ผู้รับผิดชอบหลัก
ผู้รับผิดชอบหลัก (นักศึกษา)
ตามที่กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีนโยบายดำเนินโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ปฏิรูปการบริหารงานและปรับเปลี่ยนหลักสูตรการสอนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง สามารถผลิตบุคคลากรคุณภาพสูง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมยกระดับคุณภาพมหาวิทยาลัยไทยให้ทัดเทียมนานาชาติและเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่ยุค 4.0 ได้อย่างสมบูรณ์ โดยได้กําหนดการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาออกเป็น 4 กลุ่ม ตามจุดเน้นเชิงยุทธศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งได้ใช้ความสามารถและศักยภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ 1) การพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global & Frontier Research) 2) การพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (Technology & Innovation) 3) การพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based & Community) 4) การผลิตบุคลากรวิชาชีพสาขาต่างๆ (Development of Professionals and Specialists) โดยให้สถาบันอุดมศึกษาวิเคราะห์จุดแข็งและจุดที่ต้องการพัฒนาศักยภาพและนำข้อมูลการวิเคราะห์มาตัดสินใจเลือกกลุ่มยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับจุดแข็งของมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยได้วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ตัวตน อัตลักษณ์ ความเชี่ยวชาญ และความท้าทายของมหาวิทยาลัยแล้ว เห็นชอบการเลือกกลุ่มมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่ม 2 การพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (Technology & Innovation) ตามมติสภามหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 สำหรับการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับการอนุมัติกรอบงบประมาณโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ภายใต้โครงการยกระดับวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ MJU Enhancing SMEs and New Entrepreneurs with Smart and Modern Agricultural Technology Innovation (SMATI) และในปี พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยแม่โจ้สู่มหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ MJU Reinventing: Smart & Modern Agricultural Technology โดยมุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ซึ่งมี อัตลักษณ์ความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเกษตร ความพร้อมในด้านทรัพยากรบุคคล องค์ความรู้ เครือข่ายความร่วมมือ รวมถึงปัจจัยเกื้อหนุนต่าง ๆ เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางและมีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การยกระดับและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรต่อไป
สำหรับการขับเคลื่อนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่ม 2 ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้นั้น ได้บูรณาการการมีส่วนร่วมผ่านการจัดทำคำรับรองฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ระหว่างอธิการบดีและผู้บริหารส่วนงานภายใน จำนวน 9 ตัวชี้วัด ในมิติที่ 4 การพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ตามแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประกอบด้วย 4.1 จำนวนผลงานวิจัยที่ยื่นขอจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร/บัญชีนวัตกรรม/นวัตกรรมต้นแบบ 4.2 นักศึกษาและบัณฑิตผู้ประกอบการ หรือผู้ที่ได้รับการพัฒนาเป็นผู้ประกอบการ 4.3 รางวัลด้านผู้ประกอบการ (Startup Awards) 4.4 งบประมาณจากแหล่งทุนภายนอกสนับสนุนการ สร้างผู้ประกอบการ/ธุรกิจใหม่ 4.5 บุคลากรสถาบันอุดมศึกษาและนักศึกษาที่แลกเปลี่ยนความรู้สู่ภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม 4.6 ระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเร่งพัฒนาผู้ประกอบการ 4.7 หลักสูตร/โปรแกรมเฉพาะที่ใช้เทคโนโลยี/นวัตกรรมเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ 4.8 งบประมาณการพัฒนาเทคโนโลยี/นวัตกรรมเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ 4.9 ความร่วมมือเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมกับภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันมหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่ม 2 ต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติม