ขอน้อมถวายความอาลัยแด่..สมเด็จพระสังฆราช ลำดับที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
วันที่เขียน 18/2/2557 11:13:23     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 24/4/2567 7:59:10
เปิดอ่าน: 5967 ครั้ง

ขอน้อมถวายความอาลัยแด่...สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

“ ขอน้อมถวายความอาลัย….

แด่...สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  ”

                                                                  

 

            ทั่วแผ่นดินร่ำไห้              อาดูร – อาลัย 

     ฟ้าหม่นฝนโปรยรับ                 สู่ฟ้า 

     ประมุขแห่งสังฆะ                    ละร่าง  สิ้นชนม์ 

    ประนมนิ่งกราบน้อม                เทอดไว้เหนือเศียร

 

                                                                                               โดย...ปาณิศา  คงสมจิตต์

                                                                                                    นักเอกสารสนเทศ

                                                                                          ห้องสมุดคณะผลิตกรรมการเกษตร

 

            * เมื่อเวลา 20.45 น.ของวันที่ 24 ตุลาคม 2556 สื่อมวลชน โดยสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจได้ออกแถลงการณ์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เรื่องพระอาการประชวรของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ฉบับที่ 9 ความว่า วันนี้คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว เมื่อเวลา 19.30 นาฬิกา ของวันนี้เนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

               ข่าวนี้ทำให้พุทธศาสนิกชนและประชาชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศตกอยู่ ในห้วงแห่งความโศกเศร้า เมื่อได้ทราบว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้สิ้นพระชนม์แล้ว ภายหลังจากได้เฝ้าติดตามพระอาการประชวรของสมเด็จพระสังฆราชอย่างต่อเนื่องด้วยความห่วงใย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก 30 วัน นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป และโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพไว้ ณ พระตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร และถวายพระเกียรติยศ ตามราชประเพณีทุกประการ

ในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกประกาศให้สถานที่ราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่ง ลดธงลงครึ่งเสา มีกำหนด 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 25-27 ตุลาคม 2556 ให้ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ไว้ทุกข์มีกำหนด 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2556 ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556

สำหรับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ก็ได้เชิญชวนให้ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษาร่วมติดริบบิ้นสีดำ หรือแต่งกายไว้ทุกข์เพื่อถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม – 23 พฤศจิกายน 2556…..

 

*พระประวัติ  สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 

 

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้รับโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ลำดับที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2532  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและยังทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของไทยที่ทรงเจริญพระชนมายุ 100 พรรษา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556 ซึ่งถือว่าทรงมีพระชนมายุมากกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีพระมหาเถระได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชทั้งหมด 19 พระองค์ ที่สำคัญทรงดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก รวม 24 ปี  ถือว่ายาวนานที่สุดเมื่อเทียบกับสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ในอดีตที่ผ่านมา

สมเด็จพระญาณสังวร มีพระนามเดิมว่า  เจริญ  คชวัตร  ประสูติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2456  ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ทรงมีชาติภูมิ ณ ต.บ้านเหนือ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี  เป็นบุตรคนโตของนายน้อยและนางกิมน้อย  คชวัตร  ชาวกาญจนบุรี มีพี่น้องอีก 2 คนได้แก่ นายจำเนียร  คชวัตร  และ นายสมุทร  คชวัตร  ทรงบรรพชาเป็นสามเณร  เมื่อพระชนมายุ 14 พรรษา ณ วัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี  แล้วเข้ามาศึกษาปริยัติธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และทรงอุปสมบท ณ วัดบวรฯ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2476 โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า  กรมหลวงวชิรญาณวงศ์  เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงได้รับฉายาว่า      “สุวฑฺฒโน”  อันมีความหมายว่า  “ผู้เจริญปรีชายิ่งในอุดมปาพจน์” จากนั้นได้ประทับศึกษาอยู่ที่วัดบวรฯ จนกระทั่งสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ในปี พ.ศ.2484

สมเด็จพระญาณสังวร ทรงดำรงสมณศักดิ์มาโดยลำดับดังนี้ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ พระราชาคณะชั้นราช และพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่พระโศภณคณาภรณ์ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวราภรณ์ และพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระสาสนโสภณ ทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่  สมเด็จพระญาณสังวร

(.....เมื่อครั้งสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 18 คือสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(วาสน์  วาสโน) สิ้นพระชนม์เมื่อปี 2531 ตำแหน่งพระสังฆราชว่างลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิมคือสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2532 เป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์….

