โครงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย (Enhancement of Safety Practice of Research laboratory in Thailand, ESPReL) เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานคุณภาพความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
แนวทางการดำเนินงานด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ประกอบด้วย 7 องค์ประกอบหลัก (ESPReL Checklist) ดังนี้
1. การบริหารระบบการจัดการความปลอดภัย
1.1 นโยบายและแผน: กลยุทธ์ในการจัดการ/บริหาร ที่รวมถึง ระบบบริหารจัดการ ระบบรายงานและระบบการตรวจติดตาม แผนปฏิบัติการที่ประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ด้านความปลอดภัย ระบบกำกับดูแลที่เป็นรูปธรรม และต่อเนื่อง การสื่อสารให้บุคคลที่เกี่ยวข้องรับทราบ การเพิ่มพูนความรู้และฝึกทักษะด้วยการฝึกอบรมสม่ำเสมอ
1.2 โครงสร้างการบริหาร: ต้องมีองค์ประกอบชัดเจน 3 ส่วน คือ ส่วนอำนวยการ ส่วนบริหารจัดการ และส่วนปฏิบัติการ
1.3 ผู้รับผิดชอบระดับต่าง ๆ: การจัดการสารเคมี การจัดการของเสีย ลักษณะทางกายภาพของห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์และเครื่องมือ การป้องกันและแก้ไขภัยอันตราย การให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ การจัดการข้อมูลและเอกสาร
2. ระบบการจัดการสารเคมี
2.1 การจัดการข้อมูลสารเคมี: ชื่อสารเคมี CAS no. (ถ้ามี) ประเภทความเป็นอันตรายของสารเคมี และปริมาณ
2.2 การเก็บสารเคมี: ข้อกำหนดทั่วไปในการจัดเก็บสารเคมี สารไวไฟ สารกัดกร่อน แก๊ส สารออกซิไดซ์ สารที่ไวต่อปฏิกิริยา ข้อกำหนดเกี่ยวกับภาชนะบรรจุภัณฑ์และฉลากสารเคมี เอกสารข้อมูลความปลอดภัย โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงหลักคือความเป็นอันตรายของสารเคมี และความเข้ากันไม่ได้(incompatibility)
2.3 การเคลื่อนย้ายสารเคมี: การเคลื่อนย้ายภายใน/ภายนอกห้องปฏิบัติการ
3. ระบบการจัดการของเสีย
3.1 การจัดการข้อมูลของเสีย: ระบบบันทึกข้อมูลของเสียสารเคมีที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ/หน่วยงาน/องค์กร เพื่อใช้ในการบันทึกและติดตามความเคลื่อนไหวของเสียสารเคมีทั้งหมด
3.2 การเก็บของเสีย: ห้องปฏิบัติการควรมีการจำแนกประเภท/การจัดเก็บของเสียให้ถูกต้องเหมาะสมตามเกณฑ์ของระบบมาตรฐานสากล หรือมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อการจัดเก็บ บำบัด และกำจัดที่ปลอดภัย ทั้งนี้อ้างอิงเกณฑ์ตามระบบมาตรฐานสากล หรือมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ
3.3 การกำจัดของเสีย: การบำบัดของเสียก่อนทิ้ง การบำบัดของเสียก่อนส่งกำจัด และการส่งกำจัด
3.4 การลดการเกิดของเสีย: การลดการใช้สารตั้งต้น (Reduce) การใช้สารทดแทน (Replace)
4. ลักษณะทางกายภาพของห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์ และเครื่องมือ
ประกอบด้วย 7 หัวข้อ ดังนี้
4.1 งานสถาปัตยกรรม: มีสภาพภายนอกและภายในห้องปฏิบัติการที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย
4.2 งานสถาปัตยกรรมภายใน: ไม่มีการวางของรกรุงรังง/สิ่งของที่ไม่จำเป็น หรือขยะจำนวนมากตั้งอยู่บนพื้นห้องหรือเก็บอยู่ภายในห้อง ขนาดพื้นที่ห้องปฏิบัติการเหมาะสมและเพียงพอกับกิจกรรม/การใช้งาน/จำนวนผู้ใช้/ปริมาณเครื่องมือและอุปกรณ์ มีการแยกส่วนที่เป็นพื้นที่ห้องปฏิบัติการ (Lab) ออกจากพื้นที่อื่น ๆ (Non–lab)
4.3 งานวิศวกรรมโครงสร้าง: ไม่มีการชำรุดเสียหายบริเวณโครงสร้าง/ไม่มีรอยแตกร้าวตามเสาและคาน มีสภาพภายนอกและภายในห้องปฏิบัติการที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย โครงสร้างอาคารสามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกของอาคาร (น้ำหนักของผู้ใช้อาคาร อุปกรณ์ และเครื่องมือ) ได้
4.4 งานวิศวกรรมไฟฟ้า: มีแสงสว่างธรรมชาติหรือแสงประดิษฐ์พอเพียงและมีคุณภาพเหมาะสมกับการทำงาน สายไฟถูกยึดอยู่กับพื้นผนังหรือเพดาน ไม่ควรมีสายไฟที่อยู่ในสภาพการเดินสายไม่เรียบร้อย
4.5 งานวิศวกรรม สุขาภิบาล และสิ่งแวดล้อม: มีระบบน้ำดี มีการเดินท่อและวางแผนผังการเดินท่ออย่างเป็นระบบและไม่รั่วซึม การแยกระบบน้ำทิ้งทั่วไปกับระบบน้ำทิ้งปนเปื้อนสารเคมีออกจากกัน มีระบบบำบัดน้ำเสียแยก เพื่อบำบัดน้ำทิ้งทั่วไปกับน้ำทิ้งปนเปื้อนสารเคมีออกจากกัน
4.6 งานวิศวกรรมระบบปรับอากาศและระบายอากาศ: มีระบบระบายอากาศที่เหมาะสมกับการทำงานและสภาพแวดล้อมของห้องปฏิบัติการ การติดตั้งระบบปรับอากาศในตำแหน่งและปริมาณที่เหมาะสมกับการทำงานและสภาพแวดล้อมของห้องปฏิบัติการ
4.7 งานระบบฉุกเฉินและระบบติดต่อสื่อสาร: มีระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ด้วยมือ อุปกรณ์ตรวจจับเพลิงไหม้ด้วยอุณหภูมิความร้อน อุปกรณ์ตรวจจับเพลิงไหม้ด้วยควันไฟ เป็นต้น มีทางหนีไฟ และป้ายบอกทางหนีไฟ มีระบบดับเพลิงด้วยน้ำชนิดระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง (Sprinkler system) มีเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนที่ เช่น ถังดับเพลิง มีระบบติดต่อสื่อสารของห้องปฏิบัติการในกรณีฉุกเฉิน เช่น โทรศัพท์สำนักงาน โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือระบบอินเตอร์เน็ต และระบบไร้สายอื่น ๆ
5. ระบบการป้องกัน และแก้ไขภัยอันตราย
5.1 การบริหารความเสี่ยง (Risk Management): การบ่งชี้ความเป็นอันตราย การประเมินความเสี่ยง การจัดการความเสี่ยง การสื่อสารความเสี่ยง การรายงานบริหารความเสี่ยง
5.2 การเตรียมความพร้อมและตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน: แผนป้องกันและตอบโต้กรณีฉุกเฉิน ซ้อมรับมือ/ซ้อมหนีไฟ ตรวจสอบพื้นที่ มีแผนรับมือ อุปกรณ์การตอบโต้
5.3 ข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยโดยทั่วไป: อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยส่วนบุคคล เช่น อุปกรณ์ป้องกันหน้า ตา มือ เท้า ร่างกาย การได้ยิน ทางเดินหายใจ และระเบียบปฏิบัติการแต่ละห้องปฏิบัติการ
6. การให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ
การอบรมเพื่อให้เกิดความตระหนักถึงอันตรายและความเสี่ยงแก่บุคลากรในทุกระดับ การกำหนดวิธีปฏิบัติในการควบคุมความเสี่ยง
7. การจัดการข้อมูลและเอกสาร
ระบบการจัดการเอกสาร คู่มือและข้อแนะนำความปลอดภัย การทบทวนและปรับปรุงเอกสารให้ทันสมัย