ม.แม่โจ้ รับ 3 รางวัลใหญ่ Thailand Energy Awards 2021 สุดยอดรางวัลด้านพลังงานไทยระดับสากล จากกระทรวงพลังงาน
วันที่ 20/12/2564    1,459 ครั้ง    ประเภท ข่าวกิจกรรม    ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดี พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ดุษฎี รองอธิการบดี และ รองศาสตราจารย์ ดร.นัฐพร ไชยญาติ นักวิจัย เข้ารับ 3 รางวัลใหญ่ สุดยอดรางวัลด้านพลังงานไทยระดับสากล ในงาน Thailand Energy Awards 2020 และ 2021 จัดโดยกระทรวงพลังงาน ได้รับเกียรติจาก นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธี โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิกราน หอมดวง คณบดีวิทยาลัยพลังงานทดแทน และคณะผู้บริหารวิทยาลัยพลังงานทดแทน ร่วมแสดงความยินดี ณ ห้องภิรัช ฮอลล์ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

Thailand Energy Awards ในปี 2020 และปี 2021 นี้ มีการประกวดทั้งสิ้น 5 ด้าน ได้แก่ ด้านพลังงานทดแทน ด้านอนุรักษ์พลังงาน ด้านพลังงานสร้างสรรค์ ด้านบุคลากร และด้านผู้ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน โดยมีผู้ให้ความสนใจส่งโครงการเข้าประกวดเป็นจำนวนมากถึง 325 ผลงาน โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับรางวัลปี 2021 มีดังนี้

- รางวัลดีเด่น ด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (Off-Grid) ผลงาน โครงการโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาแบบเชื่อมต่อสายส่งเพื่อลดพลังงานไฟฟ้าในหน่วยงาน ของ ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ดุษฎี และทีมนักวิจัยวิทยาลัยพลังงานทดแทน (มหาวิทยาลัยแม่โจ้)

- รางวัลดีเด่น ด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน(Innovation on Alternative Energy)
ผลงาน โครงการผลิตไฟฟ้าร่วมกับการทำความเย็นและความร้อนแบบขั้นบันไดจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ ผลงานของ รศ.ดร.นัฐพร ไชยญาติ และทีมนักวิจัย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทนและเกษตรอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม [ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ]

- รางวัลดีเด่น ด้านพลังงานสร้างสรรค์ กลุ่มสถาบันการศึกษา ผลงาน ระบบผลิตไฟฟ้าวัฏจักรแรงคินสารอินทรีย์จากความร้อนทิ้งกลับคืนกรณีศึกษาจากเตาเผาขยะติดเชื้อทางการแพทย์ ผลงานของ รศ.ดร.นัฐพร ไชยญาติ และทีมนักวิจัย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทนและเกษตรอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม [ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ]

นอกจากนั้น ผลงานดังกล่าว ยังได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าประกวดในงาน Asean Energy Awards 2021 และได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศ อีกด้วย

เห็นได้ว่า นอกเหนือจากภารกิจด้านการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ยังมีโครงการสำคัญที่ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระยะ 15 ปี (พ.ศ.2555 – 2569) ที่พัฒนา “การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชีวิต” ประกอบไปด้วยมหาวิทยาลัยเกษตรอินทรีย์ มหาวิทยาลัยสีเขียว มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ ได้อย่างเป็นรูปธรรม และยัง เป็นหนึ่งในการร่วมสร้างประสิทธิภาพสูงสุดของการอนุรักษ์พลังงาน สร้างสมรรถนะในการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า รวมไปถึงการมีส่วนร่วมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย อย่างยั่งยืนต่อไป

......................................
ฝ่ายสื่อสารองค์กร ม.แม่โจ้ // รายงาน