ว่าด้วยเรื่องของลิขสิทธิ์#1
วันที่เขียน 18/1/2554 13:56:15     แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 16:10:32
เปิดอ่าน: 9544 ครั้ง

ลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทแรกของไทยที่มีกฎหมายคุ้มครองมากว่า 108 ปี

ท่านคงคุ้นเคย หรือเคยใช้ข้อความเหล่านี้ หรือไม่? “มีผลงานวิจัยใหม่ๆ ทำไมไม่ไปจดลิขสิทธิ์”   “สมัยนี้ถ้าคิดอะไรได้ให้จดลิขสิทธิ์ไว้ก่อน” หรือข้อความอื่นใดที่นำพาเรื่องลิขสิทธิ์เข้าไปเกี่ยวข้อง

     มีคำถามว่าข้อความที่ปรากฏถูกต้องหรือไม่ อย่างไร  คำตอบคือมีส่วนถูกแต่เข้าใจผิดโดยส่วนใหญ่   การกล่าวถึงทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่คนทั่วไปรู้จักคือลิขสิทธิ์มีส่วนถูกต้อง แต่ใจความที่เข้าใจผิดคือนัยที่เหมารวมว่า ทรัพย์สินทางปัญญาคือลิขสิทธิ์ ทั้งที่ลิขสิทธิ์คือทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งเท่านั้น

     บุคคลทั่วไป รวมทั้งบุคลากรในสถาบันการศึกษา ทุกคนต้องสัมผัสงานอันมีทรัพย์สินทางปัญญาไม่ทางใดก็ทางหนึ่งทุกๆ วัน โดยเฉพาะงานอันมีลิขสิทธิ์   ถ้าท่านเคยอ่านหรือเขียนหนังสือ   ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ถ่ายรูป วาดรูป  ฯลฯ   สิ่งเหล่านี้คืองานอันมีลิขสิทธิ์   ด้วยเหตุที่งานอันมีลิขสิทธิ์ใกล้ชิดกับทุกๆ คน เป็นผลให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภทคือลิขสิทธิ์ ในความเป็นจริงแล้ว ทรัพย์สินทางปัญญาของไทยมีด้วยกันหลายประเภทและมีมากกว่าหนึ่งหน่วยงานดูแล ลิขสิทธิ์เป็นเพียงหนึ่งในทรัพย์สินทางปัญญาหลายประเภทที่ว่านั้น  กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบ 8 ประเภท กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบ 1 ประเภท และสถาบันการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบอีก 1 ประเภท    

     ท่านทราบหรือไม่ว่า “ลิขสิทธิ์” เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทแรกของไทยที่มีกฎหมายคุ้มครองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5  นับถึงปัจจุบันมีอายุถึง 108 ปี  กฎหมายที่ว่าคือ “พระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร.ศ.120” กล่าวถึงกรรมสิทธิ์ในหนังสือที่ตนเองได้แต่งขึ้นเปรียบเหมือนทรัพย์สมบัติของตน สามารถจัดพิมพ์  แปลเป็นภาษาอื่น  จำหน่ายหรือขายหนังสือได้แต่เพียงผู้เดียว ผู้อื่นจะกระทำการใดต้องขออนุญาต  อายุการคุ้มครองของกรรมสิทธิ์ให้คงอยู่ตลอดอายุของผู้แต่งหนังสือ และคงอยู่ไปอีก 7 ปี หลังผู้แต่งเสียชีวิต  แต่ถ้ารวมเวลาตั้งแต่ผู้แต่งได้รับกรรมสิทธิ์รวมกับระยะเวลา 7 ปีแล้วยังไม่ครบ 42 ปี ผู้แต่งเสียชีวิตไปก่อน ให้กรรมสิทธิ์คงอยู่จนครบ 42 ปี  โดยเป็นมรดกของผู้รับมรดกต่อไป ต่อมาสมัยราชกาลที่ 6 ได้ออก “พระราชบัญญัติ แก้ไขพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ พ.ศ. 2457” เพื่อขยายขอบเขตของพรบ. ให้ประโยชน์ไปถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแต่งหนังสือ เช่นครูอาจารย์ เป็นต้น   รวมทั้งได้นิยามให้ความหมายคำว่าหนังสือให้ครอบคลุมถึงสิ่งพิมพ์อื่นๆ เช่น บทเพลง แผนที่ หรือบทละคร ตลอดจนกล่าวถึงรูปแบบและวิธีการจดทะเบียนหนังสือกับหน่วยงานของรัฐ    
ปัจจุบัน ประเทศไทยใช้ “พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537” เป็นกฎหมายคุ้มครองในงานอันมีลิขสิทธิ์ ครอบคลุมงานอันมีลิขสิทธิ์ 9 ประเภท ประกอบด้วยงานวรรณกรรม โดยรวมโปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้าไว้ด้วย  งานนาฏกรรม งานศิลปกรรม  สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ ดนตรีกรรม งานแพร่เสียงแพร่ภาพ และงานอื่นใดอันเป็นงานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ     ผู้สร้างงานอันมีลิขสิทธิ์เรียกว่าผู้สร้างสรรค์   เจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้ทรงลิขสิทธิ์ อาจเป็นบุคคลเดียวกับผู้สร้างสรรค์หรือไม่ก็ได้  พรบ.ฉบับนี้ให้การคุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น   อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ  รวมทั้งการโอนสิทธิ   โดยทั่วไปลิขสิทธิ์มีอายุคุ้มครองตลอดชีวิตผู้สร้างสรรค์ เช่นเดียวกับ พรบ. กรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร.ศ.120 แต่คุ้มครองต่อจากเสียชีวิตไปอีก 50 ปี มากกว่ากฎหมายเดิม  กรณีของนิติบุคคลจะคุ้มครอง 50 ปี หลังจากแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ การคุ้มครอง เป็นไปในลักษณะการแจ้งข้อมูลให้กรมทรัพย์สินทางปัญญารับทราบเท่านั้น เพราะโดยแท้จริง  สิทธิในงานอันมีลิขสิทธิ์เกิดขึ้นทันทีตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์สร้างงานเสร็จ กรมทรัพย์สินทางปัญญามิได้ตรวจสอบงานที่แจ้งข้อมูลว่าละเมิดงานของผู้ใดหรือไม่ หรือผู้แจ้งข้อมูลเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานชิ้นนั้นเท็จจริงประการใด     อย่างไรก็ตามถ้าผู้สร้างสรรค์สร้างงานขึ้นด้วยเงื่อนไขที่สำคัญ 3 ประการคือหนึ่งสร้างสรรค์งานแล้วเสร็จ ได้แสดงออกซึ่งความคิดของผู้สร้างสรรค์ออกมาเป็นชิ้นงานแล้ว (expression of idea)   สองไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร สร้างสรรค์งานออกมาจากความคิดของตน (originality) และสามเข้าข่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ 9 ประเภทที่ได้กล่าวถึงแล้ว ถือว่าผู้สร้างสรรค์มิได้ละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น แม้ว่าท่านจะสร้างสรรค์งานออกมาคล้ายกับงานของผู้อื่นก็ตาม

     กรณีงานเขียน หรือแต่งตำรา เป็นงานที่บุคลากรในวงการศึกษาได้สัมผัสโดยตลอด  ดังนั้นโอกาสการละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โดยการคัดลอก ทำซ้ำ หรือเลียนแบบ ดัดแปลงงานของผู้อื่น เป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้    สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือการสร้างสรรค์งานเขียนของท่านกระทำเพื่อการใด ถ้ากระทำเพื่อการศึกษาและงานวิจัยอย่างแท้จริงโดยไม่มีเรื่องของการพาณิชย์เพื่อหากำไรเข้ามาเกี่ยวข้อง กฎหมายได้ให้ข้อยกเว้นไว้ แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงการกระทำที่เกินสมควร  ประกอบด้วย  คำว่าเกินสมควรไม่มีนิยามอย่างชัดเจน ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไปว่าเกินสมควรของแต่ละกรณีคือเท่าไรหรืออย่างไร ยกตัวอย่างคดีความคดีหนึ่งที่ศาลพิจารณาว่าการทำซ้ำดัดแปลงเอกสารของผู้อื่นจำนวน 30 หน้า จากทั้งหมด 150 หน้า พร้อมทั้งนำเอกสารที่จัดทำขึ้นจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ แม้ว่าจะจำหน่ายในราคาถูก และได้อ้างอิงเอกสารไว้ในบรรณานุกรมแล้วก็ตาม  ถือว่าเป็นการกระทำที่เกินสมควร และได้ละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ในโอกาสต่อไป จะได้นำเสนอประเด็นของลิขสิทธิ์ในแง่มุมอื่นๆ ให้ทุกท่านได้รับทราบ เช่นใครคือผู้ทรงสิทธิ์ในงานอันมีลิขสิทธิ์  ตัวอย่างคดีที่เกี่ยวข้องกับงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ใกล้ตัวท่าน รวมทั้งการรับโทษในคดีการละเมิดลิขสิทธิ์
ช่วงท้ายของบทความ ขอฝากประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาไปยังทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับแหล่งทุนต่างๆ ทราบว่า ปัจจุบันแหล่งทุนเกือบทุกแห่งให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นขอให้ทุกท่านพิจารณาเนื้อหาในสัญญารับทุนวิจัย ในข้อที่กล่าวถึงทรัพย์สินทางปัญญาภายหลังการดำเนินงานวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว เนื่องจากอาจนำไปสู่การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาโดยไม่ตั้งใจได้   กล่าวคือเนื้อหาสัญญารับทุนวิจัยส่วนใหญ่จะกล่าวถึงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นภายหลังเสร็จสิ้นงานวิจัยว่าจะเป็นของผู้ใด ผู้ใดคือผู้ทรงสิทธิหรือเจ้าของ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากกรณีท่านมิใช่ผู้ทรงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้น การนำทรัพย์สินทางปัญญาไปแจ้งข้อมูลหรือจดทะเบียนด้วยตนเอง หรือดำเนินการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ จะเป็นการดำเนินการที่กระทำโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา  ดังนั้นขอให้ทุกท่านพิจารณาสัญญาให้ถี่ถ้วน ถ้ามีประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาอะไรที่ไม่เป็นธรรม กรณีบุคคลทั่วไปขอให้ติดต่อผู้ให้ทุนวิจัยโดยตรง กรณีของบุคลากรในสถาบันการศึกษาขอให้ติดต่อมหาวิทยาลัยเพื่อเจรจาต่อรองกับผู้ให้ทุนก่อนลงนามในสัญญา 

เอกสารอ้างอิง

  • ราชกิจจานุเบกษา. (2445). พระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร.ศ. 120. วันที่ 18 สิงหาคม ร.ศ.120 เล่ม 18 หน้า 286-288. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา.
  • ราชกิจจานุเบกษา. (2457). พระราชบัญญัติ แก้ไขพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ พ.ศ. 2457. วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2457 เล่ม 31 หน้า 462-470. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา.

คำสำคัญ :
กลุ่มบทความ :
หมวดหมู่ :
แชร์ :
https://erp.mju.ac.th/acticleDetail.aspx?qid=65
ความคิดเห็นทั้งหมด (0)
ไม่มีข้อมูลตามเงื่อนไขที่ท่านกำหนด
รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หมวดหมู่ : การเมือง การปกครอง กฎหมาย