เกษตรกร เป็นอาชีพหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวกับเกษตรกรรมในปัจจุบันเกษตรกรสามารถพัฒนาองค์ความรู้ไปสู่การเป็นเกษตรกรมืออาชีพ (Smart Farmer) ด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตสินค้ามาตรฐานเกษตรปลอดภัย การทำเกษตรอินทรีย์ การปรับปรุงดิน การผลิตพันธุ์ดี การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เคมีอย่างถูกต้องตามผลการตรวจวิเคราะห์สภาพดิน การป้องกันและกำจัดศัตรูพืชตามหลักการในเชิงวิชาการ การวางแผนการผลิต การบริหารจัดการสินค้าเกษตร การบริหารต้นทุน รวมถึงการให้ความรู้เน้นความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการตลาด เป็นต้น า เกษตรกรที่มีฐานะมักมีพื้นที่ทำกินเป็นของตัวเอง แต่สำหรับเกษตรกรที่มีฐานะปานกลางหรือยากจนมักจะเช่าพื้นที่ทำกินมากกว่าสำหรับในประเทศไทยพบว่า เกษตรกรมีรายได้น้อยและมีหนี้สินเพิ่มขึ้นในแต่ละปี นอกจากนี้แนวโน้มประชากรรุ่นใหม่ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัดส่วนใหญ่มักละทิ้งอาชีพเกษตรกรและหันไปประกอบอาชีพด้านอื่นมากขึ้นอีกด้วย การประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีความสำคัญต่อการดำรงชีพของมนุษย์ มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่อย่างง่ายโดยการล่าสัตว์และการเก็บพืชผักจากแหล่งธรรมชาติมากินเป็นอาหาร ต่อมาเมื่อเริ่มรู้จักการเลี้ยงสัตว์และเพาะปลูกพืชจึงทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการทำเกษตรกรรม ส่งผลให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในประเทศไทย การเกษตรมีความสำคัญในฐานะที่เป็นการผลิตอาหารเลี้ยงผู้บริโภคทั้งภายในและนอกประเทศ ช่วยส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับภาคอุตสาหกรรมและการบริการ
ในปัจจุบัน ผู้บริโภคหันมาใส่ใจในสุขภาพกันมากขึ้น โดยแสดงให้เห็นจากจำนวนชั่วโมง การออกกำลังกายโดยเฉลี่ยต่อสัปดาห์ สูงถึง 4.2 ชั่วโมง ในปี 2561 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 1.0 ชั่วโมง (เอไอเอ เฮลธ์ตี้ ลิฟวิ่ง อินเด็กซ์, 2561) ในส่วนของการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน โดยในปี2558 มูลค่าทางการตลาดด้านอาหารสุขภาพมีมูลค่าสูงถึง 170,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2553 แล้วขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 42.5 หรือคิดเป็น 119,311 ล้านบาท (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 2560)โดยเฉพาะมูลค่าทางการตลาดของอาหารเสริมปี2563 พุ่งสูงมากกว่า 8.5 แสนล้านบาท (ธนาคารกรุงเทพ, 2562) ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบเกี่ยวเนื่องกับอาหารเพื่อสุขภาพ อาทิ สินค้าที่เป็นการผลิตจากระบบอินทรีย์ (Organic Agriculture) ซึ่งเป็นระบบการผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีและปราศจากสารเคมีที่ใช้สำหรับป้องกันและกำจัดพืชหรือสารอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย (คริษฐ์สพล หนูพรหม, 2558: สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์,2560) ในปี พ.ศ. 2562 พบว่า ตลาดเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยนั้นมีมูลค่าสูงถึง 3,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการบริโภคในประเทศ 900 ล้านบาทและตลาดต่างประเทศ 2,100 ล้านบาท (กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์, 2562) ด้วยมูลค่าการตลาดที่สูงถึงเพียงนี้ถือเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการสนใจพัฒนากระบวนการเกษตรให้เป็นระบบเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น ปีพ.ศ. 2562 มีจำนวนเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์มากถึง 40,774 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2560 ที่มีจำนวน 10,754 ราย คิดเป็นร้อยละ 276 (สำนักเศรษฐกิจเกษตร,2562) จำนวนการเพิ่มขึ้นนี้ สอดคล้องกับแรงผลักดันที่ภาครัฐต้องการให้เกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันด้วยนโยบายไทยแลนด์ 4.0
ผลจากการพัฒนาประเทศได้มีส่วนทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในภาพรวม แต่ก็ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ตามมา ทั้งในด้านที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์อยู่มาก เช่น รายได้ของประชาชนโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่ความแตกต่างของรายได้กลับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ระหว่างกลุ่มครัวเรือนในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ระหว่างกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค และระหว่างในเขตเมืองและเขตชนบท เป็นต้น
คุณภาพชีวิต หมายถึง การมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุขสมบูรณ์และมีคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาและเป็นเป้าหมายสุดยอดในการดำรงชีวิตของทุกคน การศึกษาคุณภาพชีวิตและแนวทางการส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชากรแฝงกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาโสเภณี และแรงงานเด็ก เป็นต้น การรับรู้เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตที่จะนำมาเป็นตัวชี้วัดถึงคุณภาพชีวิตของแต่ละบุคคลสามารถอธิบายได้ดีที่สุดจากความพึงพอใจที่แต่ละบุคคลได้รับ เช่น สภาพที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน สิ่งอำนวยความสะดวกให้กับชีวิต การจัดระบบและบริการทางสังคม ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ ในสังคม คุณภาพชีวิตมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับขอบเขตที่หลากหลายของชีวิตไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ ทางจิตใจ สภาพแวดล้อม ความสัมพันธ์ทางสังคม และสุขภาพส่วนบุคคล
การพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบการ กล่าวคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ โดยเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์มากกว่าการสงเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตนเองอย่างมีความรู้และทักษะที่ดีพอ การดูแลรักษาสุขภาพ ตลอดจนการสร้างระบบการดูแลให้เกิดศักยภาพของการเป็นผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ สังคมไทยก็ไม่ต้องกลัวกับการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าของผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำหลักการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ประสบผลสำเร็จในการดำเนินชีวิต เพื่อให้ได้แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ และนำไปขยายผลได้อย่างมีประสิทธิภาพในชุมชนและสังคมต่อไป
|