“น้ำคือชีวิต”พระราชดำริที่เกิดประโยชน์สุขต่อประชาชนอย่างยั่งยืน ประกอบกับองค์การสหประชาชาติกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDGs) เป้าหมายที่ 6 คือ น้ำสะอาดและสุขอนามัย โดยเป็นการสร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน (Ensure availability and sustainable management of water and sanitation for all) นั้น ได้มีการถ่ายทอดลงมาเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค มีกิจกรรมพัฒนาคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน และแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมกรมอนามัย ปี 2566 – 2570 ซึ่งมีเป้าหมายส่งเสริมการจัดการคุณภาพน้ำบริโภคตาม SDGs 6.1 มีเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและมีราคาที่สามารถซื้อหาได้และการเข้าถึงน้ำสะอาดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน
การปนเปื้อนฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำดื่มนับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในปัจจุบัน การได้รับฟลูออไรด์ที่สำคัญของคนคือจากน้ำบริโภค ฟลูออไรด์ที่ร่างกายได้รับจะถูกดูดซึมในทางเดินอาหารเกือบหมด เมื่อฟลูออไรด์เข้าสู่กระแสเลือด ร้อยละ 50 จะถูกขับที่ไต ที่เหลือส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้ที่กระดูกและฟัน การได้รับฟลูออไรด์ปริมาณน้อยๆ มีผลดีคือทำให้โรคฟันผุลดลง การได้รับปริมาณฟลูออไรด์สูงเกินไปจะทำให้สะสมในฟันเกิดสภาวะฟันตกกระ หากได้รับในปริมาณสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ [1-2]
นณธภัทร ธีระวรรธนะสิริ และคณะ [3] ในปี 2560 ได้ศึกษาพื้นที่มีฟลูออไรด์สูงในจังหวัดลำพูน จำนวน 3 อำเภอ 26 ตำบล 303 หมู่บ้าน โดยเก็บตัวอย่างน้ำบริโภคทุกหมู่บ้าน จำนวน 439 ตัวอย่าง พบว่า ปริมาณฟลูออไรด์ที่ตรวจพบอยู่ระหว่าง 0.01 – 13.60 mg/L ซึ่งปริมาณฟลูออไรด์ที่ตรวจพบสูงถึงเกือบ 20 เท่าของค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะในน้ำประปาหมู่บ้านถึงแม้จะผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพแต่พบถึงร้อยละ 46.3 น้ำดื่มหมู่บ้านร้อยละ 12.5 ตู้น้ำหยอดเหรียญร้อยละ 2.7 และน้ำบรรจุถังหรือขวดร้อยละ 2.1 ด้านผลกระทบต่อประชาชน จากทั้งหมด 79,807 หลังคาเรือน ร้อยละ 79.0 ใช้น้ำที่มีฟลูออไรด์เกินมาตรฐาน ร้อยละ 54 (N=303) ของประปาหมู่บ้าน และมีฟลูออไรด์สูงในน้ำประปาทุกหมู่บ้าน 3 ตำบลคือ มะเขือแจ้ บ้านกลาง และป่าซาง
สุพจน์ ชำนาญไพร และคณะ [4] ในปี 2561 ศึกษาการเฝ้าระวังปริมาณฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำบริโภคภาคเหนือของประเทศไทย ในจังหวัดเชียงใหม่, ลำปาง, พะเยา, ลำพูน พบว่า ปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่มมีค่า 0.10 – 14.0 mg/L โดยที่บ้านสันคะยอม อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นพื้นที่มีปริมาณฟลูออไรด์สูงสุด 14.0 mg/L ผลการสำรวจภาวะฟันตกกระในนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 จำนวน 717 คน พบว่า นักเรียนประถมศึกษาจังหวัดลำพูนมีฟันตกกระมากที่สุดร้อยละ 41.3 รองลงมาคือจังหวัดลำปางร้อยละ 38.9 และยังพบฟันตกกระระดับรุนแรงร้อยละ 7.0 ในจังหวัดลำพูน
จากการรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีการบำบัดฟลูออไรด์ในน้ำบริโภคโดย Tolkou, A.K. et.al [2] จำแนกประเภทได้ตามรูปที่ 1 ประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนประจุ (Ion-exchange) กระบวนการกรอง (Membrane) การตกตะกอน (Precipitation) การดูดซับ (Adsorption) และการจับเป็นก้อน (Coagulation) ซึ่งแต่ละเทคนิควิธีมีข้อดีข้อจำกัดตลอดจนศักยภาพการกรองที่แตกต่างกัน
การกรองด้วยระบบรีเวิร์สออสโมซิส (Reverse osmosis) และระบบนาโนฟิลเทรชัน (Nanofiltration) เป็นเทคโนโลยีการปรับปรุงคุณภาพน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดฟลูออไรด์มากที่สุด แต่จากขั้นตอนการดำเนินการพบว่า ต้องใช้พลังงานในการเดินระบบสูง จึงส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อกำจัดฟลูออไรด์สูงตามไปด้วย นอกจากนี้หากมีการใช้งานไม่เหมาะสม ระบบการกรองดังกล่าวอาจจะเกิดการอุดตันบนแผ่นเยื่อกรองได้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการปรับปรุงคุณภาพน้ำลดลง ทั้งยังส่งผลให้อายุการใช้งานของเยื่อกรองรีเวิร์สออสโมซิสนั้นสั้นลงอีกด้วย ด้วยเหตุนี้วิธีการดูดซับจึงอาจเป็นกระบวนการกำจัดฟลูออไรด์ทางเลือกที่มีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายไม่ซับซ้อน ใช้ต้นทุนดำเนินการต่ำ และมีประสิทธิภาพในการกำจัดฟลูออไรด์สูงภายในระยะเวลาสั้น จึงทำให้มีศักยภาพสูงในการนำมาใช้งานจริง [2, 5]
ช่วงปี 2548 – 2563 ที่ผ่านมามีรายงานการใช้สารดูดซับบำบัดฟลูออไรด์มากมาย เช่น อลูมินา [6] ถ่านกำมันต์ [7] เรซินแลกเปลี่ยนไอออน [8] สารดูดซับทางเลือกต้นทุนต่ำ (ดินเหนียวและโคลน [9-10] เถ้าลอย [11] ถ่านกระดูก [12] ผงเหล็กออกไซด์ [13]) วัสดุนาโนคอมพอสิตที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก [14-15] ทั้งนี้สารดูดซับนาโนคอมพอสิตที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลักได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีคุณสมบัติในการดูดซับฟลูออไรด์โดดเด่น แต่บางส่วนยังอยู่ระหว่างการพัฒนาประสิทธิภาพในรูปแบบของงานวิจัยซึ่งมักจะมุ่งศึกษาในห้องปฏิบัติการ ในส่วนของประเทศไทยช่วงปี 2564 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ร่วมกับสำนักบริหารกิจการนิสิตและศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตรายภายใต้การสนับสนุนจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติและมูลนิธิรากแก้ว พัฒนานวัตกรรมระบบกรองน้ำบาดาลแบบผสมผสานโดยใช้
ถ่านกระดูกและถ่านกัมมันต์แบบเกล็ดเป็นวัสดุดูดซับในการปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาลเพื่อลดปริมาณฟลูออไรด์ในจังหวัดน่าน [16]
ถ่านกระดูกมีโครงสร้างเป็นไฮดรอกซี่อะพาไทต์ (Hydroxyapatite; Ca10(PO4)6(OH)2) ประสิทธิภาพการบำบัดฟลูออไรด์ขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นกรด-ด่าง อุณหภูมิ ระยะเวลาที่ใช้ในการบำบัด ความเข้มข้นของฟลูออไรด์ไอออนก่อนการบำบัดและปริมาณวัสดุดูดซับที่ใช้ เป็นต้น ยกตัวอย่าง ถ่านกระดูกจากวัวมีประสิทธิภาพ 11.9 mgF−/g ที่ pH3 ระยะเวลาที่ใช้ในการบำบัด 2 – 3 วัน ความเข้มข้นของฟลูออไรด์ไอออนก่อนการบำบัด 1 – 20 mg/L, ไฮดรอกซี่อะพาไทต์มีประสิทธิภาพ 11.1 mgF−/g ที่ pH7, ถ่านกระดูกปลามีประสิทธิภาพ 2 mgF−/g ที่อุณหภูมิ 300oC ระยะเวลาที่ใช้ในการบำบัด 1 ชั่วโมง เป็นต้น [17] อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่การใช้ถ่านกระดูกจากสัตว์อาจมีข้อจำกัดเนื่องจากประเพณี ทัศนคติทางศาสนา (ถ่านกระดูกจากหมูหรือวัวอาจไม่ได้รับการยอมรับจากมุสลิม ฮินดู หรือกระทั่งไทยพุทธ) และการใช้ถ่านกระดูกคุณภาพต่ำยังเพิ่มรสชาติและกลิ่นที่ไม่ดีให้กับน้ำที่ผ่านการบำบัด แต่เนื่องจากถ่านกระดูกมีโครงสร้างเป็นไฮดรอกซี่อะพาไทต์จึงมีทีมวิจัย Nie, Y. et.al [18] ศึกษาและพัฒนาความสามารถในการบำบัดฟลูออไรด์โดยใช้ไฮดรอกซี่อะพาไทต์ที่ปรับปรุงผิวด้วยอลูมิเนียม (Al-HAP) ซึ่งพบว่า Al-HAP มีความสามารถในการบำบัดดีกว่า HAP ที่ไม่ได้ปรับปรุงผิว (Al-HAP : 32.57 mgF−/g , HAP : 16.38 mgF−/g) เนื่องจากมีหมู่ไฮดรอกซิลบนพื้นผิว นอกจากนี้พบว่าอัตราส่วน Al/Ca ที่เอื้อต่อการบำบัดฟลูออไรด์ได้สูงสุดคือ Al/Ca = 0.1
จากที่กล่าวข้างต้น ไฮดรอกซี่อะพาไทต์สังเคราะห์จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับทดแทนถ่านกระดูก ไฮดรอกซี่อะพาไทต์ถูกใช้งานแพร่หลายในทางการแพทย์เนื่องจากมีคุณสมบัติความเข้ากันได้ทางชีวภาพที่ดีเยี่ยม ไม่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้นไฮดรอกซี่อะพาไทต์ที่ปลูกถ่ายในร่างกายมนุษย์ยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสร้างกระดูก (Bone metabolism) ไฮดรอกซี่อะพาไทต์หรือวัสดุที่มีไฮดรอกซี่อะพาไทต์เป็นองค์ประกอบหลักจึงถูกประยุกต์ใช้ในงานซ่อมแซมกระดูกมานาน [19] นอกจากนี้ ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่าไฮดรอกซี่อะพาไทต์ยังมีสมบัติเป็นตัวดูดซับไอออนจากสารละลายด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูดซับไอออนของฟลูออไรด์ (F-) [20] ทำให้ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ไฮดรอกซี่อะพาไทต์ในการบำบัดฟลูออไรด์ในน้ำ [21-24] กลไกในการกำจัดฟลูออไรด์ไอออนของไฮดรอกซี่อะพาไทต์มีสองกลไกซึ่งจะเกิดขึ้นพร้อมกันคือ [20]
1) การดูดซับ F- บนพื้นผิวของอนุภาคที่มีขนาดนาโนของไฮดรอกซี่อะพาไทต์ โดยจะเกิดขึ้นผ่านการสร้างพันธะไฮโดรเจน (Hydrogen bonding) ระหว่างฟลูออไรด์ไอออนซึ่งมีประจุลบกับพื้นผิวของไฮดรอกซี่อะพาไทต์
