โครงการพัฒนาประสบการณ์ทางวิชาชีพแก่นักศึกษาและศิษย์เก่า

วันที่เริ่มต้น 01/03/2559 เวลา 13:00 วันที่สิ้นสุด 01/03/2559 เวลา 16:00
สถานที่จัด คณะเทคโนโลีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ 

หน่วยงานที่จัด ผู้รับผิดชอบ ผู้เข้าร่วม
หน่วยงานที่จัด
คณะ/สำนัก คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ สาขา/กอง หน่วยงานภายใน  
การพัฒนานักศึกษานอกจากทางด้านวิชาการแล้วต้องมีการส่งเสริมการจัดบริการด้านต่าง ๆ ให้แก่นักศึกษาและศิษย์เก่าอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะกิจกรรม (1) การบริการด้านการแนะแนวและการให้คำปรึกษาทั้งด้านวิชาการและการใช้ชีวิต (2) การบริการด้านข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและศิษย์เก่า เช่น ทุนกู้ยืมการศึกษา แหล่งทุนการศึกษาต่อ การบริการจัดหางาน แหล่งข้อมูลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวในและนอกสถาบันที่จำเป็นแก่นักศึกษาและศิษย์เก่า และ (3) การจัดโครงการเพื่อพัฒนาประสบการณ์ทางวิชาชีพแก่นักศึกษาและศิษย์เก่าในรูปแบบต่าง ๆ
ดังนั้น ทางคณะจึงได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงได้จัดโครงการให้บริการนักศึกษาและศิษย์เก่าเพื่อเสริมสร้างทักษะด้านการประมงให้แก่นักศึกษาและศิษย์เก่าในการประกอบอาชีพให้ตรงกับสาขาทางการประมง หรือนำความรู้ไปประกอบอาชีพอิสระ ช่วยแนะแนวและให้คำปรึกษาทั้งด้านวิชาการและการใช้ชีวิตอีกทั้งยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้องและคณาจารย์ในคณะ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีที่สามารถใช้เป็นแนวทางให้การประกอบอาชีพในอนาคตต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติม
ตอนที่ 1 รายละเอียด
ประเภท/ลักษณะงาน ไม่ระบุ
เกี่ยวข้องกับกิจกรรม ไม่ระบุ
ระดับ อื่นๆ
ปริมาณงานทั้งหมด 3  
เป้าหมายผู้เข้าร่วม 50 คน
จำนวนผู้เข้าร่วม   115 คน
ตอนที่ 2 รายรับ-รายจ่าย
รายรับ   ไม่ระบุ บาท
มูลค่ารายรับ   ไม่ระบุ บาท
ค่าใช้จ่าย ไม่ระบุ บาท
มูลค่าค่าใช้จ่าย   ไม่ระบุ บาท
ตอนที่ 3 ผลการดำเนินงาน
โครงการพัฒนาประสบการณ์ทางวิชาชีพแก่นักศึกษาและศิษย์เก่า ได้จัดขึ้นในวันที่ 1 มีนาคม 2559 โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 124 คน ซึ่งคณะฯ ได้เชิญศิษย์เก่าประมงแม่โจ้ที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพมาร่วมเสวนากันในหัวข้อ “การเป็นนักประมงมืออาชีพในศตวรรษที่ 21” สามารถสรุปเนื้อหาในการเสวนา ได้ดังนี้
? คุณนฤทธิ์ คำธิศรี (เกษตรกรดีเด่นจังหวัดสกลนคร และปราชญ์เดินดิน ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 50) บอกเล่า
วิถีชีวิตและรูปแบบการดำเนินชีวิตในช่วงวัยนักศึกษาระหว่างเรียนสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ ระหว่างปี พ.ศ. 2528-2532 ด้วยจากพื้นฐานความเป็นลูกหลานเกษตรกร ครอบครัวทางบ้านก็มีอาชีพทำนา เป็นเกษตรกรมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ แห่งบ้านตำบลโพธิไพศาล อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร และตนเองก็มีความฝันว่าจะทำอาชีพนี้ต่อไป จึงเลือกศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาประมง จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต่อมาก็ได้เข้าทำงานเป็นนักวิจัยในระบบราชการ แต่ทำอยู่ได้เพียง 6 เดือน ตัดสินใจลาออก จากนั้นก็ไปทำงานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฟาร์มกุ้ง อยู่ในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และภายใน 6 เดือนก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการฟาร์มกุ้ง ได้รับเงินเดือนรวมกับเบี้ยเลี้ยงแล้วก็ประมาณเดือนละมากกว่าหนึ่งแสนบาท เมื่อมีเวลาได้กลับไปเยี่ยมบ้าน จึงเริ่มทดลองปลูกพืชต่างๆ เอาไว้ในดินลูกรังที่ใครๆ ต่างกล่าวว่าปลูกอะไรไม่ขึ้น ปลูกไปเท่าไรก็ตายหมด ในช่วงเวลานั้นนับว่าเป็นการเก็บข้อมูล โดยการคอยดู คอยสังเกต ว่าต้นพืชที่ปลูกไว้จะรอดหรือไม่ ซึ่งสิ่งที่เห็น คือ พืชที่ปลูกไว้ยังไม่ตาย เติบโตขึ้นแตกกิ่งก้านสาขาอย่างน่าชื่นใจ และนี่เองคือเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจกลับไปทำตามความฝันของตัวเขาเองที่บ้านเกิด ไม่สนใจไยดีต่อเงินเดือนที่เคยได้รับ โดยนำเงินเก็บที่มีอยู่มาทำความฝันให้เป็นจริงด้วยความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ซึ่งวิธีการปลูกต้นไม้ด้วยวิธีที่ค้นพบ คือ การปล่อยให้ต้นไม้เติบโตด้วยตัวของมันเอง จะคอยช่วยเหลือมันบ้างแต่ก็เพียงเล็กน้อย ถ้ามันไปไม่รอด ตายก็ปลูกใหม่ ตายได้ก็ปลูกใหม่ได้ ไม่มีการใช้ยาเคมี ใช้แต่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยแบบสดๆ กันเลย และไม่ต้องจ้างคนงานให้เสียเงิน เพราะแรงตัวเองยังมีก็ใช้แรงตัวเอง ทำไปเท่าที่ยังมีแรงทำได้ ทั้งนี้ต้องมีความขยัน อดทน และเชื่อมั่นในอุดมการณ์ว่า “ทำเกษตรจะไม่จน หากทุกคนรู้จักวางแผน เมื่อเกิดมาเป็นคนแล้วจะต้องขยัน อดทน อดกลั้น เพื่อที่จะรอคอยผลผลิต มีความซื่อสัตย์ และต้องตระหนักไว้เสมอว่างานหนักไม่เคยฆ่าคน หากรู้จักคิด รู้จักวางแผน เพราะจะเป็นหนทางนำไปสู่ความสำเร็จในวันข้างหน้า”
จากการเป็นบัณฑิตประมง และปราชญ์เดินดินที่ได้รับการยอมรับจากสังคมและมีการรับรองโดยหน่วยงานต่างๆ อาทิเช่น เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพดีเด่น สาขาไร่นาสวนผสมในปี 2548 จากสำนักงานเกษตรจังหวัดสกลนคร รางวัลคนดีศรีเมืองสกลประจำปี 2547 จากจังหวัดสกลนคร รางวัลคนดีเมืองสกล เชิงประจักษ์ ประจำปี 2548 จากชมรมส่งเสริมคนดีเมืองสกล และดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านการประมง การพัฒนาภูมิสังคม เศรษฐศาสตร์ และเกษตรพอเพียง จากสถาบันการศึกษาต่างๆ รวม จำนวน 4 สถาบัน นำไปสู่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศโดยการเป็นที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรี (พ.ศ. 2546–ปัจจุบัน) คณะกรรมการกลั่นกรองสำนักงานวิจัยแห่งชาติในการกำหนดกรอบพัฒนางานวิจัย (พ.ศ. 2549–ปัจจุบัน) คณะกรรมการร่างกฎหมายแก้ไขหลักสูตรระดับอุดมศึกษา (พ.ศ. 2551–ปัจจุบัน) และคณะกรรมการดำเนินงานเกษตรกรกับภูมิปัญญาภายใต้การกำกับดูแลของคณะรัฐมนตรี
ความคิดเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ว่าด้วยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีระดับอุตสาหกรรม ภาษาต่างประเทศ และการเรียนรู้การดำเนินชีวิตในสังคมระดับสากล ซึ่งปัจจุบันนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาทักษะต่างๆ นั้น คือ กำหนดให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรู้ได้อย่างอิสระเพื่อเป้าหมายในการประกอบวิชาชีพ ซึ่งยกตัวอย่างจากกรณีศึกษาของสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ เช่น ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐฝรั่งเศส และสหพันธรัฐรัสเซีย เป็นต้น
? คุณสุวิทย์ หทัยสะอาด (ผู้จัดการฟาร์ม สหมิตรฟาร์ม จ.ภูเก็ต ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 50) ซึ่งนับได้ว่าเป็น
ตัวแทนของศิษย์เก่าที่มีรูปแบบของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงจากช่วงชีวิตที่ด้อยโอกาสทางสังคม จากปัญหาครอบครัว และสถานภาพทางการเงิน แต่ด้วยความมีความคิดที่ดีผนวกกับปัญญาจึงสามารถก้าวข้ามจุดเริ่มต้นนั้นมาได้ และนำมาสู่การเป็น ผู้ประกอบวิชาชีพประมงที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด ซึ่งได้บอกเล่าประสบการณ์และลำดับในการประกอบอาชีพหลังจบการศึกษาโดยการรับราชการในกรมประมง และรับสอนรายวิชาด้านการเพาะเลี้ยงในวิทยาเกษตร จังหวัดภูเก็ต และนอกเหนือจากเวลางานประจำได้ไปขายของตามตลาดนัด ตลอดระยะเวลา 5 ปี ได้รวบรวมทุนและความรู้ที่มีไปลงทุนฟาร์มกุ้ง โดยมุ่งหวังให้ชีวิตมีความสุขจากการทำงานที่ตรงกับสายอาชีพ
ความคิดเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 มีการพัฒนาในกลุ่มวิชาชีพของประเทศต่างๆ ในระดับอาเซียน เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดีส่งผลให้ประชากรมีอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้นในกลุ่มวิชาชีพประมงย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบการผลิตเชิงเดี่ยวเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ขยายตลาดมากขึ้น เช่น การเพาะเลี้ยงกุ้งต้องเพิ่มอัตราการผลิตเป็น 20 ตันต่อพื้นที่ 1 ไร่ และต้องมีเงินทุนไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาทเพื่อการเริ่มทำธุรกิจ และเพื่อรองรับกลุ่มประชากรที่ต้องการอาหารเพื่อสุขภาพกับการมีอายุยืนยาว ระบบการผลิตสัตว์น้ำมีความจำเป็นในการยกระดับสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นแบบคุณภาพสูง (Premium Food)
ด้านการพัฒนานักศึกษาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 จากการรับนักศึกษาจากคณะฯ ฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการ พบว่า นักศึกษาขาดความอดทน ความสามารถในการพัฒนาต่อยอดความรู้จากการฝึกปฏิบัติ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างสร้างสรรค์กับวิชาชีพ ดังนั้นในระหว่างที่เรียนอยู่ในสถาบันศึกษาต้องใช้ช่วงเวลาดังกล่าวอย่างคุ้มค่าในการเรียนรู้วิชาชีพ มิตรภาพของเพื่อน การใช้ชีวิตในสังคม และกำหนดเป้าหมายในชีวิตให้ชัดเจนเพื่อให้พัฒนาตนเองอย่างตรงจุด
? ดร.สง่า ลีสง่า (ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร สังกัดกรมประมง ศิษย์เก่าแม่โจ้
รุ่น 51) ตัวแทนศิษย์เก่าด้านการประกอบอาชีพในหน่วยงานราชการ โดยได้บอกเล่าประสบการณ์และลำดับในการประกอบอาชีพหลังจบการศึกษาโดยการเป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนแต่พบว่า เป้าหมายในชีวิตตนเอง คือ ต้องการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น จึงลาออก และสอบเข้ารับราชการโดยเริ่มงานที่สถานีประมงน้ำจืด จังหวัดพะเยา เรียนรู้และฝึกประสบการณ์ด้านการเพาะขยายพันธุ์ปลาบึก ต่อมาโอนย้ายไปประจำที่สถานีประมงจังหวัดสุราษฎ์ธานี ซึ่งผลงานที่เป็นเกียรติประวัติ คือ การเพาะพันธุ์ปลาเค้าดำปล่อยคืนแม่น้ำตาปี ในปี พ.ศ. 2534 ก่อนที่จะโอนย้ายมาประจำที่ศูนย์ประมงประจำจังหวัดราชบุรี และต่อไปที่จังหวัดชุมพร ก่อนมาดำเนินงานวิจัยด้านการเพาะเลี้ยงปลาหมอร่วมกับเครือข่ายศิษย์เก่าที่เลี้ยงปลาหมอทั่วทุกภูมิภาคจนประสบความสำเร็จจากการแปลงเพศปลาหมอ เมื่อปี พ.ศ. 2558
ความคิดเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 มีหลักเกณฑ์ที่สำคัญ คือ สิ่งมีชีวิตต้องมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ระดับการศึกษาไม่มีข้อจำกัดว่าด้วยอายุแบบปัจจุบัน และวัฒนธรรมที่ใช้ร่วมกันเป็นสากลทั่วโลก ซึ่งในสายงานด้านการประมงจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการผลิตภายใต้กลไกการตลาดและเศรษฐศาสตร์
จากสถิติผลการสอบนักวิชาการประมง สังกัดกรมประมง ในช่วงปี พ.ศ. 2550-2558 พบว่า บัณฑิตจากคณะฯ จำนวนมากที่ติดอันดับเพื่อรอลำดับการเรียกตัว แต่เนื่องด้วยปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงระบบการออกข้อสอบโดยสถาบันการศึกษาอาจส่งผลต่อคุณภาพของนักวิชาการประมงที่จะได้รับการคัดเลือก ซึ่งอาจส่งผลกระทบสำหรับนักศึกษาประมงที่ต้องการรับราชการหลังจบการศึกษา ต้องมีการพัฒนาศักยภาพตนเองให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะการใช้ชีวิตจากความรู้รอบตัวอย่างเท่าทันต่อสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
? คุณยุทธนา ทองพัว (รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ของ บริษัท C.P. Vietnam Corporation ประเทศ
เวียดนาม ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 55) เป็นตัวแทนศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จในงานภาคเอกชน ซึ่งเป็นที่ยอมรับขององค์กรทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ได้บอกเล่าประสบการณ์และลำดับในการประกอบอาชีพหลังจบการศึกษาโดยการสมัครงานตามบริษัทต่างๆ เพื่อมุ่งหวังที่จะได้ประกอบอาชีพพนักงานขาย และต้องพัฒนาตนเองเพื่อให้เหมาะสมกับสถานที่ทำงาน โดยเฉพาะทักษะทางภาษาโดยใช้เทคนิคการเรียนรู้จากวัฒนธรรมของสังคม
ความคิดเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ที่สำคัญในวงการประมง คือ การมีคู่แข่งในวิชาชีพที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตสายพันธุ์ การจัดการฟาร์ม และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อความต้องการตลาดแรงงานประมงโดยตรง ดังนั้นนักศึกษาประมงต้องมีการยกระดับตนเอง ซึ่งประกอบด้วย คุณภาพของวิชาความรู้ ทักษะปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ ทักษะภาษาต่างประเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพ ซึ่งในปัจจุบันองค์กรภาคเอกชนได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาในการพัฒนา คือ การคัดกรองคุณสมบัตินักศึกษาในชั้นปีที่ 3 เข้าร่วมฝึกปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมขององค์กร หลังจากนั้นในปีที่ 4 ก็ติดตามให้กลับเข้าไปทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้หลักสูตร Relationship methods
ตอนที่ 4 สอดคล้องสมรรถนะ
ประเภทสมรรถนะ
ตอนที่ 5 เอกสารอ้างอิง
ตอนที่ 6 ภายใต้โครงการ
ตอนที่ 7 ภายใต้งานวิจัย
ไม่มีข้อมูล
ตอนที่ 8 การบูรณาการ
ไม่มีข้อมูล