสมมุติฐานที่อยู่เบื้องหลัง พยายามเปิดกว้างทางความคิดที่มีความเห็นแตกต่างในหลายมุมมอง เพื่อให้ได้สิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่าเดิม ซึ่งหลักของการคิดเชิงวิพากษ์ก็คือให้สงสัยไว้ก่อน อย่ารีบเชื่อหรือด่วนสรุปเพราะเรื่องนั้นอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ รวมทั้งมีการตั้งคำถามซักค้านเพื่อเปิดทางกว้างให้ได้ทราบความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป...
จะเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นต้องก้าวตามให้ทันกับสิ่งแวดล้อมที่ผันแปรไปในยุคโลกาภิวัฒน์ เมื่อครู-อาจารย์มีบทบาทในการสอนน้อยลง ก็จะต้องมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักเรียน-นักศึกษามากขึ้น ดังนั้นผู้สอนจึงต้องรู้จริงและมีความรอบรู้ในเรื่องต่างๆ เกือบทุกด้าน เพื่อนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาจัดเป็นกิจกรรมในกระบวน การเรียนการสอนได้อย่างลงตัวและมีคุณภาพ....
แหล่งอ้างอิง
- คอลัมน์หมุนตามวัน , นสพ.เชียงใหม่นิวส์ วันที่ 26 กุมภาพันธ์2557 (หน้า 5)
- www.gotoknow.org/posts/386825