                ราชทินนามดังกล่าว นับเป็นราชทินนามพิเศษเนื่องจากสมเด็จพระสังฆราชที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์  ตามปกติจะใช้ราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(*....*)  ดังนั้นนับเป็นอีกหนึ่งครั้งที่มีการใช้ราชทินนาม สมเด็จพระญาณสังวร สำหรับสมเด็จพระสังฆราชเพื่อเป็นพระเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระของพระองค์ ....เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชและประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระญาณสังวร ได้รับหน้าที่เป็นพระอภิบาลโดยตลอด....ต่อมาได้เป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนา พระมงคลวิสสกถาในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ปีพุทธศักราช 2507 สมเด็จฯ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์มาโดยลำดับ... )

สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระอัธยาศัยใฝ่รู้ ใฝ่เรียน มาตั้งแต่ทรงเป็นพระเปรียญโดยเฉพาะด้านภาษา  ทรงศึกษาภาษาต่าง ๆ อาทิ ภาษาอังกฤษ  ฝรั่งเศส  เยอรมัน  จีน  และสันสกฤต  จนสามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี  ขณะเดียวกันทรงเป็นพระมหาเถระไทยรูปแรกที่ได้ดำเนินงานพระธรรมทูตในต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม  ทรงนำพระพุทธศาสนาเถรวาทไปสู่ทวีปออสเตรเลียเป็นครั้งแรก  โดยการสร้างวัดพุทธรังษี  ณ นครซิดนีย์  ทรงให้กำเนิดคณะสงฆ์เถรวาทขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย  ทรงช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศเนปาล  โดยเสด็จไปให้การบรรพชาแก่ศากยกุลบุตรในประเทศเนปาลเป็นครั้งแรก ฯลฯ

นอกจากนี้พระองค์ทรงมีผลงานพระนิพนธ์หลายเรื่องตลอดจนความเรียงเชิงศาสนาคดีจำนวนมาก อาทิ  โลก-เหนือโลก , โอวาทวันลาสิกขา , เถรธรรมมกถา , ความสุขที่หาได้ไม่ยาก ,  ความสุขอันไพบูลย์ , การศึกษาเพื่อความเป็นคนที่สมบูรณ์ , พระพุทธศาสนากับสังคมไทย , วิธีสร้างบุญบารมี , จตุธรรมสำคัญ , อาหุเนยโย , สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้เสด็จประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  สภากาชาดไทย ตั้งแต่เมื่อวันที่  20  กุมภาพันธ์ พ.ศ.2545 เป็นต้นมา โดย ตลอดระยะเวลา  11  ปี พระองค์ประทับรักษาพระอาการ ณ ชั้น 6 ตึกวชิรญาณ-สามัคคีพยาบาร   จนกระทั่งวันที่  24  ตุลาคม  2556  เมื่อเวลา  20.40 น. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยได้ออกแถลงการณ์เรื่องพระอาการประชวรของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ฉบับที่ 9 ใจความว่า “วันนี้คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว เมื่อเวลา 19.30 นาฬิกาของวันนี้เนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน  

  ...ยังความเศร้าโศกเสียใจแก่พุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศ.... 

 

----------------------------------------------------------------- 

(*......*)   

                ในความหมายของคำว่า “สังฆราช” แปลว่าราชาของสงฆ์ ราชาของหมู่คณะ หมายถึงพระมหาเถระผู้เป็นใหญ่สูงสุดในสังฆมณฑล  มักเรียกกันสั้นๆ ว่า “สมเด็จพระสังฆราช” ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช  มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยตามที่มีหลักฐานปรากฏบนศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า “สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” เป็นตำแหน่งสมณศักดิ์สูงสุดฝ่ายพุทธจักรของคณะสงฆ์ไทย  ทรงเป็นประธานการปกครองคณะสงฆ์ ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น  นำแบบอย่างมาจากลัทธิลังกาวงศ์

                ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เพิ่มตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็น “สกลมหาสังฆปริณายก” มีอำนาจว่ากล่าวออกไปถึงหัวเมือง มีพระสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายคามวาสีเป็นสังฆราชขวา และสมเด็จพระวันรัต เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี เป็นสังฆราชซ้าย  องค์ใดมีพรรษายุกาลมากกว่าก็ได้เป็นพระสังฆราช

                ต่อมาปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา  พระอริยมุนี ได้ไปสืบอายุพระพุทธศาสนาที่ลังกาทวีป จนมีความชอบ เมื่อกลับมาได้รับสมณศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับจนเป็นสมเด็จพระสังฆราช  พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชดำริให้คงราชทินนามนี้ไว้ จึงทรงตั้งราชทินนามสมเด็จพระสังฆราชเป็น “สมเด็จพระอริยวงศาสังฆราชาธิบดี” และมาเป็น “สมเด็จพระอริยวงษญาณ”  ในสมัยกรุงธนบุรีและใช้ต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  ทรงเปลี่ยนเป็น “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” ใช้พระนามนี้จนถึงปัจจุบัน

                เมื่อย้อนกลับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 รัชกาลปัจจุบัน มีพระมหาเถระได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช แล้ว 19 พระองค์ พระกอบด้วย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า 3 พระองค์  , สมเด็จพระสังฆราชเจ้า 2 พระองค์ ,  และสมเด็จพระสังฆราช 14 พระองค์  โดยจะมีพระนามสองอย่าง  หากเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์จะมีคำนำหน้าพระนามว่า “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” หรือ “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” หากเป็นสามัญชนจะมีคำนำหน้าว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ”

 

 

ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา
เก็บมาคิด...เก็บมาเขียน » พักกาย-พักใจ ให้สงบ...เติมพลังให้ชีวิต
การดำเนินชีวิตในยุคศตวรราที่ 21 ต้องมีสติรู้เท่าทันสังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป การทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้คนเรามีสติรู้เท่าทันพร้อมทั้งมีจิตใจที่เข้มแข็...
เข้าพรรษา  คณะผลิตกรรมการเกษตร  ปาณิศา คงสมจิตต์  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ศตวรรษที่ 21  ห้องสมุด     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา
ผู้เขียน ปาณิศา วงค์ใส  วันที่เขียน 11/8/2559 16:25:41  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 20/4/2567 21:17:36   เปิดอ่าน 4259  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
เรื่องนี้ต้องแบ่งปัน » ภูมิปัญญาบรรพบุรุษจากกลองหลวงล้านนาไทย
บทความเรื่อง"ภูมิปัญญาบรรพบุรุษจากกลองหลวงล้านนาไทย"มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมส่งเสริมในด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยบทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารแม่โจ้ปร...
กลองหลวงล้านนา  ภูมิปัญญา  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ศิลปวัฒนธรรม  ห้องสมุดคณะผลิตกรรมการเกษตร     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา
ผู้เขียน ปาณิศา วงค์ใส  วันที่เขียน 7/9/2558 15:37:43  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 20/4/2567 10:00:33   เปิดอ่าน 4351  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
เรื่องนี้ต้องแบ่งปัน » ชีวิตยังงดงาม...ด้วยเส้นทางแห่งแรงบุญ
"ชีวิตยังงดงาม...ด้วยเส้นทางแห่งแรงบุญ" เป็นการเล่าเรื่องประกอบภาพที่ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปพร้อมกับบุคลากรของคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เนื่องในกิจกรรมถวายเทียนพรรษา ประจำปี 255...
คณะผลิตกรรมการเกษตร  ถวายเทียนพรรษา  วัดพระเจ้าหลวง(ม่อนพระเจ้าหลาย)  ห้องสมุด     บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป   ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา
ผู้เขียน ปาณิศา วงค์ใส  วันที่เขียน 30/7/2558 15:05:27  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 24/4/2567 1:41:39   เปิดอ่าน 4469  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง