ผู้รับผิดชอบหลัก
ผู้รับผิดชอบหลัก (นักศึกษา)
มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นสถาบันที่มุ่งเน้นด้านการเกษตร ซึ่งยึดถือการพัฒนาบนฐานของความเคารพและให้ความสำคัญกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรอินทรีย์ มหาวิทยาลัยสีเขียวและมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศตามลำดับ โดยมีกลยุทธ์การพัฒนาผ่านการบูรณาการพันธกิจของมหาวิทยาลัยทุกด้านให้ครอบคลุมสู่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักศึกษา บุคลากร ศิษย์เก่า ตลอดจนชุมชนและเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชีวิตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาการท่องเที่ยว คณะพัฒนาการท่องเที่ยว มีความตระหนักถึงหน้าที่ในการตอบสนองต่อยุทธศาสตร์และนโยบายของมหาวิทยาลัย โดยนำเอายุทธศาสตร์ดังกล่าวมาบูรณาการเข้ากับการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตร ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีผลการเรียนรู้ที่คาดหวังตามที่หลักสูตรกำหนด และสร้างความเข้าใจถึงองค์รวมในการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนทางด้านการท่องเที่ยวเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
โครงการ การสร้างสรรค์ตำรับอาหารเชิงหน้าที่จากวัตถุดิบอินทรีย์ตามฤดูกาลเพื่อการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว “Creative Food Design for Tourism: EatWell, DrinkWell” เป็นโครงการที่มีกิจกรรมซึ่งออกแบบให้นักศึกษาเข้าใจการปรุงประกอบอาหารเชิงหน้าที่จากวัตถุดิบอินทรีย์พื้นถิ่นตามฤดูกาลจากเชฟที่ปรึกษาของคณะพัฒนาการท่องเที่ยวและเชฟผู้เชี่ยวชาญจากร้านอาหารชั้นนำในจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับการบูรณาการองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการเกษตรอินทรีย์ของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย งานวิจัยเรื่อง “การยกระดับสินค้าและบริการในธุรกิจร้านอาหารด้วยอณูศิลปะวิทยาการ (Molecular Gastronomy) : กรณีศึกษาร้านอาหาร Medium Rare จังหวัดเชียงใหม่” นำโดย ผศ.ดร.ชุติมา คงจรูญ อ.ดร.มนสิชา อินทจักร และอ.ดร.วลัยลดา ถาวรมงคลกิจ ได้นำเอาผงใบข้าวหอมซึ่งเป็นผลผลิตจากงานวิจัยเรื่อง “การกระตุ้นการสร้างพฤกษเคมีของต้นกล้าข้าวเหนียวสันป่าตองโดยใช้โปรตีนไฮโดรไลเสทจากปลา” ไปใช้เพื่อสร้างสรรค์ตำรับอาหาร ซึ่งผงใบข้าวหอมมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ป้องกันอาการแพ้ ต้านการแบ่งเซลล์ของเซลล์มะเร็งและต้านสารก่อมะเร็ง จึงเป็นวัตถุดิบที่สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องดื่มเชิงหน้าที่ เครื่องดื่มส่งเสริมสุขภาพ ใช้เป็นส่วนผสมในการทำขนมไทยและขนมอบ ใช้โรยหน้าอาหารทั้งคาวและหวาน หรือใช้เป็นส่วนประกอบในเวชสำอาง ซึ่งในโครงการ การสร้างสรรค์ตำรับอาหารเชิงหน้าที่จากวัตถุดิบตามฤดูกาลเพื่อการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว “Creative Food Design for Tourism: EatWell, DrinkWell” นี้ นักศึกษาจะเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงที่โดยใช้วัตถุดิบอินทรีย์ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระในระดับใกล้เคียงกันในการปรุงประกอบอาหาร
หลักสูตรสาขาพัฒนาการท่องเที่ยวจึงนำเอาองค์ความรู้จากงานวิจัยดังกล่าวผนวกเข้ากับศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเชิงศิลปวิทยาการอาหาร หรือ Gastronomy Tourism จัดเป็นโครงการเพื่อให้นักศึกษาเข้าใจวิธีการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการในแหล่งท่องเที่ยว เสริมสร้างประสบการณ์ให้แก่นักท่องเที่ยวโดยใช้คุณค่าแห่งผลผลิตจากวัตถุดิบพื้นถิ่นตามฤดูกาล วัตถุดิบอินทรีย์ และคุณค่าของอาหารเชิงหน้าที่เป็นใจความในการสื่อสารผ่านอาหาร ต่อยอดเป็นสินค้าและบริการตามโครงการ EatWell DrinkWell ที่คณะพัฒนาการท่องเที่ยวเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 เพื่อส่งมอบให้กับนักท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถให้ผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่ามีความเข้มแข็ง และเพิ่มมูลค่าให้แก่แหล่งท่องเที่ยวต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติม