ม.แม่โจ้ จัด “ปลูกต้นแรก วันแรกนาขวัญ ปลูกผักแลกค่าเทอม ปี3” สร้างขวัญกำลังใจให้นักศึกษาปลูกผักแลกค่าเทอม
วันที่ 12/05/2563    1,094 ครั้ง    ประเภท ข่าวกิจกรรม    ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม 2563 รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัย ร่วมกัน “ปลูกต้นแรก วันแรกนาขวัญ ปลูกผักแลกค่าเทอม ปี3” ในโอกาสเป็นวันดีของภาคการเกษตรหลังวันพืชมงคล เพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้กับนักศึกษาโครงการปลูกผักแลกค่าเทอม อีกทั้งยังเป็นการระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรที่มีต่อเศรษฐกิจไทย จึงกำหนดเอาวันหลังพระราชพิธีเป็นวันเริ่มต้น ณ แปลงปลูกผักแลกค่าเทอม สำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ (ฟาร์ม 907 ไร่)
โครงการปลูกผักแลกค่าเทอม เป็นโครงการยุทธศาสตร์หนึ่งของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ ทั้งด้านผลิตพืช ผัก ผลไม้ ไข่ เนื้อสัตว์ ปลา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เทคนิคทางการเกษตรจากการปฏิบัติงานจริงนอกห้องเรียน รวมทั้งมีรายได้เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองในการลงทะเบียนเรียน ขณะที่ทางคณะและสำนักได้บูรณาการการเรียนการสอน เพื่อการสร้างบัณฑิตที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ ทั้งยังเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม และเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ซึ่งดำเนินการมาเป็นปีที่ 3 แล้ว
ในโครงการปลูกผักแลกค่าเทอม ปีที่3 นี้ มีการพัฒนาโครงการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการผสานบูรณาการให้เกิดการเกษตรที่ครบวงจร จากต้นน้ำ สู่ ปลายน้ำ “ต้นน้ำ” คือการสร้างบุคลากรทางการเกษตรที่มีหัวใจของคนเกษตร รักและศรัทธาในอาชีพเกษตรกร โดยใช้แนวคิดของ FFT หรือ องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกที่โรงเรียนเกษตรกรรมเชียงใหม่ (มหาวิทยาลัยแม่โจ้ในปัจจุบัน) ใน พ.ศ.2504 ขณะนั้นเรียกว่า “อกท. หน่วยแม่โจ้” “กลางน้ำ” คือการพัฒนาพื้นที่แปลงให้มีความทันสมัยด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน เช่น การติดตั้งระบบน้ำอัตโนมัติ ระบบแม่นยำ ( Precision farming ) และฟาร์มอัจฉริยะ ( Smart farming ) ข้อมูลที่ได้จาก sensor ต่าง ๆ จะถูกส่งผ่านเครือข่ายช่องสัญญาณวิทยุมายัง Data center และถูกประมวลผล และสั่งงานย้อนกลับไปหน้าฟาร์มหรือ แสดงค่าการพยากรณ์ การเตือน และการแนะนำผ่านแอพพลิเคชั่นไปยังเกษตรกรโดยตรง รวมถึงการออกแบบพื้นที่แปลงเกษตรให้เป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงเกษตร ด้วยสถาปัตยกรรมธรรมชาติ การวางสีผักบนพื้นที่แปลงเพื่อให้เกิดรวดลายน่าสนใจ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศูนย์การเรียนรู้ และส่วนสุดท้ายที่เป็นส่วนสำคัญ และ “ปลายน้ำ” ภาคการตลาดที่จะเป็นการต่อยอดธุรกิจการเกษตรให้ยั่งยืนต่อไปได้ โดยโครงการมีแนวคิด ปลูกในสิ่งที่ตลาดต้องการ ปลูกในสิ่งที่ผู้บริโภคอยากได้ จึงจะสามารถตอบสนองการตลาดปลูกมาขายได้ โดยแบ่งการตลาดออกเป็น 2 ช่องทาง คือ offline ส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดแม่โจ้ 2477 ตลาดจำหน่ายสินค้าของมหาวิทยาลัย การทำ MOU ร่วมกับผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆ และหน่วยงานที่มีการประกอบอาหาร เช่น โรงพยาบาล โรงแรม หมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น และการตลาด online มีการสร้างความร่วมมือกับคณะบริหารธุรกิจ ในการจัดส่งสินค้าจำหน่ายใน KADSOD Delivery ซึ่งขณะนี้ได้ทำลองนำร่องภายในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในการจัดส่งสินค้าถึงบ้านและที่ทำงาน เพื่อขยายผลต่อภาคการตลาดในจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป ทั้งนี้สามารถติดตามการดำเนินงานและสนับสนุน สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ของนักศึกษา เพื่อเป็นการส่งเสริมรายได้เป็นทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาได้ผ่านช่องทาง facebook fanpage : ปลูกผักแลกค่าเทอม