การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียต่อการเรียนการสอนหลักสูตรบัญชีบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยการสำรวจความต้องการ ความพึงพอใจและความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่อหลักสูตรบัญชีบัณฑิต ไว้เป็นแนวทางในการปรับปรุงการเรียนการสอน ตลอดทั้งใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนพัฒนาการบริหารหลักสูตรบัญชีบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนานักศึกษาหลักสูตรบัญชีบัณฑิตให้ตรงต่อความต้องการของสถานประกอบการ ซึ่งการวิจัยในครั้งนี้เป็นการศึกษาในรูปแบบการวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการทำแบบสอบถามจาก 5 กลุ่ม ได้แก่ นักศึกษาสาขาบัญชีบัณฑิตในปัจจุบัน จำนวน 220 คน ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาต่อ จำนวน 200 คน ศิษย์เก่า จำนวน 110 คน ผู้ปกครอง จำนวน 95 คน และผู้ใช้บัณฑิต จำนวน 69 สถานประกอบการ
การวิจัยเชิงปริมาณใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการทำแบบสอบถาม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ แบบสอบถาม และการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีสถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistic) ซึ่งแสดงผลการวิเคราะห์ในรูปแบบตารางประกอบคำอธิบายจากโปรแกรม SPSS โดยใช้ค่าสถิติคือ ความถี่ (Frequency) ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Means) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviatio) โดยผลการวิจัยพบว่า
สำหรับด้านนักศึกษาสาขาบัญชีในปัจจุบัน มีความต้องการมากที่สุด คือ ด้านสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ รองลงมา ด้านการจัดการเรียนการสอน มีความพึงพอใจด้านการเรียนรู้ตลอดหลักสูตรได้พัฒนาคุณลักษณะของนักศึกษา รองลงมา คือ ด้านอาจารย์ผู้สอนและภาพรวมของหลักสูตร โดยมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับคณะบริหารธุรกิจ คือ การเพิ่มขนาดโต๊ะ รองลงมา การปรับเปลี่ยนเบาะรองนั่งให้เก้าอี้ และพนักพิงเป็นเบาะนุ่ม และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับอาจารย์ผู้สอน คณะบริหารธุรกิจ คือ การปรับวิธีการสอนให้ช้าลง รองลงมา การสั่งงานของอาจารย์แต่ละท่าน ควรมีการกระจายจำนวนงานแต่ละครั้งให้เหมาะสม
สำหรับด้านผู้ที่สนใจเข้าศึกษาต่อ มีความต้องการมากที่สุด คือ ด้านหลักสูตรบัญชีบัณฑิต รองลงมา คือ ด้านภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีความคิดเห็นในด้านต้องการออกฝึกงานในสถานประกอบการ ด้านค่าเล่าเรียนอยู่ระหว่าง 5,000-7,000 บาท และไม่ต้องการให้มีภาษาต่างประเทศอื่นนอกเหนือจากภาษาอังกฤษ โดยมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับคณะบริหารธุรกิจ คือ มีการอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่เรียนหรือสิ่งที่ต้องนำไปใช้ในการประกอบวิชาชีพในอนาคต รองลงมา คือ มีสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับอาจารย์ผู้สอนคณะบริหารธุรกิจที่อยากจะให้เป็น คือ อาจารย์มีความกระตือรือร้นในการสอน รองลงมาคือ อาจารย์สอนให้เข้าใจ เข้าถึงนักศึกษา
สำหรับด้านศิษย์เก่า มีความคิดเห็นมากที่สุด คือ ด้านอาจารย์ผู้สอนในภาพรวมของหลักสูตร รองลงมา คือ การวัดและประเมินผล และมีข้อเสนอแนะ คือ การเพิ่มการเรียนการสอนเนื้อหาเชิงลึก และทักษะของ โปรแกรม Excel และการเพิ่มจำนวนชั่วโมงในการเรียนวิชาโปรแกรมสำเร็จรูปทางบัญชี
สำหรับผู้ปกครอง มีความต้องการมากที่สุด คือ ด้านทักษะการวิเคราะห์ การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของนักศึกษา รองลงมา คือ ด้านสภาพแวดล้อม มีความต้องการค่าเล่าเรียนอยู่ระหว่าง 7,000-9,000 บาท และมีความต้องการให้มีการสอนภาษาจีน โดยมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับอาจารย์ผู้สอน คณะบริหารธุรกิจคือ อาจารย์ผู้ดูแลนักศึกษาอย่างทั่วถึง รองลงมา คือ มีเทคโนโลยีที่สะดวกต่อการสอน และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับคณะบริหารธุรกิจคือ สร้างสังคมที่ดีให้กับนักศึกษา รองลงมา คือ มีทุนการศึกษาให้นักศึกษา
สำหรับผู้ใช้บัณฑิต มีความต้องการมากที่สุด คือ ด้านคุณธรรม จริยธรรม รองลงมาคือ ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ และมีข้อเสนอแนะ คือ บัณฑิตมีความรู้ความสามารถในวิชาชีพอยู่ในระดับดีมาก บัณฑิตควรหมั่นฝึกฝนพัฒนาความรู้ด้านบัญชีต่อไป รองลงมา คือ บัณฑิตควรมีความรู้ความสามารถในด้านวิชาชีพอยู่ในระดับดีมาก