ทีมนักวิจัยแม่โจ้ เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัด ผนึกกำลังสร้าง “นวัตกร” โครงการเชียงใหม่โมเดล
วันที่ 02/07/2564    865 ครั้ง    ประเภท ข่าวกิจกรรม    ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม 2564 อาจารย์ ดร. นเรศ ศิริเกสร อาจารย์ประจำคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หัวหน้าทีมนักวิจัยโครงการเชียงใหม่โมเดล (ม.แม่โจ้) พร้อมด้วย สส.วิทยา ทรงคำ กรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และที่ปรึกษาโครงการเชียงใหม่โมเดล นำทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เข้าพบ นายเจริญฤทธฺิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหารือนำเสนอ โครงการเชียงใหม่โมเดล ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับอนุมัติ ภายใต้โครงการจังหวัดโมเดล เศรษฐกิจฐานราก สร้างต้นแบบการพัฒนาเกษตรกรยุคใหม่ ให้เป็น “นักนวัตกร” ในพื้นที่นำร่อง ต.แม่ปั๋ง ต.ป่าไหน่ อำเภอพร้าว และ ต.แม่แฝก อำเภอสันทราย

โครงการเชียงใหม่โมเดล เป็นโครงการการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตเกษตรกรและชุมชนด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมบริการมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอาชีพเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรฐานราก ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้นำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม พัฒนาเป็นชุมชนเชียงใหม่โมเดล พื้นที่สันทรายและพร้าว ให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ โดยใช้กรอบแนวคิดนวัตกรเกษตรบริการที่เป็นแพลทฟอร์มในการสร้างคนในพื้นที่ให้มีอาชีพและสร้างงานในฐานะผู้ประกอบการบริการเกษตร ยกระดับรายได้จากพืชหลักที่เกษตรกรดำเนินการอยู่ให้มีประสิทธิผลและมีคุณภาพของผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นและเพิ่มระบบการจัดการพื้นที่ทำกินให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้สามารถสร้างรายได้แบบรายวัน รายเดือน และรายปี ฐานของการพัฒนาโครงการนี้เกิดขึ้นจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของคณะผู้วิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ถ่ายทอดให้กับเกษตรกรแบบ “พาทำและทำไปด้วยกัน” สถานที่นำร่อง ได้แก่ ต.แม่แฝก อ.สันทราย, ต.ป่าไหน่ และต.แม่ปั๋ง อ.พร้าว
ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และหน่วยบริหาร และจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายในโครงการเชียงใหม่โมเดลประกอบด้วยทั้งหมด 9 กิจกรรมหลัก
1. การสร้างผู้ประกอบการใหม่ด้วยนวัตกรเกษตรบริการ อบรมให้ความรู้ด้านการตลาดออนไลน์ เพื่อสร้างนวัตกรบริการ
2. การส่งเสริมการผลิตลำไยคุณภาพและการผลิตลำไยนอกฤดู สาธิตการตัดแต่งช่อผลลำไย เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพ
3. การพัฒนาศักยภาพเพื่อเพิ่มปริมาณคุณภาพการผลิตมะม่วง อบรมการเก็บเกี่ยวมะม่วงให้ผลผลิตเสียหายน้อยที่สุด และสาธิตการตัดแต่งกิ่งเพื่อชักนำให้เกิดมะม่วงนอกฤดู
4. พืชผักสวนครัว ผักงอกและผักสมุนไพรฯ พาเกษตรกรพบสถานประกอบการ (ตลาด) เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจว่ามีตลาดรองรับผลผลิต ซึ่งเดิมทีเกษตรกรขายผลผลิตเพียงแต่ ในพื้นที่ของตนเท่านั้น
5. การสร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยการปลูกผักสวนครัวแบบประหยัดน้ำฯ อบรมการผลิตผักโดยคำนึกถึงสุขภาพเกษตรกร และคงคุณประโยชน์สูงสุด
6. การปลูกดาวเรืองตัดดอกฯ อบรมและสาธิตวิธีการเพาะกล้าให้ได้คุณภาพ หรือเกิดความเสียหายน้อยที่สุด
7. การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลผลิตฯ อบรมวิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ได้คุณภาพ และลดการสูญเสีย พร้อมทั้งอบรมวิธีการแปรรูปผลผลิต เพื่อยกระดับ ไม่เพียงแต่การขายผลผลิตสดเท่านั้น
8. ตลาดชุมชน วางแผนร่วมกับกลุ่มผู้นำชุมชน เพื่อออกแบบ ปรับปรุงภูมิทัศน์ของตลาด เพื่อยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น ดึงดูดนักท่องเที่ยว
9. ตลาดออนไลน์ อบรมการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด

ซึ่งขณะนี้โครงการได้เริ่มดำเนินการในระยะที่1 แล้ว โดยการศึกษาพื้นที่และเลือกชุมชนต้นแบบให้การถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อสร้างเกษตรกรต้นแบบในการเป็นแกนนำขยายต่อไปยังพื้นที่ต่างๆ ให้ครอบคลุมอำเภอสันทราย และอำเภอพร้าว ในระยะต่อไป