มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ มีพื้นที่โดยรวม 2,352 ไร่ นอกจากอาคารสถานที่ที่ใช้เป็นพื้นที่ใช้สอยที่เน้นในด้านการเรียนการสอนแล้ว ภายในมหาวิทยาลัยยังประกอบไปด้วยพื้นที่สีเขียวที่มีความหลากหลาย เช่น พื้นที่ป่าธรรมชาติ แปลงป่าเต็งรัง แปลงป่าสัก แปลงยูคาลิปตัส แปลงปลูกข้าว ทุ่งหญ้า และแหล่งน้ำหลายแห่งที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่มหาวิทยาลัย ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและดึงดูดการเข้ามาใช้ประโยชน์และอยู่อาศัยของนกหลายชนิด ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ จากอดีตสู่ปัจจุบันพื้นที่ป่าของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เกิดการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity loss) ดังนั้นการมีพื้นที่สีเขียว (green areas) ภายในมหาวิทยาลัยจึงเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ในแง่ของการเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) (Brandli et al., 2020) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเป้าหมายที่ 15 ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และเป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ สร้างการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษารับรู้วิธีการในการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายระดับชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ต้องมีแนวทางในการวางแผนและจัดการเพื่อให้เกิดประสิทธิผลในระยะยาว การตรวจสอบและติดตามความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหนึ่งในแนวทางที่จำเป็นและมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นการดำเนินงานที่สามารถนำไปสู่การประเมินคุณภาพของพื้นที่สีเขียวในมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ในแง่ของการเป็นที่อยู่อาศัยที่มีความเหมาะสมต่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่า อีกทั้งยังสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องเนื่องจากเป็นสถาบันการศึกษาที่เล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ การทราบถึงความหลากหลายของทรัพยากรในพื้นที่สามารถประยุกต์และบูรณาการเพื่อนำไปสู่การจัดการโดยการมีส่วนร่วมในทุกระดับ ซึ่งโครงการวิจัยชิ้นนี้จะเน้นการปลูกฝั่งจิตสำนึกให้กับเยาวชนโดยเฉพาะนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งหากมีความรู้ความเข้าใจในด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของนก จะช่วยพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดบุคลากรที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานด้านสัตว์ป่าโดยเฉพาะนกได้มากยิ่งขึ้น พื้นฐานของการเรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของนกในระบบนิเวศ เริ่มต้นจากการฝึกจำแนกชนิด ซึ่งต้องได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญและเมื่อสามารถจำแนกชนิดนกได้จะทำให้เกิดความแม่นยำ ซึ่งสามารถต่อยอดให้กับนักเรียนและนักศึกษาในด้านการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ทางธรรมชาติต่อไปในอนาคต