2) การแลกเปลี่ยนไอออนระหว่างฟลูออไรด์ไอออนและไฮดรอกซิลไอออนในโครงสร้างของไฮดรอกซี่อะพาไทต์ (F- OH-) กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นภายในแลตทิซ (Lattice) และเกิดขึ้นเองทันที (Spontaneous process)
นอกจากนี้ การศึกษาในรายละเอียดยังพบว่าหลังกระบวนการดังกล่าวจะเกิดการตกตะกอนของสารประกอบแคลเซียมฟลูออไรด์ CaF2 เป็นผลเนื่องมาจากการละลายของอนุภาคนาโนไฮดรอกซี่อะพาไทต์บางส่วน [21]
การสังเคราะห์ผงนาโนไฮดรอกซี่อะพาไทต์ทำได้หลายวิธี แต่ละวิธีจะได้อนุภาคที่มีลักษณะเฉพาะขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกัน เช่น ทรงกลมขนาด 10 – 50 นาโนเมตร รูปร่างคล้ายแท่งเข็ม รูปร่างแผ่น รูปร่างคล้ายดอกไม้ เป็นต้น [19] นอกจากนี้ ไฮดรอกซี่อะพาไทต์ยังสามารถสังเคราะห์ได้จากวัสดุเหลือทิ้งที่เป็นแหล่งแคลเซียม [23, 25-26] ได้แก่ เปลือกไข่ [25] เปลือกหอย [26] วัสดุอุตสาหกรรม [27-28] ความสามารถในการบำบัดฟลูออไรด์จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย [29] เช่น เวลาในการกรอง ปริมาณของไฮดรอกซี่อะพาไทต์ และค่า pH (ปกติจะอยู่ในช่วงความเป็นกรด pH = 3 – 5) ลักษณะเฉพาะของอนุภาคไฮดรอกซี่อะพาไทต์ที่สังเคราะห์ได้ก็มีผลต่อความสามารถในการดูดซับ โดยพบว่าไฮดรอกซี่อะพาไทต์ที่มีโครงสร้างอสัณฐานจะมีประสิทธิภาพในการดูดซับฟลูออไรด์ไอออนสูงกว่าไฮดรอกซี่อะพาไทต์ที่มีโครงสร้างผลึก และความสามารถในการดูดซับจะลดลงตามความเป็นผลึก [21] การศึกษาประสิทธิภาพของไฮดรอกซี่อะพาไทต์เกือบทั้งหมดจะทดสอบโดยใช้รูปผงละเอียด [20] ซึ่งไม่สะท้อนประสิทธิภาพที่แท้จริงในทางปฏิบัติ [23] ทำให้ช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านได้มีการศึกษาการจำลองใช้งานจริงมากขึ้น [21, 23-24, 30] และพบว่าการกรองน้ำด้วยอนุภาคไฮดรอกซี่อะพาไทต์ที่บรรจุในหลอดบรรจุ (Fixed – bed column) สามารถผลิตน้ำดื่มที่อยู่ในมาตรฐานได้ [21] ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของไฮดรอกซี่อะพาไทต์สังเคราะห์ที่มีเหนือกว่าวัสดุดูดซับอื่นคือสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ [25, 31]
จากที่กล่าวมาข้างต้น ไฮดรอกซี่อะพาไทต์เป็นวัสดุดูดซับที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดฟลูออไรด์ สามารถสังเคราะห์หรือขึ้นรูปได้ง่ายทำให้มีข้อได้เปรียบในด้านต้นทุนในการติดตั้ง โครงการบริการวิชาการนี้จะนำไฮดรอกซี่อะพาไทต์สังเคราะห์ประยุกต์ใช้กับเครื่องกรองน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคในครัวเรือนของทางสำนักวิจัยฯ และใช้งานในพื้นที่เป้าหมาย 5 ครัวเรือน ในหมู่ที่ 6 ตำบลบ้านกลาง จังหวัดลำพูน
เอกสารอ้างอิง
[1] สุรัตน์ มงคลชัยอรัญญา, อังศณา ฤทธิ์อยู่. (2548). แนวทางการจัดการฟลูออไรด์สูงในน้ำบริโภคเพื่อป้องกันผลกระทบด้านทันตสุขภาพ. กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.
[2] Tolkou, A.K.; Manousi, N.; Zachariadis, G.A.; Katsoyiannis, I.A.; Deliyanni, E.A. Recently developed adsorbing materials for fluoride removal from water and fluoride analytical determination techniques: A Review. Sustainability 2021, 13, 7061.
[3] Theerawasttanasiri, N.; Taneepanichskul, S.; Pingchai, W.; Nimchareon, Y.; Sriwichai, S. Implementing a geographical information system to assess endemic fluoride areas in Lamphun, Thailand. Risk Manag Healthc. 2018, 11, 15–24.
[4] สุพจน์ ชำนาญไพร และคณะ. (2561). การเฝ้าระวังปริมาณฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำบริโภคภาคเหนือของประเทศไทย ศูนย์ทันตะระหว่างประเทศ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.
[5] ศิริรัตน์ สังขรักษ์, เพ็ญรดี จันทร์ภิวัฒน์, สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ, ธรรมณิษฐ์พล เด่นเพชรกุล, อาทิตย์ เพ็ชร์รักษ์. (2564). เทคโนโลยีทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการจัดการการปนเปื้อนฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคในพื้นที่ราบสูงชนบทของประเทศไทย. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 25 (ฉบับที่ 1).
[6] Alhassan, S.I.; Huang, L.; He, Y.; Yan, L.; Wu, B.; Wang, H. Fluoride removal from water using alumina and aluminum-based composites: A comprehensive review of progress. Crit. Rev. Environ. Sci. Technol. 2020, 1–35.
[7] Zarrabi, M.; Samadi, M.T.; Sepehr, M.N.; Ramhormozi, S.M.; Azizian, S.; Amrane, A. Removal of fluoride ions by ion exchange resin: kinetic and equilibrium studies. Environ. Eng. Manag. J. 2014, 13, 205–214.
[8] Prabhu, S.M.; Meenakshi, S. Synthesis of metal ion loaded silica gel/chitosan biocomposite and its fluoride uptake studies from water. J. Water Process. Eng. 2014, 3, 144–150.
[9] Tor, A.; Danaoglu, N.; Arslan, G.; Cengeloglu, Y. Removal of fluoride from water by using granular red mud: Batch and column studies. J. Hazard. Mater. 2009, 164, 271–278.
[10] Kemer, B.; Ozdes, D.; Gundogdu, A.; Bulut, V.N.; Duran, C.; Soylak, M. Removal of fluoride ions from aqueous solution by waste mud. J. Hazard. Mater. 2009, 168, 888–894.
[11] Geethamani, C.; Ramesh, S.; Gandhimathi, R.; Nidheesh, P. Alkali-treated fly ash for the removal of fluoride from aqueous solutions. Desalin. Water Treat. 2013, 52, 3466–3476.
[12] Delgadillo-Velasco, L.; Hernández-Montoya, V.; Cervantes, F.J.; Montes-Morán, M.A.; Lira-Berlanga, D. Bone char with antibacterial properties for fluoride removal: Preparation, characterization and water treatment. J. Environ. Manag. 2017, 201, 277–285.
[13] Ndé-Tchoupé, A.I.; Nanseu-Njiki, C.P.; Hu, R.; Nassi, A.; Noubactep, C.; Licha, T. Characterizing the reactivity of metallic iron for water defluoridation in batch studies. Chemosphere 2019, 219, 855–863.
[14] Xu, N.; Li, S.; Li, W.; Liu, Z. Removal of fluoride by graphene oxide/alumina nanocomposite: adsorbent preparation, characterization, adsorption performance and mechanisms. ChemistrySelect 2020, 5, 1818–1828.
[15] Nor, N.M.; Kamil, N.H.N.; Mansor, A.I.; Maarof, H.I. Adsorption analysis of fluoride removal using graphene oxide/eggshell Adsorbent. Indones. J. Chem. 2020, 20, 579–586.
