มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ฯ จับมือ ปตท. และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ย้อนอดีต ไม้ใหญ่กรุงเก่า ริมน้ำเจ้าพระยา กว่า 200 ต้น
วันที่ 04/10/2561    882 ครั้ง    ประเภท ข่าวกิจกรรม    ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

วันที่ 3 ตุลาคม 2561 นายคมสัน เจริญอาจ ปลัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดการเสวนาวิชาการ “ย้อนอดีต ไม้ใหญ่กรุงเก่าริมน้ำเจ้าพระยา เรียนรู้และอนุรักษ์อย่างยั่งยืน” โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี ผศ.ดร. แหลมไทย อาษานอก เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยจัดทำแผนอนุรักษ์ต้นไม้ขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา ได้เปิดเผยว่า จากการที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ได้ทำการศึกษานิเวศวิทยาป่าลุ่มต่ำลำน้ำเจ้าพระยา โดยใช้วิธีศึกษาต้นไม้ที่ยังหลงเหลืออยู่ตามริมแม่น้ำ และหลังจากศึกษาแล้ว พบว่า ในพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยามีต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก โดยเฉพาะเขตในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงตั้งเป้าจะอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้ สถาบันปลูกป่าและนิเวศน์ของ ปตท. ได้ให้ทุนสนับสนุนมาเป็นปีที่ 2 เพื่อศึกษาเรื่องนิเวศวิทยาของต้นไม้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดพบจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวน 232 ต้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 14 ล้านบาท "ต้นไม้ใหญ่ทุกวันนี้ได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก อาจเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน บางครั้งทำการเทปูนล้อมรอบต้นไม้เสียส่วนใหญ่ และด้วยอายุขัยของต้นไม้เอง รวมถึง มีการทำลายของโรคและแมลง ซึ่งทีมงานวิจัยของผมเองก็เห็นว่า เราควรที่จะหาแนวทางที่จะจัดการเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นแบบแผน เราจำเป็นต้องให้ความรู้" ผศ.ดร. แหลมไทย อาษานอก กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยาถือเป็นจังหวัดที่มีไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและเป็นไม้หวงห้าม ทั้งกลุ่มไม้ยาง ไม้ตะเคียน ไม้ยางนา และไม้สะตือ ซึ่งไม้เหล่านี้เป็นกลุ่มไม้ที่อยู่ในบัญชีที่รัฐบาลสนับสนุน เป็นไม้ที่มีค่า สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านการอนุรักษ์หรือด้านการประเมินมูลค่าที่สำคัญและน่าสนใจอย่างมาก ทางด้านนายชิดชัย แก้วบริสุทธิ์ ผู้จัดการสถาบันลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. กล่าวว่า บริษัท ปตท.เป็นคนกลางเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน ช่วยรณรงค์และพยายามรักษาพื้นที่ป่าและต้นไม้ใหญ่ที่สำคัญเอาไว้ ตลอดริมน้ำเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบัน ปตท. จะต่อยอดขยายจากการปลูกป่ามาเป็นขยายระบบนิเวศป่าไม้มากขึ้น เพื่อให้การอนุรักษ์ครอบคลุมไปถึงเป้าหมายปลายทางที่แท้จริง

นิตยา หิรัญประดิษฐ์ /ข่าว
พยุงศักดิ์ เทพแก้ว / ภาพ