ประชุมวิชาการดินและปุ๋ยแห่งชาติ ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 7-9 มกราคม 2565 ตามหลักการและเหตุผลของการประชุมวิชาการดินและปุ๋ย ที่กล่าวว่า “ทรัพยากรดินเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของการเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อความกินดีอยู่ดีของมนุษย์ และดินเป็นจุดเริ่มต้นของการกระบวนการผลิตอาหาร พืชพลังงานทดแทนและวัตถุดิบอุตสาหกรรมทางการเกษตร และมีบทบาทที่เสริมสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารอย่างยั่งยืน” จึงมีงานวิจัยที่ส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยด้านดินและปุ๋ย รวมทั้งการศึกษาวัสดุปรับปรุงดินเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงสมบัติทางเคมีของดินให้มีความเหมาะสมต่อการปลูกพืชและเหมาะสมกับภูมิสภาพของพื้นที่นั้นๆ ไบโอชาร์ (biochar) หรือถ่านชีวภาพ เป็นวัสดุปรับปรุงดินที่มีงานวิจัยจำนวนมากได้ศึกษาถึงผลของไบโอชาร์ต่อสมบัติทางเคมีดิน ไบโอชาร์เป็นวัสดุที่เกิดจากการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ ซังข้าวโพด เปลือกข้าวโพด ชานอ้อย เปลือกลำไย กิ่งลำไย มาผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงด้วยความร้อนในสภาวะไม่มีก๊าซออกซิเจน (pyrolysis) ไบโอชาร์มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบสูง มีค่าพีเอชในช่วง 3.1-12.0 ซึ่งค่าพีเอชมีความสำคัญต่อสมบัติทางเคมีของดินซึ่งไบโอชาร์สามารถลดความเป็นกรดในดินได้ ไบโอชาร์มีค่าสภาพนำไฟฟ้า โดยค่าสภาพนำไฟฟ้าจะแปรผันตรงกับปริมาณและธรรมชาติของเกลือที่ละลายได้ โบโอชาร์มีค่าความจุแลกเปลี่ยนแคทไอออนสูง มีพื้นที่ผิวและช่องว่างขนาดเล็กจำนวนมาก จึงเป็นแหล่งกักเก็บความชื้นหรือเพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำ จึงเป็นเหตุผลให้ไบโอชาร์มาใช้ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเป็นวัสดุปรับปรุงดินในรูปของมวลชีวภาพที่มีความเสถียรทนทานต่อการย่อยสลาย และสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น มีเทน ได้ ในที่ประชุมวิชาการได้มีการนำเสนองานในหัวข้อ การศึกษาคุณสมบัติของถ่านชีวภาพจากพรรณไม้เพื่อประโยชน์ทางการเกษตร โดยนำพืช ได้แก่ ยางพารา มะฮอกกานี ไทรย้อย สัก นนนทรี พญาสัตยาบรรณ พิกุล ไผ่ ราชพฤกษ์ และผักเฮือดมาเผาไพโรไลซิสที่อุณภูมิ 300 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 ชั่วโมง พบว่าไบโอชาร์ที่ได้มีค่าพีเอชอยู่ในช่วง 7.81-10.22 มีปริมาณอินทรีย์คาร์บอนมากกว่า 50% และไม่เกิน 64% ค่าสภาพนำไฟฟ้าในช่วง 0.67-4.25 ผลการทดลองที่ได้จะเป็นแนวทางในการใช้ประโยชน์จากไบโอชาร์เพื่อการเกษตร