เซลฟี่ ( Selfie ) ภัยใกล้ตัวอาการป่วยจากการใช้สื่อออนไลน์
โดย : ปาณิศา คงสมจิตติ์
นักเอกสารสนเทศ : ห้องสมุดคณะผลิตกรรมการเกษตร
ของทุกสิ่งบนโลกใบนี้มักจะเป็นเสมือนดาบสองคมคือมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เมื่อเหลื่อมล้ำออกจากทางสายกลางมากเกินความพอดี จะเป็นสิ่งที่ย้อนกลับมาทำร้ายตนเองได้ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในยุคที่การสื่อสารกว้างไกลไร้พรหมแดนแบบไม่มีขีดจำกัดนั้นสามารทำได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว นับเป็นประ โยชน์ในด้านหนึ่ง แต่หากใช้สื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะ เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม จนไม่เป็นอันทำอะไรก็ขอให้รู้ได้เลยว่าคุณกำลังตกอยู่ในอัตราเสี่ยงต่ออาการป่วยที่เรียกว่า เซลฟี่ ( Selfie )
เกี่ยวกับเรื่องนี้ แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ได้ให้คำอธิบายว่า เซลฟี่ ( Selfie ) เป็นภัยที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก เกิดจากการที่ผู้คนในยุคปัจจุบันใช้สื่อสังคมออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม มากเกินไปจนไม่เป็นอันทำอะไร ชอบถ่ายรูปตัวเองในอิริยาบถต่างๆ ตลอดเวลาไม่ว่าจะไปทำกิจกรรม อะไร ที่ไหน ไปเที่ยว ไปกิน ฯลฯ แล้วนำไปเผยแพร่บนเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อให้บรรดาเพื่อนๆ หรือผู้คนในสังคมออนไลน์ได้รับรู้และกดไลค์ (Like ) รูปภาพหรือข้อความให้
โดยพฤติกรรมที่ว่านี้ หากอยู่ในเกณฑ์พอดีๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไรแต่ถ้าหากมีมากจนขาดการสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือขลุกอยู่แต่ในโลกส่วนตัวนี้มากเกินไปก็ถือว่ามีอาการป่วยเป็นโรคเซลฟี่ ( Selfie )ซึ่งในต่างประเทศที่อังกฤษ ทางหน่วยงานสาธารณสุขก็ได้ประกาศว่าอาการเสพติดโซเชียลมีเดียถือว่าเป็นโรคอย่างหนึ่งและในแต่ละปีก็จะมีชาวอังกฤษเข้ารับการบำบัดเป็นจำนวนมากกว่า 100 ราย
โรคเซลฟี่ ( Selfie ) จะพบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิงโดยเฉพาะกลุ่มของวัยรุ่นที่เป็นนักเรียน นักศึกษา โดยกรมสุขภาพจิตระบุว่าพฤติกรรมเช่นนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพจิตในอนาคตได้โดยเฉพาะในเรื่องของความเชื่อมั่นหรือความมั่นใจในตัวเอง รวมทั้งจะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันส่งผลถึงอนาคต การทำงาน และอาจเป็นปัญหากระทบต่อการพัฒนาประเทศได้
สำหรับผลเสียของคนที่เป็นโรคเซลฟี่ ( Selfie ) จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
*กลุ่มแรก - จะสูญเสียความสัมพันธ์กับคนที่อยู่รอบข้างเพราะมัวแต่ยุ่งอยู่กับการเล่นเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม โดยไม่สนใจใครๆ ไม่มีปฏิสัมพันธ์ ไม่มีการพูดคุย หรือทำกิจกรรมอื่นร่วมกันกับใครโดยคนกลุ่มนี้มักจะหลงรูปตัวเอง อัพรูปขึ้นสื่อออนไลน์ตลอดเวลาไม่รู้ตัวว่าทำให้คนอื่นเกิดความรำคาญ
*กลุ่มที่สอง – เป็นกลุ่มที่ติดภาพและชื่นชอบการถูกกดไลค์ภาพของตัวเอง โดยการปรับภาพตัวเองจากการใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ ทำให้ตัวเองดูดี สวยขึ้น ขาวขึ้น พวกนี้จะส่งผลเสียที่ว่าเป็นคนไม่ยอมรับตัวเอง ขาดความเชื่อมั่นในบุคลิกภาพของตัวเอง บางครั้งอาจจะทำให้กลัวหรือขาดความเชื่อมั่นไปเลย
ผู้เขียนเองก็เคยเห็นเพื่อนบางคนในเฟซบุ๊กที่มีพฤติกรรมแบบที่ว่านี้เหมือนกัน แต่จะเตือนหรือบอกตรงๆ ก็เกรงว่าจะทำให้มิตรภาพของความเป็นเพื่อนต้องเปลี่ยนแปลงไปอยากบอกเขาให้รู้ตัวเหมือน กันนะคะ แต่จะใช้วิธีการแบบ “ บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น ” แทนก็แล้วกันส่วนจะเป็นวิธีแบบไหนนั้นก็คงจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับตัวบุคคลเป็นรายๆ ไป เพราะธรรมชาติของคนเรามีนิสัยในการยอมรับที่ไม่เหมือนกันค่ะ....