|
เผยแพร่อบรม สัมมนา
»
กระแสของผู้บริโภคด้านอาหารในปัจจุบัน
|
ข้าพเจ้า นางสาวจุฑามาศ มณีวงศ์ ตำแหน่ง อาจารย์ สังกัด สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ ขอนำเสนอรายงานสรุปเนื้อหาและการนำไปใช้ประโยชน์จากการเข้าร่วมประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ในการเข้าร่วมประชุมวิชาการและนำเสนอผลงาน ในงานประชุม “2019 International Joint Conference on JSAM and SASJ, and CIGR VI Technical Symposium Joining FWFNWG and FSWG Workshop” ณ มหาวิทยาลัยฮอกไกโด เมืองซับโปโร ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 3-6 กันยายน 2562 ตามหนังสือขออนุญาตเข้าร่วมประชุมวิชาการและเสนอผลงานวิชาการในรูปแบบโปสเตอร์ เลขที่ อว 69.4.4/54 ลงวันที่ 17 เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2562 นั้น จึงขอนำเสนอสรุปเนื้อหาและการนำไปใช้ประโยชน์ของการเข้าร่วมประชุม ดังต่อไปนี้
ในงานประชุมวิชาการครั้งนี้ ได้รับความรู้จากการบรรยาย เรื่อง แนวทางการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาอาหารให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคด้านโภชนาการและอาหารปลอดภัย และ เรื่องการยืดอายุการเก็บรักษาปลาซาดีนและหอยเซลล์โดยใช้วิธี high hydrostatic pressure โดยสรุปเนื้อหาของงานดังนี้
หัวข้อ แนวทางการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาอาหารให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคด้านโภชนาการและอาหารปลอดภัย โดย Dongxiao Sun-Waterhouse ได้บรรยายเกี่ยวกับ การวิจัยค้นคว้าและพัฒนากระบวนการผลิตอาหารสำหรับผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือคุณค่าทางโภชนาการ คุณภาพของอาหารและอาหารปลอดภัย ผู้บริโภคในปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้ในกระบวนการผลิตอาหารเพื่อให้อาหารนั้นยังคงมีคุณค่าหรือมีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่ทำให้อาหารนั้นสะดวกต่อการบริโภคมากขึ้น กระแสความต้องการของผู้บริโภคอาหาร ได้แก่ 1) อาหารต้องไม่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยหรือการอักเสบ 2) อาหารต้องส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร 3) อาหารมีปริมาณน้ำตาลต่ำหรือไม่มีน้ำตาล 4) เครื่องดื่มมีปริมาณน้ำตาลต่ำและแคลอรีต่ำ 5) ความชอบส่วนบุคคลของผู้บริโภค เช่น ผู้ที่บริโภคมังสวิรัติ, ผู้ที่ชอบบริโภคเนื้อ หรือวัฒนธรรมการบริโภคอาหารแต่แหล่ง 6) วัตถุดิบหรือส่วนผสมจากพืช 7) เป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ดี 8) ชนิดและปริมาณโปรตีนในอาหาร 9) ชนิดและปริมาณไขมันในอาหาร 10) ของกินเล่นทำจากวัตถุดิบที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ถั่ว หรือ ผลไม้ เป็นต้น
จากกระแสความต้องการของผู้บริโภค ดังที่กล่าวมาแล้ว การติดฉลากเพื่อบ่งบอกส่วนประกอบและคุณค่าทางโภชนาการบนผลิตภัณฑ์นั้นมาความสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค โดย Dongxiao Sun-Waterhouse ได้ทำการวิจัยสำรวจ พบว่าการติดฉลากที่บ่งบอกคุณค่าทางโภชนาการและความปลอดภัยของอาหารบนผลิตภัณฑ์ มีผลต่อการตัดสินใจบริโภคในปัจจุบันเป็นอย่างมาก
และได้รับฟังการบรรยาย เรื่องการยืดอายุการเก็บรักษาปลาซาดีนและหอยเซลล์โดยใช้วิธี high hydrostatic pressure โดย Amauri Rosenthal จากการบริโภคปลาซาดีนและหอยเซลล์ มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น จึงมีการหาวิธีในการยืดอายุเก็บรักษาให้ได้ยาวนานขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบ ในงานวิจัยนี้ใช้ High hydrostatic pressure (HHP) ช่วยในการยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร โดยใช้ HHP ที่ความดัน 300-400 MPa กับปลาซาดีนและหอยเซลล์ นาน 0-15 นาที วิเคราะห์หาปริมาณจุลินทรีย์ที่เหลือรอดและเจริญระหว่างการเก็บรักษาในตู้เย็น (4-5 องศาเซลเซียส) จากผลการทดลองพบว่าการใช้ความดันสูงและเวลานานสามารถลดปริมาณจุลินทรีย์ที่สามารถเจริญที่อุณหภูมิทั่วไปและจุลินทรีย์ที่สามารถเจริญในที่อุณหภูมิต่ำในปลาซาดีนและหอยเซลล์ได้ เมื่อเก็บไว้นาน 21 วัน จากการวิเคราะห์โปรตีนพบว่าเนื้อสัมผัสของโปรตีนเปลี่ยนแปลงไปในเชิงลบ ส่วนกรดนิวคลีอิกบางส่วนถูกทำลาย นอกจากนี้ยังพบการเกิดการเร่งปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมันในหอยเซลล์อีกด้วย จึงสรุปได้ว่า HHP สามารถยืดอายุการเก็บรักษาปลาซาดีนและหอยเซลล์ได้นานขึ้น ลดการเจริญของจุลินทรีย์ในระหว่างการเก็บรักษาในตู้เย็น แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ การสูญเสียกรดนิวคลีอิกในอาหาร อีกทั้งยังมีการเกิดสารชนิดอื่นขึ้นอีกด้วย ซึ่งสารดังกล่าวควรมีการตรวจสอบว่ามีความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคหรือไม่
นอกจากนี้ ข้าพเจ้าได้นำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบโปสเตอร์ เรื่อง Effect of Sucrose and Glucose on Coffee Kombucha Carbonation
จากการเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ ทราบแนวโน้มและกระแสของการบริโภคอาหารของผู้บริโภคในปัจจุบัน เพื่อจะได้นำมาประยุกต์ใช้การเรียนการสอนรายวิชา ชว 453 เทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร ต่อไป
|
คำสำคัญ :
คุณค่าทางโภชนาการ อาหารปลอดภัย อาหารสุขภาพ
|
กลุ่มบทความ :
กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร
|
หมวดหมู่ :
กลุ่มงานสายวิชาการ
|
สถิติการเข้าถึง :
เปิดอ่าน
1536
ครั้ง | แสดงความคิดเห็น
0
ครั้ง
|
ผู้เขียน
จุฑามาศ มณีวงศ์
วันที่เขียน
27/9/2562 12:09:02
แก้ไขล่าสุดเมื่อ
22/11/2567 2:52:11
|
|
|