ภายใต้สังคมปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับการแข่งขันกันประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้สูงสุดและสังคมสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังหล่อหลอมให้ผู้คนกลายเป็นปัจเจกบุคคลที่ไม่สนใจผู้อื่นเพิ่มมากขึ้น ทำให้สังคมไทยรวมถึงสังคมโลกกำลังตกอยู่ในสภาวะที่ผู้คนขาดการช่วยเหลือกัน ขาดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ขาดการมีจิตอาสาหรือจิตสาธารณะที่จะช่วยเหลือผู้คนและสังคมที่ตนเองอยู่อาศัย ทำให้ในปัจจุบันการเข้าใจและการเห็นอกเห็นใจผู้คนในสังคม (social empathy) การช่วยเหลือคนในสังคมที่เป็นผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ ผู้ทุกข์ยาก เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่การสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นมนุษย์ที่ปรารถนาจะช่วยเหลือสังคมหรือผู้คนรอบข้าง และจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนได้ “โครงการ SI จิตอาสาสร้างสรรค์สังคม ครั้งที่ 2” เป็นโครงการที่เสริมทักษะความเป็นมนุษย์ที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้คนด้อยโอกาสในสังคม ส่งเสริมวิธีคิดด้านวิชาการทางสังคมศาสตร์และยังมุ่งสร้างอุดมการณ์ของนักศึกษาและผู้ร่วมโครงการในการเข้าใจสังคม การมีจิตอาสา การมีสำนึกสาธารณะ การเป็นผู้นำ ความสามารถในการประกอบการเพื่อสังคม และการมีสำนึกการอยากช่วยเพื่อนมนุษย์ ในปีพ.ศ. 2568 โครงการ SI จิตอาสาสร้างสรรค์สังคม ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่โรงเรียนบ้านนาไคร้ หมู่ 9 บ้านนาไคร้ ต.ยางเปียง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอ โดยโรงเรียนบ้านนาไคร้เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนนักเรียนชายหญิงรวมทั้งสิ้น 88 คน โรงเรียนบ้านนาไคร้เป็นโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ยังคงขาดแคลนและมีความต้องการอุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์กีฬา ยาสามัญประจำบ้าน ทั้งยังขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องครัวที่ใช้ในการทำอาหารกลางวันของโรงเรียน เช่น หม้อ ทัพพี มีดทำอาหาร มีดปอก ช้อน เป็นต้น นอกจากนั้นทางโรงเรียนยังคงมีความต้องการซ่อมแซมโต๊ะเก้าอี้โรงเรียนให้อยู่ในสภาพที่ใช้ได้ ต้องการสีสำหรับทาโต๊ะเก้าอี้นักเรียน สีทาเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น สีทาห้องเรียน รวมไปถึงยางรถยนต์เก่าสำหรับปรับปรุงสนามเด็กเล่น ซึ่งทั้งนี้ด้วยงบประมาณของโรงเรียนที่ไม่เพียงพอประกอบกับผู้ปกครองนักเรียนก็ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่มีรายได้น้อยเฉลี่ยครอบครัวละ 5,000 บาทต่อปี ทำให้การช่วยเหลือด้านการจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนและอุปกรณ์กีฬา เครื่องใช้จำเป็น รวมถึงอุปกรณ์พัฒนาโรงเรียนไม่เพียงพอต่อการพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน ดังนั้นโครงการ SI จิตอาสาสร้างสรรค์สังคม ครั้งที่ 2 จึงจัดขึ้นเพื่อสร้างเสริมวิธีคิดและความตระหนักด้านการเห็นใจผู้อื่น สร้างความเข้าใจสังคมและการมีจิตอาสาที่ช่วยเหลือผู้คนในสังคมตามสามารถของตนเอง และส่งเสริมให้ผู้ร่วมโครงการมีการพัฒนาวิธีคิดด้านการประกอบการเพื่อสังคมและสร้างรายได้เพื่อส่งเสริมกิจการงานเพื่อสังคมอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และความมุ่งหมายของหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมสังคม