รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามคำสำคัญ  : ศัพท์สัมพันธ์
บริการฐานข้อมูลเฉพาะทาง » ฐานข้อมูลบรรณานุกรมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว: การพัฒนาฐานข้อมูล ระบบดรรชนี และการวิเคราะห์เนื้อหาข้อมูลบรรณานุกรม
การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลบรรณานุกรมเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (2) เพื่อศึกษาระบบดรรชนีหัวเรื่องและศัพท์สัมพันธ์ ประเภทหัวเรื่องย่อยประเภทชื่อบุคคล (พระนามพระมหากษัตริย์) และ/หรือกลุ่มบุคคล (กษัตริย์และผู้ครองนคร) ตามมาตรฐานบัญชีคำหัวเรื่องภาษาไทย และมาตรฐานสากล Library of Congress (3) เพื่อวิเคราะห์เนื้อหาสารสนเทศด้านพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากข้อมูลรายการบรรณานุกรม ในแง่องค์ประกอบของข้อมูลที่รวบรวมได้ การผลิตและการแพร่กระจายสารสนเทศ ขอบเขตเนื้อหาสารสนเทศเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่พิจารณาจากหัวเรื่องย่อย รูปแบบการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร ที่ศึกษาถึง (1) รายการบรรณานุกรมเอกสาร (2) ดรรชนีหัวเรื่องสำหรับเอกสารเนื้อหาพระมหากษัตริย์ โดยเน้นหัวเรื่องย่อยตามหลังกลุ่มชื่อบุคคล/พระนามพระมหากษัตริย์ ประชากรที่ศึกษาได้แก่ ข้อมูลบรรณานุกรมเอกสารเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) แหล่งประชากรที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการรวบรวมข้อมูลและสร้างฐานข้อมูลได้แก่ ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาและแหล่งสหบรรณานุกรม รวม 8 แห่ง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ โปรแกรมระบบจัดการฐานข้อมูล CDS/ISIS โปรแกรมจัดการหัวเรื่องแบบศัพท์สัมพันธ์ (Red_demo) โปรแกรมระบบงานห้องสมุด Elib และแบบสอบถามบรรณารักษ์ผู้มีความเชี่ยวชาญงานหัวเรื่องเพื่อประเมินบัญชีคำหัวเรื่องย่อยที่สร้างขึ้น วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ผลการวิจัยพบว่า (1) ฐานข้อมูลบรรณานุกรมเอกสารที่สร้างขึ้นชื่อ King9 มีจำนวน 4,201 ระเบียน จัดทำในระบบจัดการฐานข้อมูล CDS/ISIS สามารถถ่ายโอนข้อมูลตามมาตรฐานรูปแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล ISO-2709 ไปยังโปรแกรม Elib เพื่อบริการบนเว็บได้ (elib.library.mju.ac.th/elib) และอาจพัฒนาโปรแกรมสืบค้นให้สะดวกต่อการใช้งานจากต้นแบบโปรแกรมสืบค้นภาพยนตร์ดีเด่นได้ เมื่อเปรียบเทียบจำนวนเอกสารในฐานข้อมูล King9 (เฉพาะช่วงปี 2489-2549) กับ สหบรรณานุกรมสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่จัดทำปี 2549 จะมีสัดส่วน 100 : 33.21 หรือฐานข้อมูล King9 รวบรวมได้มากกว่า 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลเฉพาะเอกสารรายงานผลการวิจัยจากการวิจัยและวิทยานิพนธ์ กับฐานข้อมูล TDC (Thai Digital Collection) ของเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ Thailis จะมีสัดส่วน 100 : 19.01 หรือรวบรวมได้มากกว่า 5 เท่า และเมื่อเปรียบเทียบกับฐานข้อมูล NRCT ของห้องสมุด/ศูนย์ข้อมูลการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จะมีสัดส่วน 100 : 80.28 หรือมากกว่า 0.2 เท่า ประเภทข้อมูลส่วนใหญ่เป็นสิ่งพิมพ์หนังสือ (86.79%) ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นหนังสือภาษาไทย (95.47%) จัดทำในช่วงปีพิมพ์ 2540-2549 (30.83%) และ 2550-2559 (36.13%) รวม 2 ช่วงประมาณ 2 ใน 3 ของเอกสารทั้งหมด