มารยาทการรับประทานอาหารแบบตะวันตก
มารยาทในการรับประทานอาหารและธรรมเนียมนิยมในการร่วมงานเลี้ยงแบบตะวันตก การเชิญแขกมารับประทานอาหาร เป็นประเพณีที่มีอยู่ในเกือบทุกอารยะธรรม นอกจากจะเป็นการแสดง ออกถึงความมีอัธยาศัยไมตรีแล้ว ยังถือว่าเป็นการให้เกียรติแก่แขกผู้รับเชิญด้วยมารยาทในการรับประทานอาหารที่ถือเป็นมาตรฐานสากลมีที่มาจากประเทศยุโรป และเป็นที่ยอมรับมาปฏิบัติกันทั่วไปในอารยประเทศ และถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนประณีตที่เราทุกคนต้องเรียนรู้ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ไม่ผิดพลาด
การไปร่วมงานเลี้ยงนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือ หมั่นสังเกตคนอื่นรอบๆ ตัวเรา และคอยสังเกตตนเองอยู่เสมอว่า ตัวเราทำอะไรผิดแผกแตกต่างจากคนอื่นหรือเปล่า ทั้งนี้ เพื่อเราจะได้ไม่กลายเป็นตัวตลกไปโดยไม่รู้ตัว
1. เมื่อเข้าไปที่โต๊ะอาหาร สุภาพบุรุษควรดึงเก้าอี้ให้สุภาพสตรี แล้วคลี่ผ้าเช็ดปากบนโต๊ะให้สุภาพสตรีด้วย การคลี่ผ้าเช็ดปากให้วางบนตัก โดยพับเป็นสองท่อน เอาชายผ้าเข้าหาตัว และเมื่อต้องลุกจากโต๊ะระหว่างรับประทานอาหาร ผ้าเช็ดปากนั้นให้วางลงบนเก้าอี้หรือพนักวางแขน เมื่อรับประทานเสร็จแล้ว ให้เอาผ้าวางบนโต๊ะด้านขวา
2. ควรนั่งอย่างสบาย ตัวตรง ไม่ก้มหน้า ให้ดึงเก้าอี้เข้าหาโต๊ะ และไม่นั่งไขว่ห้าง ไม่นั่งเท้าแขน เอามือวางบนตัก และไม่ควรประแป้งหรือทาลิปสติกบนโต๊ะอาหาร
3. โทรศัพท์มือถือไม่ควรเปิดเสียง และห้ามวางไว้บนโต๊ะอาหาร ผิดมารยาทเพราะถือว่าไม่ให้ความสำคัญกับคนที่นั่งร่วมโต๊ะด้วย
4. ไม่ควรถอดรองเท้าใต้โต๊ะ (อย่าทำเด็ดขาด) และไม่ควรใส่รองเท้าแตะหรือรองเท้าส้นเปิด (เหมาะกับค็อกเทลมากกว่า และถ้าสวมรองเท้าส้นเปิด ก็ไม่ควรใส่ถุงน่อง)
5. เอาใจใส่ดูแลทรงผม ต้องทำ ต้องเก็บให้เรียบร้อย
6. เสื้อผ้าผู้หญิงให้ระวัง อย่าใส่คอลึก เวลาก้มจะไม่งาม ถ้าสวมกระโปรง ไม่นิยมนุ่งกระโปรงสั้น
7. จำไว้ว่า จานขนมปังอยู่ทางซ้ายมือเสมอ (หากหยิบผิด ให้กล่าวคำขอโทษ แล้วเปลี่ยนจานขนมปังได้)
8. ขนมปังหยิบรับประทานได้เลย ไม่ต้องรอให้เจ้าภาพบอก หากหมดแล้วขอใหม่ได้ วิธีรับประทานที่ถูกต้องคือ บิขนมปังด้วยมือ แล้วทาเนยตรงชิ้นที่เข้าปาก และเมื่อใช้มีดป้ายขนมปังเสร็จแล้ว ต้องวางคืนไว้ที่จานขนมปัง (ขนมปังรับประทานได้เรื่อยๆ จนกระทั่งจบเมนคอร์ส ถือเป็นอันสิ้นสุด)
