มาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี (ESPReL Checklist)
องค์ประกอบที่ 1 การบริหารระบบการจัดการความปลอดภัย
- นโยบายและแผน สามารถทำได้ทุกระดับ ทั้งระดับห้องปฏิบัติการ ระดับหน่วยงาน และระดับองค์กร มีกลยุทธ์ในการบริหารจัดการ มีระบบรายงานและระบบการตรวจติดตาม มีแผนปฏิบัติการที่ประกอบด้วยกิจกรรมด้านความปลอดภัยต่าง ๆ มีการสื่อสารให้บุคคลที่เกี่ยวข้องรับทราบ และการเพิ่มพูนความรู้และการฝึกทักษะด้วยการอบรมอย่างสม่ำเสมอ
- โครงสร้างการบริหาร ด้านความปลอดภัยห้องปฏิบัติการต้องมีองค์ประกอบชัดเจน 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนอำนวยการ ส่วนบริหารจัดการ ส่วนปฏิบัติการ
- ผู้รับผิดชอบระดับต่าง ๆ มีการแต่งตั้งบุคคลและระบุบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจน มีรายงานการปฎิบัติการเพื่อการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ปฏิบัติงานตามข้อกำหนดของการปฏิบัติการที่ดี สำรวจรวบรวมวิเคราะห์ประเมินและจัดการความเสี่ยงในระดับบุคคล/โครงการ/ห้องปฏิบัติการอย่างสม่ำเสมอ เข้าร่วมกิจกรรมและรับการอบรมความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยที่เหมาะสมของหน่วยงาน/ห้องปฏิบัติการ เช่น การจัดการความเสี่ยงการซ้อมรับมือเหตุฉุกเฉิน ฯลฯ จัดทำระบบเอกสารที่ครอบคลุมทุกองค์ประกอบความปลอดภัยให้ทันสมัยอยู่เสมอ จัดทำรายงานการดำเนินงานความปลอดภัยการเกิดภัยอันตรายและความเสี่ยงที่พบเสนอต่อผู้บริหาร
องค์ประกอบที่ 2 ระบบการจัดการสารเคมี
- การจัดการข้อมูลสารเคมี มีระบบบันทึกข้อมูลสารเคมีที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ/หน่วยงาน/องค์กร เพื่อใช้ในการบันทึกและติดตามความเคลื่อนไหวของสารเคมีทั้งหมด ได้แก่ ชื่อสารเคมี CAS number (ถ้ามี) ประเภทความเป็นอันตราย ปริมาณ
- การเก็บสารเคมี ปฏิบัติตามข้อกำหนดทั่วไปและข้อกำหนดเฉพาะในการจัดเก็บสารเคมีประเภทต่าง ๆ ได้แก่ สารไวไฟ สารกัดกร่อน แก๊ส สารออกซิไดซ์ สารที่ไวต่อปฏิกิริยา รวมทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับภาชนะบรรจุภัณฑ์และฉลากสารเคมี เอกสารข้อมูลความปลอดภัย
- การเคลื่อนย้ายสารเคมี ต้องคำนึงถึงความเป็นอันตรายของสารเคมี ความเข้ากันไม่ได้ (incompatibility) การเคลื่อนย้ายสารเคมีควรปฏิบัติให้ถูกวิธีทั้งการเคลื่อนย้ายภายในและภายนอกห้องปฏิบัติการ เช่น มีรถเข็น มีภาชนะรองขวดสารเคมีเพื่อป้องกันการตกแตก และมีตัวดูดซับเพื่อป้องกันการประแทกกันระหว่างขนส่ง
องค์ประกอบที่ 3 ระบบการจัดการของเสีย ต้องทราบลักษณะงานที่ปฏิบัติและสารเคมีที่ใช้งาน เพื่อจะได้ทราบวิธีการจัดการและกำจัดอย่างถูกต้อง
- การจัดการข้อมูลของเสีย มีระบบบันทึกข้อมูลของเสียสารเคมีที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ/หน่วยงาน/องค์กร เพื่อใช้ในการบันทึกและติดตามความเคลื่อนไหวของเสียสารเคมีทั้งหมด มีระบบรายงานข้อมูลของเสียและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ
- การจัดเก็บของเสีย ต้องถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัย และเป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการของเสีย ห้องปฏิบัติการควรมีการจำแนกประเภท/การจัดเก็บของเสียให้ถูกต้องเหมาะสมตามเกณฑ์ของระบบมาตรฐานสากล หรือมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับเพื่อการบำบัดและกำจัดที่ปลอดภัย ทั้งนี้อ้างอิงเกณฑ์ตามระบบมาตรฐานสากลหรือมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดเก็บของเสีย ข้อกำหนดเกี่ยวกับภาชนะบรรจุ ฉลากของเสีย ความสมบูรณ์ของภาชนะ มีภาชนะรองรับขวดของเสียกำหนดปริมาตรและการส่งกำจัดและตำแหน่งการวางของเสีย
- การกำจัดของเสีย ได้แก่ การบำบัดของเสียก่อนทิ้ง การบำบัดของเสียก่อนส่งกำจัด การส่งกำจัด
- การลดการเกิดของเสีย ใช้หลักการการลดการใช้สารตั้งต้น (Reduce), Recovery และ Recycle เพื่อลดปริมาณก่อนทิ้งและกำจัดได้ และการใช้สารทดแทน (Replace)
องค์ประกอบที่ 4 ลักษณะทางกายภาพของห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์และเครื่องมือ
- งานสถาปัตยกรรม มีทั้งสภาพภายนอกและภายในห้องปฏิบัติการที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย ไม่มีการวางของรกรุงรัง/สิ่งของที่ไม่จำเป็น หรือขยะจำนวนมาก ตั้งอยู่บนพื้นห้องหรือเก็บอยู่ภายในห้อง ขนาดพื้นที่ห้องปฏิบัติการเหมาะสมและเพียงพอกับกิจกรรม/การใช้งาน/จำนวนผู้ใช้/ปริมาณเครื่องมือและอุปกรณ์ และมีการแยกส่วนที่เป็นพื้นที่ห้องปฏิบัติการออกจากพื้นที่อื่น ๆ
- งานวิศวกรรมโครงสร้าง ไม่มีการชารุดเสียหายบริเวณโครงสร้าง ไม่มีรอยแตกร้าวตามเสา–คาน มีสภาพภายนอกและภายในห้องปฏิบัติการที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย โครงสร้างอาคารสามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกของอาคารได้
- งานวิศวกรรมไฟฟ้า มีแสงสว่างธรรมชาติหรือแสงประดิษฐ์พอเพียงและมีคุณภาพเหมาะสมกับการทำงาน อ้างอิงตามกฎกระทรวงฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2552 และตามเกณฑ์ของสมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย (TIEA) สายไฟถูกยึดอยู่กับพื้นผนังหรือเพดาน ไม่ควรมีสายไฟที่อยู่ในสภาพการเดินสายไม่เรียบร้อย
- งานวิศวกรรมสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม มีระบบน้ำดี/น้ำประปาที่ใช้งานได้ดี มีการเดินท่อและวางแผนผังการเดินท่อ อย่างเป็นระบบและไม่รั่วซึม การแยกระบบน้ำทิ้งทั่วไปกับระบบน้ำทิ้งปนเปื้อนสารเคมีออกจากกัน มีระบบบำบัดน้ำเสียแยก เพื่อบำบัดน้ำทิ้งทั่วไป กับน้ำทิ้งปนเปื้อนสารเคมีออกจากกัน ก่อนออกสู่รางระบายน้ำสาธารณะ
- งานวิศวกรรมระบบปรับอากาศและระบายอากาศ มีระบบระบายอากาศที่เหมาะสมกับการทำงานและสภาพแวดล้อมของห้องปฏิบัติการ เช่น มีการติดตั้งระบบระบายอากาศด้วย พัดลมดูดอากาศ ให้มีการดำเนินการติดตั้งในตำแหน่งและปริมาณที่เหมาะสมกับการทำงานและสภาพแวดล้อม (~5vol/hr) การติดตั้งระบบปรับอากาศในตำแหน่งและปริมาณที่เหมาะสมกับการทำงานและสภาพแวดล้อมของห้องปฏิบัติการ
- งานระบบฉุกเฉินและระบบติดต่อสื่อสาร มีระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ด้วยมือ (Manual fire alarm system), อุปกรณ์ตรวจจับเพลิงไหม้ด้วยอุณหภูมิความร้อน (Heat detector), อุปกรณ์ตรวจจับเพลิงไหม้ด้วยควันไฟ (Smoke detector) เป็นต้น มีทางหนีไฟและป้ายบอกทางหนีไฟ มีระบบดับเพลิงด้วยน้ำชนิดระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง (Sprinkler system) มีเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนที่ เช่น ถังดับเพลิง มีระบบติดต่อสื่อสารของห้องปฏิบัติการในกรณีฉุกเฉิน เช่น โทรศัพท์สำนักงาน โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือระบบอินเตอร์เนตและระบบไร้สายอื่น ๆ