สถิติรายการบรรณานุกรมที่มีข้อมูลในเขตข้อมูล (MARC tag) ต่างๆ ในส่วนข้อมูล หัวเรื่อง (tag 6xx) มีเฉลี่ย 5.33 คำ/ชื่อเรื่อง ข้อมูลเพิ่มมูลค่าที่รวบรวมเพิ่ม คือ สารบาญ (บันทึกเป็นข้อความ) (tag 505) เฉลี่ย 0.39/ชื่อเรื่อง สาระสังเขป (บันทึกเป็นข้อความ) (tag 520) เฉลี่ย 0.16/ ชื่อเรื่อง แฟ้มข้อมูลภาพปก JPG เฉลี่ย 0.61/ชื่อเรื่อง แฟ้มข้อมูลภาพสารบาญ JPG, ภาพสาระสังเขป JPG, เอกสารเนื้อเรื่องฉบับเต็ม full text แบบ PDF file เฉลี่ย 0.09/ชื่อเรื่อง (2) ดรรชนีหัวเรื่องตามกลุ่มบุคคล (กษัตริย์และผู้ครองนคร--หัวเรื่องย่อยต่างๆ) เก็บ รวบรวมได้ 130 คำ แต่ไม่ได้สร้างศัพท์สัมพันธ์เพราะเป็นคำกว้างเกินไป สามารถใช้หัวเรื่องตาม ชื่อบุคคลแทนได้ ดรรชนีหัวเรื่องตามชื่อบุคคล/พระนามพระมหากษัตริย์ (ภูมิพลอดุลยเดชฯ-- หัวเรื่องย่อยต่างๆ) รวบรวมได้ 250 คำ และสร้างชุดคำศัพท์สัมพันธ์แล้วเสร็จ จำนวน 54 หน้า ภายหลังการสร้างบัญชีคำศัพท์สัมพันธ์แล้ว ได้นำไปทดลองใช้วิเคราะห์หัวเรื่องใหม่ (re-cataloging) แก่เอกสาร 2,378 รายการ ประมวลผลจำนวนดรรชนีหัวเรื่องในระบบ พบว่า มีจำนวนเซตคำค้น (set of index terms or index forms) ว่า ภูมิพลฯ--[หัวเรื่องย่อยต่างๆ] เพิ่มมากขึ้น 3.18 เท่า และจำนวนเซตคำดรรชนีที่พบเอกสาร (set of index postings or found documents) เพิ่มมากขึ้น 2.62 เท่า สรุปคือฐานข้อมูลมีคุณภาพด้านการค้นคืนสูงขึ้น. [end]
คำสำคัญ : ฐานข้อมูล  ภูมิพลอดุลยเดช, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 9  ศัพท์สัมพันธ์  หัวเรื่อง  
กลุ่มบทความ : กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร
หมวดหมู่ : กลุ่มงานห้องสมุด
สถิติการเข้าถึง : เปิดอ่าน 2401  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
ผู้เขียน สุธรรม อุมาแสงทองกุล  วันที่เขียน 18/9/2562 15:39:37  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 21:33:40
บริการฐานข้อมูลเฉพาะทาง » การพัฒนาคุณภาพฐานข้อมูลงานวิจัยและวิเคราะห์องค์ความรู้งานวิจัยสาขา พืชศาสตร์ด้วยระบบดรรชนีหัวเรื่องแบบศัพท์สัมพันธ์ : กรณีฐานข้อมูล งานวิจัยกล้วยไม้และลำไยของประเทศ
การวิจัยมีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาลักษณะดรรชนีหัวเรื่องและศัพท์สัมพันธ์ ด้าน พืชศาสตร์รายชนิด และพัฒนาบัญชีคำหัวเรื่องแบบแผน (pattern heading) ของพืช กรณีกล้วยไม้ และลำไย (2) เพื่อพัฒนาคุณภาพฐานข้อมูลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์กล้วยไม้ และลำไย ในด้านดรรชนีหัวเรื่อง (3) เพื่อศึกษาแนวทางการออกแบบและประยุกต์ใช้ระบบดรรชนีหัวเรื่องแบบ ศัพท์สัมพันธ์ในโปรแกรมสืบค้นสารสนเทศ (4) เพื่อศึกษาองค์ความรู้หรือสถานภาพงานวิจัยด้านกล้วยไม้และลำไย ในแง่การผลิต การกระจายสารสนเทศ และขอบเขตเนื้อหาที่มีการศึกษากันมากซึ่งพิจารณาจากหัวเรื่องในผลงานนั้น ดำเนินการรวบรวมข้อมูลประชากรคือ (1) รายการคำดรรชนีหัวเรื่อง จากคู่มือและฐานข้อมูลหัวเรื่องฉบับมาตรฐาน และจากฐานข้อมูลห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (2) คำดรรชนีหัวเรื่องของเอกสารงานวิจัย จากฐานข้อมูลบรรณานุกรมงานวิจัยกล้วยไม้และลำไยที่รวบรวมจากแหล่งสารสนเทศสำคัญๆ ของประเทศ เครื่องมือที่ใช้คือโปรแกรม CDS/ISIS, Elib สถิติที่ใช้คือ ค่าร้อยละ และค่าเฉลี่ย ผลการวิจัยมีดังนี้ 1. การพัฒนาบัญชีคำดรรชนีหัวเรื่องย่อยของพืชรายชนิด (กล้วยไม้ ลำไย) ตามแนวหัวเรื่องแบบแผน (pattern heading) ได้ชุดคำประมาณ 300 คำ และการศึกษาลักษณะดรรชนีที่สร้างขึ้น