ลิขสิทธิ์..ตัวชี้วัดใหม่ กพร.
วันที่เขียน 18/1/2554 13:50:27     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 15/12/2567 6:40:56
เปิดอ่าน: 8189 ครั้ง

การได้มาซึ่งงานลิขสิทธิ์มีความซับซ้อนไม่มากนัก และเชื่อได้ว่าบุคลากรของมหาวิทยาลัยทุกท่านเคยเป็นผู้สร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์มาแล้วทั้งสิ้น

     สำหรับสารพันข่าว IP ฉบับนี้ ขอนำเสนอในประเด็นเกี่ยวกับตัวชี้วัดใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ที่ปรากฏในกรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการของสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานด้านงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ ตัวชี้วัดที่ 4.2.3 ร้อยละของผลงานวิชาการที่ได้รับการจดลิขสิทธิ์และได้รับรองคุณภาพจากหน่วยงานที่เชื่อได้ต่ออาจารย์ประจำ/นักวิจัยประจำ

     แต่เดิมถ้าพูดถึงตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาที่ กพร. กำหนดไว้ในปีงบประมาณที่ผ่านๆ มา มีเพียงจำนวนผลงานวิจัยหรืองานสร้างสรรค์ที่ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรเท่านั้น  ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 เป็นปีแรกที่ กพร. ได้กำหนดให้ลิขสิทธิ์เป็นตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาอีกประเภทหนึ่งที่นำมาใช้ประเมินผลการปฏิบัติราชการของสถาบันอุดมศึกษา ทั้งนี้เงื่อนไขการนับผลงานที่ได้รับการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ จะนับได้ต่อเมื่อได้รับหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้วเท่านั้น ถ้าอยู่ในระหว่างการยื่นคำขอจะไม่นับแต่อย่างใด ทั้งนี้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษากลุ่มที่ 1 กลุ่มสถาบันเน้นการผลิตบัณฑิตและวิจัย ได้รับตัวชี้วัดเป็นจำนวนร้อยละ 80 ของจำนวนอาจารย์ประจำ/นักวิจัยประจำ ซึ่งเมื่อคิดแล้วพบว่ามีจำนวน 362 ผลงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานที่มีอาจารย์และนักวิจัยประจำได้ทำข้อตกลงรับเกณฑ์ดังกล่าวจากมหาวิทยาลัยไปแล้วเช่นกัน

     เมื่อเห็นตัวเลขที่มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการ หลายท่านอาจตกใจ และมองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาในรายละเอียดว่าการได้มาซึ่งงานลิขสิทธิ์นั้นมีความซับซ้อนไม่มากนัก กอปรกับเชื่อได้ว่าบุคลากรของมหาวิทยาลัยทุกท่านเคยเป็นผู้สร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์มาแล้วทั้งสิ้น เพียงแต่ท่านจะทราบหรือไม่เท่านั้น ในความเป็นจริงงานอันมีลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้มาโดยอัตโนมัติทันทีที่ท่านสร้างสรรค์งานของท่านเสร็จและไม่ได้ไปลอกเลียนแบบงานของผู้อื่น  แต่เนื่องจากท่านอาจไม่มีหลักฐานอย่างเป็นทางการใดๆ ที่จะแสดงได้ว่าสร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร  กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้เปิดช่องทางให้ทุกท่านสามารถแจ้งข้อมูลไว้กับกรมฯ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการแจ้งข้อมูลมิได้เป็นสิ่งยืนยันว่าท่านเป็นเจ้าของงานจริง เพียงแต่เป็นการแสดงเจตนาของท่านเพื่อเก็บเป็นข้อมูลไว้กับกรมฯเท่านั้น กรมฯ จะไม่ตรวจสอบว่าท่านเป็นเจ้าของงานนั้นเท็จจริงประการใด    

     ในระยะเวลาที่เหลืออยู่ประมาณ 5 เดือน การจะบรรลุตัวชี้วัดในเรื่องลิขสิทธิ์ให้ได้ ลำดับแรก  ทุกท่านควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่สร้างสรรค์ได้ไม่ยาก อาจารย์หรือนักวิจัยทุกท่านต้องเกี่ยวข้อง แต่ละคณะอาจมีประเภทของงานลิขสิทธิ์เหมือนหรือแตกต่างกันไป ซึ่งไม่เพียงคณะในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น คณะในสายงานอื่นๆ เช่นสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ หรือศิลปศาสตร์ ต่างก็มีงานลิขสิทธิ์อยู่เป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน ในลำดับต่อมาหลังจากที่เข้าใจพื้นฐานงานลิขสิทธิ์แล้ว ควรต้องเข้าใจในวิธีการกรอกเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความเสี่ยงที่ควรรู้ด้วยเช่นกัน  ทั้งนี้แต่ละคณะสามารถติดต่อให้ UBI เข้าไปให้ข้อมูลในเรื่องลิขสิทธิ์ทั้งหมดได้โดยตรง เพื่อให้ทุกคณะสามารถบรรลุตัวชี้วัดในเรื่องลิขสิทธิ์ตามที่ท่านได้ทำข้อตกลงไว้กับมหาวิทยาลัย

คำสำคัญ :
กลุ่มบทความ :
หมวดหมู่ :
แชร์ :
https://erp.mju.ac.th/acticleDetail.aspx?qid=64
ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : การเมือง การปกครอง กฎหมาย