องค์ประกอบที่ 5 ระบบการป้องกันและแก้ไขภัยอันตราย
ประกอบด้วย การบริหารความเสี่ยง การเตรียมความพร้อมและตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน การจัดการด้านความปลอดภัยเป็นหัวใจของการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ที่มีลำดับความคิดตั้งต้นจากการกำหนดได้ว่าอะไรคือปัจจัยเสี่ยง ผู้ปฏิบัติงานต้องรู้ว่าใช้สารใด คนอื่นในที่เดียวกันกำลังทำอะไรที่เสี่ยงอยู่หรือไม่ ปัจจัยเสี่ยงด้านกายภาพคืออะไร มีการประเมินความเสี่ยงหรือไม่ จากนั้นจึงมีการบริหารความเสี่ยงด้วยการป้องกัน หรือการลดความเสี่ยง รวมทั้งการสื่อสารความเสี่ยงที่เหมาะสม คำถามในรายการสำรวจ จะช่วยกระตุ้นความคิดได้อย่างละเอียด สร้างความตระหนักรู้ไปในตัว รายงานความเสี่ยงจะเป็นประโยชน์ในการบริหารงบประมาณ เพราะสามารถจัดการได้บนฐานของข้อมูลจริง ความพร้อมและการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน อยู่ภายใต้หัวข้อการจัดการด้านความปลอดภัยเพื่อเป็นมาตรการป้องกัน เช่น การมีผังพื้นที่ใช้สอย ทางออก อุปกรณ์เครื่องมือสำหรับเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งการมีแผนป้องกันและตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ซึ่งหมายถึงการจัดการ เบื้องต้นและการแจ้งเหตุ ข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยโดยทั่วไปเป็นการกำหนดความปลอดภัยส่วนบุคคล และระเบียบปฏิบัติขั้นต่ำของแต่ละห้องปฏิบัติการ
องค์ประกอบที่ 6 การใช้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ
ต้องมีการพัฒนาบุคลากรทุกระดับที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความรู้พื้นฐานที่เหมาะสม จำเป็น และอย่างต่อเนื่องต่อกลุ่มเป้าหมายที่มีบทบาทต่างกัน ถึงแม้องค์กร/หน่วยงานมีระบบการบริหารจัดการอย่างดี หากบุคคลในองค์กร/หน่วยงานขาดความรู้และทักษะ ขาดความตระหนัก และเพิกเฉยแล้ว จะก่อให้เกิดอันตรายและความเสียหายต่าง ๆ ได้ การให้ความรู้ด้วยการฝึกอบรมจะช่วยให้ทุกคนเข้าใจ และสามารถปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ หรือทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีได้อย่างปลอดภัย และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติภัยได้
องค์ประกอบที่ 7 การจัดการข้อมูลและเอกสาร
การจัดการข้อมูลและเอกสารการเก็บข้อมูลและการจัดการทั้งหลาย หากขาดระบบการบันทึกและคู่มือการปฏิบัติงานย่อมทำให้การปฏิบัติขาดประสิทธิภาพ เอกสารที่จัดทำขึ้นในรูปแบบรายงานต่าง ๆ ควรใช้เป็นบทเรียนและขยายผลได้ ระบบเอกสารจะเป็นหลักฐานบันทึกที่จะส่งต่อกันได้หากมีการเปลี่ยนผู้รับผิดชอบ และเป็นการต่อยอดของความรู้ในทางปฏิบัติ เพื่อให้การพัฒนาความปลอดภัยเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง การจัดการข้อมูลและเอกสาร การเก็บข้อมูลและการจัดการทั้งหลายหากขาดซึ่งระบบการบันทึกและคู่มือการปฏิบัติงาน ย่อมทำให้การปฏิบัติขาดประสิทธิภาพ เอกสารที่จัดทำขึ้นในรูปแบบรายงานต่าง ๆ ควรใช้เป็นบทเรียนและขยายผลได้ระบบ