รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามคำสำคัญ  : ช่อฟ้าลำปาง
การบริการวิชาการสู่ชุมชนด้านการทำนุบำรุงมรดกทางวัฒนธรรม » ช่อฟ้าแบบลำปาง
รูปแบบช่อฟ้ากลุ่มลำปางอันเป็นอัตลักษณ์เชิงช่าง ก็ต้องกล่าวถึงช่อฟ้าเซรามิกประดับวิหารวัดพระธาตุเสด็จ ที่เป็นช่อฟ้าเซรามิกรูปทรงเป็นพญานาค ที่ระบุว่าสร้างในปี จ.ศ. 1008 หรือ พ.ศ. 2189 ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่ชาติหริภุญชัย และช่อฟ้าเซรามิกจากวิหารหลวงวัดพระธาตุลำปางหลวง ที่ปัจจุบันถอดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งเชื่อว่าถูกสร้างขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน เพราะรูปแบบของช่อฟ้าทั้งสอง มีลักษณะเหมือนกันคือมีปราสาทผ่าครึ่งต่อสันหลังช่อฟ้า อันเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้รูปแบบช่อฟ้านั้นสมบูรณ์ และอีกหนึ่งชิ้น คือช่อฟ้าประดับวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง โดยช่อฟ้าทั้งสามชิ้นนี้ทำจากดินเผาเคลือบสีเขียวแกมน้ำตาลเข้ม หรือที่ช่างเรียกว่าน้ำก้าบ ซึ่งเมื่อดูช่วงอายุของงานและอ้างตามจารึกการสร้างวิหารพบว่ามีอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 รูปแบบช่อฟ้าดังกล่าว ยังส่งอิทธิพลถึงรูปแบบช่อฟ้าในเมืองลำปางในช่วงระยะเวลาต่อมา แต่เป็นรูปแบบที่ปราสาทผ่าครึ่งหายไปเหลือแต่ตัวช่อฟ้า ดังปรากฏรูปแบบช่อฟ้าประดับวิหารโคมคำ วัดพระธาตุเสด็จ ที่สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2366 โดยพระเจ้าสุวรรณหอคำดวงทิพย์ ผู้ครองนครลำปาง และช่อฟ้าประดับวิหารไม้โบราณ วัดคะตึกเชียงมั่น ดังจารึกปีที่สร้างคือ พ.ศ. 2375 ซึ่งถึงแม้ว่าจะผ่านการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง แต่รูปแบบช่อฟ้าดังกล่าวก็ยังคงอยู่และยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ช่อฟ้าแบบงานช่างศิลป์ลำปางไว้อย่างชัดเจน รูปแบบช่อฟ้าอีกแบบหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในเมืองลำปาง ช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา คือช่อฟ้าแบบศิลปะเชียงแสน ที่เข้ามาโดยกลุ่มช่างชาวเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาสู่เมืองลำปางในช่วงเวลาดังกล่าว ในยุคของพระเจ้ากาวิละ เกิดวิหารสกุลช่างเชียงแสนมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทางรูปทรงที่มีเอกลักษณ์ชัดเจนกระจัดกระจายหลายพื้นที่ในจังหวัดลำปาง ดังปรากฏรูปแบบช่อฟ้าประดับวิหารวัดสุชาดาราม ที่สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2325-2352 รูปแบบช่อฟ้าประดับวิหารวัดหัวข่วง ที่มีอายุรุ่นเดียวกันกับวิหารวัดสุชาดาราม รูปแบบช่อฟ้าประดับวิหารวัดป่าดัวะ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2430 โดยเจ้าวรวงค์และเจ้าอินตุ้ม ณ ลำปาง รูปแบบช่อฟ้าประดับวิหารวัดนางเหลียว สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2470 และรูปแบบช่อฟ้าประดับวิหารวัดศรีล้อม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2496 ช่อฟ้าประดับวิหารทั้ง 5 หลังนี้ แสดงให้เห็นถึงการยังคงไว้ซึ่งงานช่างเชียงแสน ที่ส่งผ่านงานศิลปกรรมประดับศาสนาสถาน ในช่วงระยะเวลาเกือบ 2 ศตวรรษ ถึงแม้ว่าชาวเชียงแสนจะถูกโยกย้ายถิ่นฐาน แต่ก็ยังคงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนไว้บนพื้นที่เมืองลำปาง จนท้ายที่สุดกลายเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมเมืองที่สำคัญ จากเส้นทางเวลาของรูปแบบช่อฟ้าบนพื้นที่จังหวัดลำปาง ก็พอมีเรื่องเล่าเพียงเท่านี้ เพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมที่ส่งถึงกันในพื้นที่เมืองลำปาง จากอดีตถึงปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ
คำสำคัญ : ช่อฟ้าลำปาง  
กลุ่มบทความ : บทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วไป
หมวดหมู่ : ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
สถิติการเข้าถึง : เปิดอ่าน 1923  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
ผู้เขียน ฐาปกรณ์ เครือระยา  วันที่เขียน 26/8/2564 13:42:04  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 21/11/2567 15:51:02