รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งหมดของ Blog : ข้อกำหนดและการตรวจติดตามภายในตามมาตรฐาน BRC Food Issue และ ข้อกำหนดและการตรวจติดตามภายในตามมาตรฐาน ISO 14001: 2015
1. ในหลักสูตร ข้อกำหนดและการตรวจติดตามภายในตามมาตรฐาน BRC Food Issue 7 ในวันที่ 30-31 มกราคม 2559 โดยวิทยากร คือ คุณธรรมรัตน์ รุ่งสังข์ สรุปได้ว่า
มาตรฐาน BRC หรือ BRC Global standard คือ มาตรฐานสำหรับสุขลักษณะอาหารสำหรับ Brand owner ที่แสดงว่ามีการควบคุม และรับผิดชอบทางด้านกฎหมายต่อความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ และผู้บริโภค และลดการประเมินซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นการสร้างมาตรฐานร่วมกันของกลุ่มค้าปลีกของสหภาพยุโรป โดยมีขอบเขตครอบคลุมถึงกระบวนการผลิตอาหาร suppliers และ วัตถุดิบ โดยการได้มาซึ่งมาตรฐานจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบต่อไปนี้คือ
1.1 ความมุ่งมั่นของฝ่ายบริหารและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการกำหนดโครงสร้างและอำนาจหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน
1.2 มีระบบไปประยุกต์ใช้ และวางแผนการจัดการความปลอดภัยอาหารอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักการของ HACCP Codex
1.3 มีคู่มือคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร
1.4 มีการกำหนดมาตรฐานทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานภายใน และภายนอก รวมทั้งมาตรการในการรักษาความมั่นคง เช่นระบบในการควบคุมการเข้าถึง และความปลอดภัย
1.5 การควบคุมผลิตภัณฑ์ ทั้งในส่วนของการออกแบบ การติดฉลาก การบริหารจัดการสารก่อให้เกิดภูมิแพ้ และมีระบบการสอบย้อนกลับความเป็นจริงของผลิตภัณฑ์ การอ้างถึง รวมถึงโซ่การคุ้มครอง อีกทั้งมีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ และการทดสอบในห้องปฏิบัติการ
1.6 มีการควบคุมกระบวนการผลิต ที่มีระเบียบปฏิบัติ หรือเอกสารที่จะทำได้ถูกต้องสอดคล้องกับ HACCP Plan
1.7 มีการฝึกอบรม ที่จะทำให้บุคลากรที่ทำงานสามารถที่จะทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ปลอดภัย สอดคล้องกับข้อกำหนดกฎหมาย และคุณภาพ
2. หลักสูตรข้อกำหนดและการตรวจติดตามภายในตามมาตรฐาน ISO 14001: 2015 ในวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2559 สรุปได้ว่า
มาตรฐาน ISO 14001 เป็นมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมที่มีประโยชน์ในส่วนช่วยลดต้นทุนในระยะยาว สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร ทำให้องค์กรได้เปรียบในการแข่งขัน เพิ่มโอกาสทางการค้า และการเจรจาต่อรอง โดย ISO 14001 เป็นมาตรฐานที่ถูกปรับเปลี่ยนมาจากระบบบริหารมาตรฐาน ISO ต่างๆ เพื่อลดความยุ่งยาก และความซ้ำซ้อนในการเข้าใจระบบที่ต่างกัน เพื่อทำให้ทั้งหมดอยู่ในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งตามโครงสร้างที่ถูกกำหนดโดย Annex SL มีการกำหนดมาตรฐานไว้ใน 10 หัวข้อ คือ
2.1 ขอบข่าย
2.2 การอ้างอิงเอกสาร
2.3 คำศัพท์ และคำนิยาม
2.4 บริบทขององค์กร
2.5 ความเป็นผู้นำ
2.6 การวางแผน
2.7 ส่วนสนับสนุน
2.8 การปฏิบัติการ
2.9 การประเมินสมรรถนะ
2.10 การปรับปรุง
การนำไปใช้ประโยชน์
1. สามารถนำไปสอนในวิชาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ชว 462 จุลชีววิทยาสิ่งแวดล้อม และ วิชาเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร
2. สามารถนำไปใช้ในวิชา วท 497 สหกิจศึกษาและ วท 498 การเรียนรู้อิสระในการทำวิจัยของนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีชีวภาพทั้งในหลักสูตร และร่วมกับสถานประกอบการ
URL สำหรับอ้างอิงถึงหน้านี้