รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งหมดของ Blog : เผยแพร่ผลงานวิจัย FluidsChE2017 4-6 เมษายน 2560
การประชุมวิชาการ The International Conference on Fluids and Chemical Engineering (FluidsChE 2017) ระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน 2560 เป็นเวทีการประชุมที่จัดขึ้นโดยมุ่งเน้นเพื่อการนำเสนอผลงานวิจัย และการพัฒนา เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานวิจัยที่น่าสนใจในอนาคต ซึ่งการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้นำเสนอผลงานแบบปากเปล่าในหัวข้อ Policosanol extraction from beeswax and improvement of the purity ซึ่งโพลิโคซานอล (Policosanol) คือกลุ่มของแอลกอฮอล์สายตรงยาว (Long chain aliphatic alcohols) ที่มีความยาวคาร์บอน 20-36 อะตอม มีการศึกษาประโยชน์ของโพลิโคซานอลพบว่า สามารถลดคลอเรสเตอรอลในเลือดได้ สามารถป้องกันและรักษาโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ ช่วยยับยั้งการสังเคราะห์คลอเรสเตอรอลและเพิ่มการย่อยสลาย LDL ลดการรวมตัวของเกล็ดเลือด (Platelet aggregation) ลดอันตรายของเยื่อบุหลอดเลือด (Endothelial damage) และลดการสร้าง โฟมเซลล์ ส่วนทางด้านความปลอดภัยนั้น พบว่าการให้โพลิโคซานอลไม่มีพิษต่อยีนทั้งในเซลล์ร่างกายและเซลล์ที่กำลังเจริญเติบโต โดยส่วนใหญ่สกัดจากไขอ้อยและไขผึ้งสำหรับการทำให้โพลิโคซานอลบริสุทธิ์นั้นทำได้ยาก และเนื่องจากคุณสมบัติและองค์ประกอบของไขผึ้งมีความแตกต่างกันไปขึ้นกับแหล่งที่มา ประเทศไทยเป็นแหล่งที่มีเกษตรกรที่ทำฟาร์มเลี้ยงผึ้งอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งผลิตภัณฑ์จากผึ้งล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะไขผึ้ง ซึ่งโดยมากเกษตรกรมักขายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อโดยตรง โดยไขผึ้งที่ขายปลีกในท้องตลาดทั่วไปราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 - 250 บาท แต่การนำไขผึ้งมาผลิตเป็นสารชนิดอื่นๆเพื่อเพิ่มมูลค่ายังไม่มีมากเท่าที่ควร ดังนั้น หากสามารถสกัดโพลิโคซานอลที่บริสุทธิ์จากไขผึ้งได้ รวมทั้งหาจุดเด่นขององค์ประกอบที่มีอยู่ในไขผึ้งที่พบได้ จะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าของไขผึ้ง โดยอาจมุ่งเน้นให้เกษตรกรปรับปรุงการเลี้ยงผึ้งเพื่อให้ได้ไขผึ้งที่มีมูลค่าสูง หรือทำการเก็บ คัดแยกและรักษาไขผึ้งที่ได้ให้ยังคงมีคุณภาพดี ทั้งนี้ภายใต้การให้คำแนะนำของหน่วยงานการเกษตรที่เกี่ยวข้อง หรือการรวมตัวกันของสมาคมผู้ผลิต ทั้งนี้เพื่อเป็นการต่อรองราคาซื้อขายไขผึ้งหากสามารถผลิตไขผึ้งที่มีคุณภาพดี
URL สำหรับอ้างอิงถึงหน้านี้