นศ.เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ม.แม่โจ้ สุดยอด คว้าแชมป์ประกวดสุนทรพจน์ระดับประเทศ UNOSSC-UNESCAP Student Speech Competition 2020
วันที่ 29/02/2563    962 ครั้ง    ประเภท ข่าวกิจกรรม    ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

นักศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ชนะเลิศการประกวดสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษระดับประเทศ รายการ UNOSSC-UNESCAP Student Speech Competition 2020 จัดโดย The UN Office for South-South Cooperation (UNOSSC) และ the United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (UNESCAP) เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ณ UN Conference Centre ณ องค์กรสหประชาชาติ (UN) กรุงเทพมหานคร

การประกวดจัดขึ้นในหัวข้อ Triangular cooperation for sustainable development เพื่อให้นักศึกษาที่เป็นเยาวชนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยใช้กรอบความร่วมมือของ South-South and Triangular cooperation การแข่งขันในครั้งนี้อยู่ภายใต้การจัดการความรู้และ Youth4South ซึ่ง UNOSSC ได้พยายามผลักดันให้สถานศึกษาช่วยกระตุ้นและสร้างความตระหนักถึงความร่วมมือของ South-South and triangularcooperation ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ มีการจัดการแข่งขันทั้งในระดับปริญญาโท และระดับปริญญาตรี มีทั้งนักศึกษาชาวไทยและชาวต่างชาติ จากสถานบันการศึกษาจากทั่วประเทศส่งทีมเข้าร่วมแข่งขัน โดยมีเกณฑ์การตัดสินคือ 1. Organization and clarity 2. Use of Argument 3. Use of facts, graphics/visual aid and statistics 4. Understanding topics 5. Presentation style
ซึ่ง ทีมที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประกอบด้วย นางสาวอภิชญาวัฒนวรรณกุล, นายฐิติพงค์ ศาสตร์ศิริ และ นางสาวธัญรัตน์ แก้วทอง นักศึกษาสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ โดยมี ผศ.ดร.วรรณวิไล จุลพันธ์ และ Asst.Prof.Jorge Fidel Barahona, Ph.D อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เป็นอาจารย์ผู้ดูแล

หัวข้อที่ได้รับในการประกวด คือ .”ความร่วมมือแบบ Triangular เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
“………เมื่อพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับนานาชาติ จะขาดไม่ได้เลยที่จะพูดถึงความร่วมมือระหว่างประเทศใน 3 รูปแบบ คือ 1) North-South Cooperation หรือ ความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 2) South-South Cooperation หรือ ความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และ 3) Triangula Cooperation หรือ ความร่วมมือแบบไตรภาคี
ความร่วมมือ แบบ North-South Cooperation และ South-South Cooperation มุ่งเน้นไปที่การถ่ายทอดความรู้ทางด้านเทคโนโลยี ความรู้ และแนวทางปฏิบัติที่ดี (Best practice) ซึ่งจะมีระยะเวลาในการดำเนินการที่สั้นและมีงบประมาณจำกัด ในขณะที่ Triangular cooperation เป็นความร่วมมือที่ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเกิดการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่ง Triangular cooperation จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่นำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้แล้วยังทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้และความร่วมมือระหว่างประเทศที่ทำให้เกิดการพัฒนาทางด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ในปัจจุบันพบว่าความร่วมมือระหว่างประเทศส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของ Triangular cooperation มากว่าความร่วมมือของการพัฒนาที่ยั่งยืนในรูปแบบอื่น...”

ผศ.ดร.วรรณวิไล จุลพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญ เป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจของทั้งนักศึกษา และสถาบัน เหนือสิ่งอื่นใดคือการที่นักศึกษาได้มีเวทีในการแสดงความสามารถ ได้มุ่งมั่น ทุ่มเท จนประสบความสำเร็จ แสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้เราก็สามารถที่จะสร้างนักศึกษาให้ก้าวสู่เวทีระดับชาติได้เช่นกัน รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจกับเด็กๆมากค่ะ”