ว่าด้วยเรื่องของลิขสิทธิ์#2
วันที่เขียน 18/1/2554 14:03:37     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 15:39:57
เปิดอ่าน: 12631 ครั้ง

ใครคือเจ้าของลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย? ตัวอย่างคดีองค์จาตุคามรามเทพ ท่านทราบหรือไม่ถ้าไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ติดคุก 1 วันแทนค่าปรับกี่บาท?

     จากบทความในวารสารฉบับที่ผ่านมา ว่าด้วยเรื่องของลิขสิทธิ์#1  ผมได้เรียนให้ทุกท่านทราบถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ โดยกล่าวถึงลักษณะการคุ้มครอง อายุการคุ้มครอง รวมถึงข้อพึงระวังเมื่อคัดลอก ทำซ้ำ หรือเลียนแบบ ดัดแปลงงานของผู้อื่น   สำหรับบทความในฉบับนี้ ขอนำเสนอแง่มุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ในทุกท่านทราบต่อเนื่องกันไป

     แง่มุมแรกที่ขอนำเสนอคือขอบเขตความคุ้มครองของงานอันมีลิขสิทธิ์   ลิขสิทธิ์อยู่ภายใต้ข้อตกลงตาม สนธิสัญญากรุงเบิร์น ซึ่งเป็นสนธิสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ โดยประเทศภาคีสมาชิกในสนธิสัญญานี้ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์เสมอเหมือนกัน เสมือนว่าทุกๆประเทศสมาชิกเป็นประเทศเดียวกัน เช่น กรณีสร้างสรรค์งานเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา งานชิ้นนั้นจะได้รับการคุ้มครองในประเทศไทยตามกฎหมายไทยด้วยเช่นกัน เพราะทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยต่างได้ลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้  ดังนั้นลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่เมื่อสร้างสรรค์งานขึ้นมาแล้วได้รับการคุ้มครองไปทั่วโลกในประเทศที่ได้ลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้

     แง่มุมต่อมาคือประเด็นความเป็นผู้ทรงลิขสิทธิ์ หรือเจ้าของในงานอันมีลิขสิทธิ์  หลายท่านอาจตั้งคำถามว่าเรื่องนี้ไม่น่าเป็นประเด็น ผู้สร้างสรรค์คือผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์มิใช่หรือ  ถ้าจะกล่าวเช่นนี้ก็ไม่ผิดแต่ก็ไม่ถูกทั้งหมด  ถ้าจะว่ากันตามตัวบทใน พรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537  ผู้สร้างสรรค์จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยหรือไม่ต้องพิจารณาตามฐานะของผู้สร้างสรรค์ ดังนี้

  • กรณีผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์งานในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ผู้สร้างสรรค์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น ยกเว้นทำหนังสือข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานนั้น (มาตรา 9)
  • กรณีผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์งานในฐานะรับจ้างงานของบุคคลอื่น  ผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น ยกเว้นตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา 10)  ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือ
  • กรณีผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์งานในฐานะผู้รวบรวมงานงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ มีการคัดเลือก หรือจัดลำดับในลักษณะมิได้ลอกเลียนงานของผู้อื่น และไม่กระทบสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เดิมที่มีอยู่ในงาน  ผู้รวบรวมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ (มาตรา 12)
  • สำหรับการสร้างสรรค์งานในฐานะเป็นลูกจ้างพนักงานของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น   หน่วยงานเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานที่ได้สร้างสรรค์ ยกเว้นตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร (มาตรา 14)

     อย่างไรก็ตามกรณีการสร้างสรรค์งานในฐานะของลูกจ้างพนักงานของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น  ถ้าในการสร้างสรรค์งานขึ้นมานั้นไม่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ของตน ผู้สร้างสรรค์ย่อมมีสิทธิในผลงานลิขสิทธิ์นั้น   เช่นท่านเป็นอาจารย์สอนในคณะวิทยาศาสตร์ แต่ท่านใช้เวลาว่าง หรือนอกเวลาราชการแต่งเพลงรักเพื่อให้เกิดสุนทรียภาพทางอารมณ์ สิทธิในลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นย่อมเป็นของอาจารย์ท่านนั้น มิได้เป็นของมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานต้นสังกัดแต่ประการใด

ตามที่ได้กล่าวถึงในบทความวารสารฉบับที่ผ่านมาว่า งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศไทย ครอบคลุมงาน 9 ประเภท  คำถามคือมีกรณีใดหรือไม่ที่ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์   คำตอบคือมี โดยกฎหมายได้กำหนดไว้ในมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์  ประกอบด้วย

  1. ข่าวประจำวัน ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เป็นเพียงข่าวสารโดยมิใช่งานในแผนกวรรณคดี  แผนกวิทยาศาสตร์  หรือแผนกศิลปะ 
  2. รัฐธรรมนูญ  และกฎหมาย
  3. ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือตอบโต้ของ กระทรวง  ทบวง  กรม  หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
  4. คำพิพากษา  คำสั่ง  คำวินิจฉัย  และรายงานของทางราชการ   และ
  5. คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตามข้อ 1 ถึง 4 ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น    

     มาถึงจุดนี้ ท่านทั้งหลายคงเข้าใจในงานอันมีลิขสิทธิ์มากขึ้นในระดับหนึ่ง  แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผมอยากจะยกตัวอย่างคดีความเกี่ยวกับงานอันมีลิขสิทธิ์เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น ไม่ทราบว่าท่านจำเรื่องราวขององค์จาตุคามรามเทพที่มีกระแสครึกโครมอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งได้หรือไม่    เรื่องดังกล่าวได้เป็นคดีความในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คดีหมายเลขคำที่ อ.2984/2545 คดีหมายเลขแดงที่ อ.979/2547 เกี่ยวกับลิขสิทธิ์องค์จตุคามรามเทพยอดเสาหลักเมือง ผ้ายันต์พระโพธิสัตว์พังพระกาฬ  และผ้ายันต์สุริยันจันทรา โดยผู้เสียหายเป็นซึ่งเป็นกรรมการผู้รับผิดชอบในการสร้างศาลหลักเมืองเป็นผู้ให้ความคิดในการจัดทำงานศิลปกรรมเสาหลักเมืองและวัตถุมงคลดังกล่าวและมอบหมายให้บุคคลอื่นเขียนลวดลายศิลปกรรม โดยบางครั้งผู้เสียหายได้ออกแบบโดยสะเก็ดภาพประกอบ ต่อมาผู้เสียหายได้แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา และสำนักลิขสิทธิ์กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ไว้     พนักงานอัยการจังหวัดนครศรีธรรมราชและผู้เสียหายร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยสี่รายร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปกรรม ลักษณะงาน ประติมากรรมและงานภาพพิมพ์ ของผู้เสียหาย อันได้แก่เศียรขององค์จตุคามรามเทพยอดเสาหลักเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผ้ายันต์พระโพธิสัตว์พังพระกาฬ และผ้ายันต์สุริยันจันทรา โดยการโดยทำซ้ำ ดัดแปลง และขายเศียรขององค์จตุคามรามเทพ จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ ข้อพิจารณาของศาลคือผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมตามฟ้องหรือไม่  

     คดีดังกล่าวศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยว่าผู้มีสิทธิในงานหรือเป็นเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ในฐานะผู้สร้างสรรค์งานไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำงานขึ้นหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ ต้องมีลักษณะที่ผู้นั้นได้ใช้ความรู้ วิจารณญาณ ฝีมือ ทักษะ แรงงาน หรือการตัดสินใจที่ทำให้เกิดงานนั้นขึ้น ในคดีนี้ผู้เสียหายมิได้เป็นผู้จัดทำงานขึ้นเอง แต่เป็นผู้ให้ความคิดในการจัดทำงานศิลปกรรมแม้จะได้ความว่าการแสดงความคิดในบางครั้งได้ออกแบบโดยสะเก็ดภาพประกอบ แต่ก็เป็นเพียงภาพวาดที่ไม่ได้ให้รายละเอียดใด ๆ ไว้ เป็นเพียงการแสดงขอบเขตของงานกว้าง ๆ และมิได้แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับงานศิลปกรรมตามฟ้อง อีกทั้งผู้เสียหายมิได้ว่าจ้างให้บุคคลอื่นออกแบบหรือจัดทำขึ้น แต่ผู้ออกแบบจัดทำงานศิลปกรรมขึ้นเป็นการอาสาทำให้เพราะเป็นของคู่บ้านคู่เมืองและไม่คิดค่าจ้างเนื่องจากว่าเป็นการออกแบบให้เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะสำหรับการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์และการรับแจ้งข้อมูลของสำนักลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญานั้น ไม่อาจถือได้ว่าผู้เสียหายได้มาซึ่งสิทธิโดยชอบแต่อย่างใด โดยการได้มาซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย การจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ มิใช่การรับรองว่าผู้จดแจ้งเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้นำมาจดแจ้ง แต่เป็นเพียงการที่ทางราชการเปิดโอกาสให้ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของงานได้จัดทำบันทึกการสร้างสรรค์งานนั้น ไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น    พิพากษายกฟ้อง

     สิ่งที่อยากเรียนให้ทุกท่านทราบคือสิ่งที่ผมได้กล่าวไว้ในบทความฉบับที่ผ่านมากล่าวคือการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์เป็นไปในลักษณะการแจ้งข้อมูลให้กรมทรัพย์สินทางปัญญารับทราบเท่านั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญามิได้ตรวจสอบงานที่แจ้งข้อมูลว่าละเมิดงานของผู้ใดหรือไม่ หรือผู้แจ้งข้อมูลเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานชิ้นนั้นเท็จจริงประการใด   ดังนั้นการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อท่านเป็นเป็นผู้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมาด้วยตัวเองอย่างแท้จริง

     ประเด็นสุดท้ายที่อยากให้ข้อมูลกับทุกท่าน คือโทษในคดีความผิดเกี่ยวกับการละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น เป็นคดีที่มีโทษค่อนข้างหนัก  ถ้าการกระทำความผิดเป็นการกระทำเพื่อการค้า ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสองปีหรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   ถึงแม้ศาลท่านจะมีเมตตาอย่างไร โทษขั้นต่ำคือปรับ 50,000 บาท มีบางคนขายซีดีเถื่อนไม่กี่แผ่นก็ต้องโดนปรับ ไม่มีเงินจ่ายก็ต้องติดคุกแทนค่าปรับ  ท่านทราบหรือไม่ว่าถ้าไม่มีเงินจ่ายค่าปรับและต้องติดคุกแทนค่าปรับต้องติดกี่วัน   .....เฉลยว่าการติดคุก 1 วันเทียบเท่ากับค่าปรับ 200 บาท  ต้องติดกี่วันท่านก็ตั้งหารกันเองนะครับ

เอกสารอ้างอิง

  • ราชกิจจานุเบกษา. (2537). พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537. วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2537 เล่ม 111 ตอนที่ 59 ก หน้า   286-288. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา.
  • คำพิพากษา ศาลฎีกา. ความผิดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (2551). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา :  http://www.cipitc.or.th/documents/supremefile/SC171_51.pdf  (16 กันยายน 2551)

คำสำคัญ :
กลุ่มบทความ :
หมวดหมู่ :
แชร์ :
https://erp.mju.ac.th/acticleDetail.aspx?qid=66
ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : การเมือง การปกครอง กฎหมาย