[16] Sharpen your SDG. [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา https://thesharpener.online/2021/02/3351/ [สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2566]
[17] Alkurdia, S.S.A.; Al-Jubooria, R.A.; Bundschuha, J.; Hamawand, I. Bone char as a green sorbent for removing health threatening fluoride from drinking water. Environ. Int. 2019, 127, 704–719.
[18] Nie, Y.; Hu, C.; Kong, C. Enhanced fluoride adsorption using Al (III) modified calcium hydroxyapatite. J. Hazard. Mater. 2012, 233–234, 194–199
[19] Sadat-Shojai, M.; Khorasani, M.T.; Dinpanah-Khoshdargi, E.; Jamshidi, A. Synthesis methods for nanosized hydroxyapatite with diverse structures. Acta. Biomater. 2013, 9(8), 7591-621.
[20] Balasooriya, I.L.; Chen, J.; Korale Gedara, S.M.; Han, Y.; Wickramaratne. M.N. Applications of nano hydroxyapatite as adsorbents: A review. Nanomaterials (Basel). 2022, 2(14), 2324.
[21] Singh, S.; Khare, A.; Chaudhari, S. Enhanced fluoride removal from drinking water using non-calcined synthetic hydroxyapatite. J. Environ. Chem. Eng. 2020, 8(2), 103704.
[22] Zhou, M.; Yang, H.; Wang, Z.; Ren, J.; Wang, R.; He, Y. Construction of HAnW-based nanotwigs for removing inorganic fluorion in wastewater. Environ. Sci. Pollut. Res. Int. 2023, 30(12), 32641-32654.
[23] Laonapakul, T.; Suthi, T.; Otsuka, Y.; Mutoh, Y.; Chaikool, P,; Chindaprasirt, P. Fluoride adsorption enhancement of calcined-kaolin/hydroxyapatite composite. Arab. J. Chem. 2022, 15(11), 104220.
[24] Wallace, A.R.; Su, C.; Sun, W. Adsorptive removal of fluoride from water using nanomaterials of ferrihydrite, apatite, and brucite: batch and column studies. Environ. Eng. Sci. 2019, 36(5), 634-642.
[25] Nayak, B.; Samant, A.; Patel, R.; Misra, P. Comprehensive understanding of the kinetics and mechanism of fluoride removal over a potent nanocrystalline hydroxyapatite surface. ACS Omega 2017, 2(11), 8118-8128.
[26] Yapo, N.Z.S.; Aw, S.; Briton, B.G.H.; Drogui, P.; Yao, K.B.; Adouby, K. Removal of fluoride in groundwater by adsorption using hydroxyapatite modified Corbula trigona shell powder. Chem. Eng. J. Adv. 2022, 12, 100386.
[27] Zhang, D.; Luo, H.; Zheng, L.; Wang, K.; Li, H.; Wang,Y.; Feng, H. Utilization of waste phosphogysum to prepare hydroxyapatite nanoparticle and its application towards removal of fluoride from aqueous solution. J. Hazard. Mater. 2012, 241-242, 418-426.
[28] Yatongchai, C; Thavornyutikarn, B. Conversion of lime mud waste to hydroxyapatite biomaterials. Mater. Chem. Phys. 2021, 266, 124544.
[29] Sundaram, C.S.; Viswannathan, N.; Meenakshi, S. Defluoridation chemistry of synthetic hydroxyapatite at nano scale: equilibrium and kinetic studies. J. Hazard. Mater. 2008, 155(1), 206-215.
[30] Mohan, R.; Dutta, R.K. Continuous fixed-bed column assessment for defluoridation of water using HAp-coated-limestone. J. Environ. Chem. Eng. 2020, 8(4), 103840.
[31] Ren,C.; Yu, Z.; Phillips, B.L.; Wang, H.; Ji, J.; Pan, B.; Li, W. Molecular-scale investigation of fluoride sorption mechanism by nanosized hydroxyapatite using 19F solid-state NMR spectroscopy. J. Colloid. Interface. Sci. 2019, 557, 357-366.
สอดคล้องกับโครงการพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ด้านโครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข
|