ผู้รับผิดชอบหลัก
ผู้รับผิดชอบหลัก (นักศึกษา)
ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกสูงขึ้นมากกว่าในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม เฉลี่ย 1.1 องศาเซลเซียส ซึ่งจาก The Sixth Assessment Report รายงานว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า โลกจะอุ่นขึ้นหรือร้อนเร็วขึ้นกว่าในช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส หรือ 2 องศาเซลเซียส จะเกิดวิกฤตต่าง ๆ เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศโดยที่มนุษย์ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ปัจจัยหลักต่อการเร่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนคือ ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศไทย เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 21 ของโลก และเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากประเทศอินโดนีเซีย โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 0.9% ของโลก หรือคิดเป็นปริมาณ 331 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี พ.ศ. 2562 จากการประเมินเส้นทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในช่วงปี ค.ศ. 2010–2050 เพื่อให้บรรลุความตกลงปารีส และนำไปสู่การลดลงของก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ พบว่าประเทศไทยสามารถบรรลุข้อตกลงปารีสที่อุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียสและเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ ในปี ค.ศ. 2050 หากสามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และการใช้พลังงานภายในอาคาร คิดเป็นร้อยละ 90 74.6 57.7 และ 46.3 ตามลำดับ สำหรับประเทศไทยได้มีการตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดตัวชี้วัดไว้ 5 ด้าน โดยมีตัวชี้วัดหลักในการตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานและขนส่ง อุตสาหกรรม การใช้ผลิตภัณฑ์และการกำจัดของเสียลงอย่างน้อยร้อยละ 20 จากกรณีปกติ ในปี พ.ศ. 2580 (ค.ศ. 2037) โดยพิจารณาความสัมพันธ์ของพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Energy-Environment nexus) ในการจัดการในสาขาพลังงานและขนส่ง กระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และการจัดการของเสีย เช่น การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนแต่ยังคงต้องรักษาระดับค่าความเข้มของการใช้พลังงาน (Energy Intensity; EI) ของประเทศให้อยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้หรือเพิ่มสูงขึ้น การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการคมนาคม การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมแบบปล่อยคาร์บอนต่ำ ตลอดจนลดการก่อให้เกิดของเสีย
หากพิจารณาปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิแล้วนั้น จะพบว่ายังมีอีกส่วนหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก คือ พื้นที่สีเขียวที่เป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Sink) ทั้งนี้ ในยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเองก็ได้มีการกำหนดเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ซึ่งมีการประมาณการว่าน่าจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 100 ล้านตันต่อปี ยิ่งไปกว่านั้น การจัดการพื้นที่สีเขียวหรือทรัพยากรป่าไม้อย่างเหมาะสมยังช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านโมเดลเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio Economy) ได้อีกทางหนึ่ง โดยในส่วนของการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และการติดตามสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยนั้น จะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งกำกับดูแลทั้งในส่วนของการจัดการทรัพยากรป่าไม้และพื้นที่สีเขียว และยังเป็นหน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งจะเป็นผู้นำเสนอ NDC ของประเทศในเวทีสหประชาชาติตามที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลงปารีส (Paris Agreement) การดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทั้ง 2 ด้านนี้จะอยู่ภายใต้แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแผนหลักของกระทรวงที่ใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ทรัพยากรชายฝั่ง และความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศซึ่งหมายรวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกันตลอดจนการสร้างการมีส่วนร่วมและการสื่อสารเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการจัดการก๊าซเรือนกระจกและแนวทางการปรับตัวเพื่อรับมือผลกระทบให้กับสังคมในทุกภาคส่วนที่เป็นหนึ่งในบทบาทที่สำคัญของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงเรียกได้ว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ในการจัดการส่วนของการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(Carbon sink)และภาพรวมในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต้นทางอย่างใกล้ชิด
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงาน “การประชุมวิชาการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประจำปี 2565” ในหัวข้อ “บทบาทของมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นกลางทางคารบอนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Universities in Action for Carbon Neutrality towards SDGs) ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงได้ตอบรับนโยบาย ซึ่งมุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตอบสนองต่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในระดับพื้นที่และประเทศ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral University) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาของโลกอย่างยั่งยืน
รายละเอียดเพิ่มเติม