9. แก้วน้ำอยู่ทางขวามือ อย่าใช้ผิด จะผิดทั้งโต๊ะ
10. ท่องเอาไว้ว่า ใช้ช้อน ส้อม มีด จากด้านนอกสุดเข้าหาด้านในสุด
11. การรับประทานซุปด้วยช้อนซุป ควรตักซุปออกจากตัว และรับประทานซุปทางด้านข้างของช้อน ถ้าเป็นซุปใสใส่ถ้วยที่มีหู สามารถยกถ้วยดื่มได้เลย (ซุปข้นไม่ได้) และไม่ควรมีเสียงดังขณะดื่ม และไม่ควรเอาขนมปังจิ้มซุป อย่าทำเด็ดขาด
12. ควรสนทนากับผู้นั่งข้างเคียงบ้าง แต่อย่าให้เสียงดัง เวลาสนทนาควรวางมีดกับส้อมบนจานเสียก่อน อย่าถือมีดหรือส้อมชี้ประกอบท่าทาง ควรหลีกเลี่ยงหัวข้อสนทนาเรื่องการเมืองและศาสนา ส่วนหัวข้ออื่นๆ พูดได้ เช่น เรื่องดินฟ้าอากาศ รถติด เป็นต้น
13. เวลารับประทานเนื้อ นิยมตัดรับประทานทีละชิ้นแบบอังกฤษ แต่แบบอเมริกันจะหั่นเนื้อจนหมด แล้ววางมีดไว้ด้านบนของจาน แล้วเปลี่ยนถือส้อมด้วยมือขวาส่งอาหารเข้าปาก สำหรับในประเทศไทยนิยมแบบอังกฤษ
14. เวลาหั่นอาหาร เมื่อหยิบส้อมขึ้นมา ให้คว่ำส้อม แล้วใช้นิ้วชี้และนิ้งโป้ง จับไว้ที่คอมีด เพื่อจะได้ออกแรงหั่นได้ดี
15. ถ้าอาหารมีลักษณะเป็นเส้น เช่น เส้นสปาเกตตี ให้ใช้ส้อมม้วนเส้น แล้วค่อยนำใส่ปากรับประทาน
16. อาหารจะเซตเมนูมาให้อยู่แล้ว ขอเพิ่มไม่ได้ จบแล้วจบเลย งานเลี้ยงอย่างเป็นทางการจะไม่มีการเสิร์ฟอาหารเพิ่มเติม
17. เสิร์ฟอาหารอะไรมาก็ต้องรับประทานแบบนั้น (เพราะเจ้าภาพงานจะทราบอยู่แล้วว่าแขกที่เชิญจะรับประทานอะไรได้หรือไม่ได้ ซึ่งจะหลีกเลี่ยงเมนูนั้นอยู่แล้ว)
18. ไม่ควรแชร์อาหารกับคนข้างๆ ห้ามทำเด็ดขาด
19. การเสิร์ฟ ซอร์เบท (Sorbet) หรือไอศกรีมที่ไม่ใส่นม ไม่ใส่ครีม มีรสเปรี้ยวนำ ก็เพื่อล้างปากก่อนเสิร์ฟอาหารจานต่อไป นิยมเสิร์ฟในงานพิธีการใหญ่ๆ ถ้าเป็นงานปกติจะไม่เสิร์ฟ
20. การใช้เครื่องมือรับประทานอาหารแบบพิเศษ ถ้าไม่ทราบวิธีการใช้ ให้สังเกตคนรอบข้าง
21. การรับประทานผลไม้ ใช้ส้อมหยิบผลไม้แล้วปอกด้วยมีด ซึ่งแล้วแต่ชนิดของผลไม้มีวิธีต่างๆ กัน
22. ไม่ควรเอื้อมหยิบของข้ามหน้าแขกท่านอื่นๆ ควรเรียกพนักงานบริการหยิบให้ ถ้าจำเป็นให้ขอร้องผู้นั่งร่วมโต๊ะที่นั่งอยู่ถัดไปด้วยความสุภาพ พร้อมกล่าวคำขอบคุณ
23. ในกรณีที่ทำของหรืออุปกรณ์รับประทานอาหารตกจากโต๊ะ อย่าตกใจ ควรขอโทษคนข้างเคียงเบาๆ และไม่ควรหยิบขึ้นมาจากพื้นเอง ขอใหม่ได้จากบริกร
24. การรวบมีดกับส้อม หรือช้อนส้อม อังกฤษนิยมรวบไว้ตรงกลาง ตรงหน้า และหงายส้อม แต่อเมริกันนิยมรวบไว้หัวจานเฉียงๆ
25. ควรซับริมฝีปากด้วยผ้าเช็ดปากเสียก่อนการดื่มเครื่องดื่มต่างๆ
26. อาหารที่เป็นจาน 'ของหวาน' ให้ใช้ช้อน-ส้อมที่อยู่ด้านหน้า
27. ถ้าเสิร์ฟชาหรือกาแฟ เมื่อผสมใช้ช้อนคนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เอาช้อนวางไว้ อย่าใช้ช้อนตักชิมเด็ดขาด
28. และอย่าเผลอเอามีดจิ้มอาหารใส่ปากเด็ดขาด
29. หากรับประทานอาหารที่มีกระดูก ให้ใช้ทิชชูปิดปากแล้วค่อยๆ คายกระดูกออกจากปาก หรือหากรับประทานอาหารที่มีก้างหรือกระดูกไก่ ซึ่งเมื่อใช้ช้อน-ส้อมแทะเนื้อหมดแล้ว สามารถนำกระดูกวางไว้ข้างๆ จานได้
30. หากรับประทานอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ ควรตักทีละอย่าง แล้วต้องมั่นใจด้วยว่าที่ตักมาแล้วต้องรับประทานให้หมด และเมื่อหมดแล้วสามารถลุกไปหยิบใหม่ได้อีก และไม่ควรอย่างยิ่งที่ตักมากองๆ ไว้เผื่อคนอื่น ให้ตักเฉพาะตัวเอง
31. การเสิร์ฟเครื่องดื่มนั้นจะเสิร์ฟตามชนิดของอาหาร เช่น เสิร์ฟปลาและอาหารทะเลกับไวน์ขาว อาหารประเภทเนื้อหรือไก่ก็จะเสิร์ฟพร้อมไวน์แดง หรือไวน์โรเซ่ ส่วน 'แชมเปญ' จะเสิร์ฟตอนท้ายสำหรับการดื่มอวยพร ถ้ามีการดื่มแชมเปญ และได้รับเชิญ ห้ามปฏิเสธเด็ดขาด ถือว่าเสียมารยาทมาก แต่ถ้าใครไม่ดื่มช่วงที่มีการดื่มอวยพร ให้ยกแก้วขึ้นจรดภายนอกริมฝีปาก โดยไม่ต้องเอาเข้าปาก
32. ถ้าเสิร์ฟไวน์ สามารถดื่มได้ตลอดจนจบงาน
33. ในกรณีที่มีการเสิร์ฟผลไม้สด เจ้าภาพจะเตรียมมีดสำหรับผลไม้ไว้ให้ พร้อมจัดถ้วยใส่น้ำลอยด้วยดอกกุหลาบหรือกลีบกุหลาบไว้ให้สำหรับล้างปลายนิ้ว และต้องล้างมือทีละข้าง อย่าล้างทั้งสองมือ (ไม่สุภาพ) ควรระมัดระวังการล้างมือ อย่าให้น้ำหกเลอะเทอะ ใช้ผ้าเช็ดมือเช็ดมือให้เรียบร้อย พึงระวังว่าไม่ใช่น้ำดื่มเพราะอาจพลาดหยิบขึ้นมาดื่มได้ ในกรณีที่ผลไม้ได้รับการปอกเปลือกเรียบร้อยแล้ว ทางเจ้าภาพจะเสิร์ฟส้อมผลไม้แทน
34. Menu Card แสดงรายการอาหาร นิยมใช้กระดาษทองขอบทองขนาด 4 x 6 นิ้ว โดยมากมักจะพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส (ถ้าเป็นไทยล้วนก็ควรใช้ภาษาไทย) หลังจบงานเลี้ยงแล้วถ้าต้องการเก็บเป็นที่ระลึก สามารถนำกลับได้
35. ควรคำนึงถึงความสุภาพ นิ่มนวล และไม่รีบร้อนลุกลี้ลุกลน