พบว่าหัวเรื่องย่อยภาษาอังกฤษที่กำหนดเป็นภาษาไทยแล้วมีจำนวนน้อย บางกรณีมีรูปแบบทางภาษาของคำต่างกัน หัวเรื่องย่อยบางคำอาจไม่เหมาะสมกับพืชบางชนิด หัวเรื่องหลักที่มีหัวเรื่องย่อยประกอบมีข้อมูลโยงไปศัพท์สัมพันธ์อื่นน้อยกว่าหัวเรื่องหลักทั่วไป หัวเรื่องสำหรับพันธุ์พืชของกล้วยไม้มีปัญหากำหนดคำ 2. การใช้ระบบดรรชนีหัวเรื่องแบบศัพท์สัมพันธ์ในโปรแกรมสืบค้นสารสนเทศ Elib ประยุกต์ใช้งานได้ ฐานข้อมูลงานวิจัยกล้วยไม้ 962 รายชื่อ และฐานข้อมูลงานวิจัยลำไย 844 รายชื่อ 3. การประเมินคุณภาพดรรชนีหัวเรื่องในฐานข้อมูลที่ทำดรรชนีใหม่ (re-cataloging) พบว่า (1) ฐานข้อมูลกล้วยไม้ : จำนวนหัวเรื่องเฉลี่ย 5.26 คำ/ชื่อเรื่อง เพิ่มขึ้น 2.39 คำ/ชื่อเรื่อง จำนวนคำดรรชนีหัวเรื่องในระบบที่ค้นคืนได้ (index postings) เพิ่มขึ้นร้อยละ 83.20 และจำนวนหัวเรื่องกล้วยไม้ที่มีหัวเรื่องย่อยเพื่อแสดงความชี้เฉพาะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.60 จึงยอมรับสมมติฐานการวิจัยที่ว่าจะมีจำนวนคำเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30.00 (2) ฐานข้อมูลลำไย : จำนวนหัวเรื่องเฉลี่ย 5.91 คำ/ชื่อเรื่อง เพิ่มขึ้น 2.65 คำ/ชื่อเรื่อง จำนวนคำดรรชนีหัวเรื่องในระบบที่ค้นคืนได้ (index postings) เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.39 และจำนวนหัวเรื่องลำไยที่มีหัวเรื่องย่อยเพื่อแสดงความชี้เฉพาะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.32 จึงยอมรับสมมติฐานการวิจัยที่ว่าจะมีจำนวนคำเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30.00 4. องค์ความรู้หรือสถานภาพงานวิจัยด้านกล้วยไม้และลำไย ในแง่การผลิต การกระจาย สารสนเทศ และขอบเขตเนื้อหาที่มีการศึกษากันมากซึ่งพิจารณาจากหัวเรื่อง พบว่า (1) หน่วยงานที่ผลิตงานวิจัยด้านกล้วยไม้ 10 อันดับแรกมีผลงานรวมกันร้อยละ 76.03 ของผลงานทั้งหมด ส่วนหน่วยงานที่ผลิตงานวิจัยด้านลำไย 10 อันดับแรกมีผลงานรวมกันร้อยละ 85.24 ของผลงานทั้งหมด (2) ผลงานวิจัยที่จัดพิมพ์ช่วงปี 2550-2556 และ 2540-2549 มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน ประมาณร้อยละ 40 ของผลงานทั้งหมด รวม 2 ช่วงรวมกันประมาณร้อยละ 80 ของผลงานทั้งหมด (3) การเผยแพร่สารสนเทศงานวิจัยกล้วยไม้และลำไยในแหล่งสารสนเทศหรือห้องสมุดต่างๆ พบว่าหน่วยงานเฉพาะ เช่น ศูนย์วิทยาการกล้วยไม้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไย และที่เป็นแหล่งกลางของการรวบรวมข้อมูล เช่น ฐานข้อมูล Thailand Digital Collection (TDC) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จะมีจำนวนงานวิจัย แห่งละประมาณร้อยละ 35-60 ของผลงานทั้งหมด (4) ขอบเขตเนื้อหาของงานวิจัยกล้วยไม้และลำไย ที่มีการศึกษากันมาก โดยพิจารณาจากหัวเรื่องหลักและหัวเรื่องย่อยที่จำแนกเนื้อหา พบว่ามีหัวข้อศึกษามากประมาณ 30 หัวข้อ จำนวนคำดรรชนีตามเนื้อหา 30 หัวข้อนี้มีรวมกันประมาณ 1 ใน 3 ของเนื้อหาทั้งหมด คำสำคัญ : ดรรชนี ; หัวเรื่อง ; ศัพท์สัมพันธ์ ; รายงานการวิจัย ; วิทยานิพนธ์ ; กล้วยไม้ ; ลำไย
คำสำคัญ : กล้วยไม้  ดรรชนี  รายงานการวิจัย  ลำไย  วิทยานิพนธ์  ศัพท์สัมพันธ์  หัวเรื่อง  
กลุ่มบทความ : กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร
หมวดหมู่ : กลุ่มงานห้องสมุด
สถิติการเข้าถึง : เปิดอ่าน 3180  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
ผู้เขียน สุธรรม อุมาแสงทองกุล  วันที่เขียน 26/9/2561 9:30:02  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 12:48:45