ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ ดังคำที่ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ที่มิได้หมายเพียงแค่ข้าว ปลา อาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความหลากหลายทางพืชพันธุ์ธรรมชาติต่างๆ ที่นำมาซึ่งการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศอย่างมากมาย แต่กระนั้นในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระแสโลกาวิวัฒน์ ทำให้ระบบการสื่อสารและการโฆษณา เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งทั้งต่อวิถีชีวิต ค่านิยม วัฒนธรรม รวมทั้งแบบแผนการบริโภค ที่คำนึงถึงความปลอดภัย สะดวก รวมถึงคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น ด้วยการเข้าถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางต่างๆง่ายขึ้น
จังหวัดเชียงใหม่ถือว่าเป็นหัวเมืองใหญ่ในภาคเหนือ ที่ผู้บริโภคนิยมบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างแพร่หลาย ซึ่งสอดรับกับกระแสการบริโภคในปัจจุบัน ที่กลุ่มคนมีความรู้ และตระหนักในเรื่องการดูแลและใส่ใจสุขภาพ หันมานิยมบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ทั้งนี้กล้วยหอมเขียวคาเวนดิช นับเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ชนิดหนึ่ง ด้วยผู้รับซื้อไม่อนุญาตให้ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตอย่างเด็ดขาด (กรวัฒน์, 2560) และเป็นกล้วยเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกด้วยปริมาณการบริโภคกว่า 100-120 ล้านตันต่อปี มูลค่าการบริโภคมากกว่าล้านล้านบาททั่วโลก ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 95% เมื่อเทียบกับกล้วยหอมทองหรือกล้วยหอมเหลืองที่มีสัดส่วนการบริโภคเพียง 5% เท่านั้น โดยประเทศที่มีการปลูกกันมาก คือ เอกวาดอร์ ฟิลิปปินส์และอเมริกาใต้ ส่วนประเทศผู้บริโภคและนำเข้ารายใหญ่ คือ อเมริกา ยุโรปและจีน (หนึ่งฤทัย,2560) อีกทั้งกล้วยหอมเขียวคาเวนดิช มีลักษณะเด่นคือ เปลือกหนา ทำให้ขนส่งง่าย ไม่บอบช้ำ อีกทั้งรสชาติหวานน้อย จึงเหมาะกับกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ (มติชน, 2560) อีกทั้งนักกีฬามนิยมรับประมานกล้วยชนิดนี้ก่อนแข่งขันหรือตอนพักแข่ง เพราะไม่ทำให้จุก และมีน้ำตาลซูโครส ฟรุกโตส และกลูโคส ที่ร่างกายนำไปใช้สร้างพลังงานได้ทันที กินกล้วย 1 ลูก จะให้พลังงานประมาณ 100 กิโลแคลอรี เท่ากับการเดินติดต่อกัน 1 ชั่วโมง (กรวัฒน์, 2560) แต่ในประเทศไทยกลับยังไม่เป็นที่นิยมบริโภคมากนัก อีกทั้งพื้นที่ปลูกยังมีไม่มากนัก โดยพื้นที่ปลูกในภาคเหนือแหล่งใหญ่คือจังหวัดเชียงราย เพื่อส่งออกประเทศจีน (ดลมนัส, 2560)
ทั้งนี้ด้วยคุณค่าทางโภชนาการของกล้วยหอมที่มีในทุกระดับความสุก จึงทำให้กล้วยหอมเป็นสินค้าเกษตรที่มีโอกาสเติบโตในตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ด้วยคุณประโยชน์ที่ในทุกระดับความสุกของกล้วย หากมีการแสดงระดับสี เพื่อบอกระดับความสุกและคุณประโยชน์ จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่กล้วย ด้วยสามารถเป็นหนึ่งช่องทางที่ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อกล้วยได้ในทุกระดับของความสุก อย่างไรก็ตามเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมเขียวคาเวนดิช ในพื้นที่จังหวัดพะเยา กลับประสบปัญหาจากการโดนนายทุนหลอกให้ปลูก และไม่รับซื้อหรือรับซื้อในจำนวนเล็กน้อย ไม่เป็นตามข้อสัญญา อีกทั้งจ่ายเงินไม่ตรงตามกำหนดนัดหมาย ทำให้เกษตรกรเกิดความเดือดร้อน (คมชัดลึก, 2561) ดังนั้นการศึกษาถึงความต้องการเลือกซื้อกล้วยหอมเขียวคาเวนดิชอินทรีย์ของผู้บริโภคผ่านฉลากอัจฉริยะ จะเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกรและเพิ่มมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรแก่ประเทศ อีกทั้งงานวิจัยนี้ยังสอดคล้องกับการมุ่งสู่มหาวิทยาลัยสีเขียวของมหาวิทยาลัยแม่โจ้อีกด้วย