ผู้รับผิดชอบหลัก
ผู้รับผิดชอบหลัก (นักศึกษา)
จังหวัดเชียงใหม่ มีความหลากหลายและโดดเด่นทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ทำให้กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิดการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community –Based Tourism) เติบโตอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดเชียงใหม่ จากทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ที่เน้นความยั่งยืนในมิติสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การเสริมสร้างมูลค่า/สร้างรายได้ให้กับชุมชน และการให้ความสำคัญกับคุณค่าและความภาคภูมิใจของมรดกวัฒนธรรมและธรรมชาติของชุมชน อันจะทำให้การพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืนของสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติ
อย่างไรก็ตามการเติบโตทั้งปริมาณและคุณภาพของการท่องเที่ยวในโลกปัจจุบัน จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ความหลากหลายและความสนใจของนักท่องเที่ยวแต่ละเชื้อชาติ /อายุ/อาชีพ ตลอดถึงความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลการท่องเที่ยวด้วยเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทำให้แนวคิดการท่องเที่ยวจากการไปให้ถึง การแวะเยี่ยมชม การมองเห็นถ่ายรูป การซื้อของที่ระลึก เปลี่ยนเป็นความต้องการของนักท่องเที่ยวที่อยากเข้าไปมีส่วนร่วม (Active participation) มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน (Interaction) มีการเรียนรู้ประสบการณ์ (Learning experience) ในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนชุมชนท้องถิ่น (host communities) ในขณะที่ชุมชนเจ้าของวัฒนธรรมและพื้นที่ท่องเที่ยวก็มีความตระหนักรู้ในคุณค่าของสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมชุมชนตัวเองมากขึ้น เป็นทิศทางใหม่ของการท่องเที่ยว ที่เรียกว่า การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) และถูกบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 เป็นต้นมา
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่มีปรัชญาว่าด้วยความรู้ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ นำไปสู่ความเข้าใจสังคม คุณค่าความเป็นมนุษย์ คุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม การใช้เหตุผลในการสื่อสาร การวิเคราะห์ชีวิตและการพัฒนาสังคมได้อย่างสร้างสรรค์ จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นโดยเล็งเห็นถึงศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีจุดแข็งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ ที่สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม ควรค่าแก่การดูแล รักษา และพัฒนาต่อยอดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติต่อไป อีกทั้งการจัดโครงการในครั้งนี้เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษาของคณะได้รับการพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศสำหรับการเป็นผู้ประกอบการเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชน และยังเป็นการต่อยอดจากการจัดโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการต่อเนื่องให้มีคุณภาพสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืน ที่ทางคณะศิลปศาสตร์ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมตำรายาสมุนไพรล้านนา ณ จังหวัดแพร่และน่านอีกด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติม