รายการบทความการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามคำสำคัญ  : มาตรฐานห้องสมุด
บริการสื่อโสตทัศน์ » การประเมินคอลเลคชันสื่อโสตทัศน์ภาพยนตร์ : การศึกษาเปรียบเทียบ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับห้องสมุดอื่น
การวิจัยมีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อประเมินคอลเลคชันสื่อภาพยนตร์ของห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับรายชื่อสื่อภาพยนตร์ดีเด่นที่จัดทำเป็นเกณฑ์มาตรฐานตามการวิจัยครั้งนี้ (2) เพื่อประเมินคอลเลคชันสื่อภาพยนตร์ของห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับคอลเลคชันของห้องสมุดอื่นที่ต้องการเทียบเคียง ในด้านจำนวนสื่อภาพยนตร์ (คอลเลคชันแต่ละแห่ง) และด้านข้อมูลบรรณานุกรมสื่อภาพยนตร์ (ความละเอียดของข้อมูลบรรณานุกรม) โดยมีสมมติฐานว่า (1) จำนวนสื่อภาพยนตร์ดีเด่นของห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของรายชื่อสื่อภาพยนตร์ดีเด่นที่จัดทำเป็นเกณฑ์มาตรฐาน และ (2) จำนวนสื่อภาพยนตร์ดีเด่นของห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนสื่อโดยเฉลี่ยที่มีในห้องสมุดต่างๆ ที่เปรียบเทียบกัน การวิจัยครั้งนี้มีรูปแบบการวิจัยหลักเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ โดยสำรวจจำนวนสื่อ ภาพยนตร์ที่เป็นคอลเลคชันในห้องสมุดต่างๆ เปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด นอกจากนี้ยังมีลักษณะเป็นการวิจัยเชิงเอกสาร โดยศึกษาลักษณะข้อมูลการทำรายการสื่อภาพยนตร์ของห้องสมุดต่างๆ ผ่านบริการสืบค้นข้อมูล OPAC (online public access catalog) ของห้องสมุดที่ต้องการเทียบเคียงกัน ประชากร คือรายการข้อมูลบรรณานุกรมภาพยนตร์ในฐานข้อมูลห้องสมุด แหล่งประชากร คือ ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาที่มีระดับพัฒนาคอลเลคชันสูง โดยสุ่มแบบเจาะจง จำนวน 4 แห่ง และห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้อีก 1 แห่ง รวม 5 แห่ง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ (1) โปรแกรม CDS/ISIS, โปรแกรม Film_opac ที่ใช้งานบนโปรแกรม Elib (2) รายชื่อสื่อภาพยนตร์ดีเด่นที่จัดทำเป็นเกณฑ์มาตรฐานตามการวิจัย และ (3) แบบบันทึกข้อมูลการทำรายการบรรณานุกรมของห้องสมุดต่างๆ (ความละเอียดของข้อมูล) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ผลการวิจัยมีดังนี้ 1. ข้อมูลภาพยนตร์จัดทำบนโปรแกรม CDS/ISIS และถ่ายข้อมูลบริการบนเว็บ ณ http://library.mju.ac.th/film/index.php มีจำนวน 12,958 รายชื่อ ในจำนวนนี้เป็นภาพยนตร์ดีเด่น ตามเกณฑ์ 5,214 รายชื่อ (ร้อยละ 40.24) เมื่อคัดกรองรายชื่อภาพยนตร์ดีเด่นเพื่อใช้ในการวิจัยคงเหลือ 2,924 รายชื่อ เป็นภาพยนตร์ไทยร้อยละ 15.94 ภาพยนตร์ต่างประเทศร้อยละ 84.06 เป็นภาพยนตร์ในช่วงปี 1970-1999 ร้อยละ 49.01, ปี 2000-2009 ร้อยละ 31.46 และปี 2010-ปัจจุบัน ร้อยละ 19.53 ประเภทภาพยนตร์ที่มีมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ ภาพยนตร์ชีวิต ภาพยนตร์ตลกขบขัน ภาพยนตร์ต่อสู้ ภาพยนตร์ผจญภัย และภาพยนตร์รัก 2. เกณฑ์ในการกำหนดภาพยนตร์ดีเด่นที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ (1) ภาพยนตร์ไทยรางวัลสำคัญ 4 รางวัล (2) ภาพยนตร์รางวัลออสการ์ ช่วง 1970-ปัจจุบัน ตามสาขาที่กำหนด (3) ภาพยนตร์ลำดับคะแนนสูง Top 250 จากเว็บไซต์ฐานข้อมูลภาพยนตร์ IMDb.com (4) ภาพยนตร์รายได้สูง จากเว็บไซต์ Mojo.com 3. การประเมินคอลเลคชันสื่อภาพยนตร์ ของห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับเกณฑ์หรือรายชื่อสื่อที่มีมาตรฐาน พบว่า มีในคอลเลคชันห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ 909 รายชื่อ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.09 ของภาพยนตร์ดีเด่นทั้งหมด ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ร้อยละ 50.00 การทดสอบสมมติฐานข้อ 1 จึงปฏิเสธสมมติฐาน 4. การประเมินคอลเลคชันสื่อภาพยนตร์ ของห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต่อค่าเฉลี่ยของคอลเลคชันห้องสมุด 5 แห่ง คือ 909 : 1057 รายชื่อ จึงมีจำนวนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 148 รายชื่อ โดยสัดส่วนภาพยนตร์ดีเด่นของห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ต่อค่าเฉลี่ยของห้องสมุดคิดเป็นร้อยละ 86.00 สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้คือร้อยละ 75 เมื่อทดสอบสมมติฐานข้อ 2 จึงยืนยันสมมติฐาน 5. การประเมินคอลเลคชันสื่อภาพยนตร์ ของห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต่อค่าเฉลี่ยของคอลเลคชันภาพยนตร์ออนไลน์ 2 แห่ง (IFLIX, Hollywood-HDTV) คือ 909 : 454 หรือ 1 : 0.5 หรือห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้มีขนาดคอลเลคชันใหญ่กว่า 2 เท่า 6. การประเมินข้อมูลบรรณานุกรมสื่อภาพยนตร์ ของห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต่อค่าเฉลี่ยของห้องสมุด 5 แห่งคือ 17 ข้อ: 12.2 ข้อ สรุปว่าห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้มีการลงรายการข้อมูลภาพยนตร์ละเอียดกว่าห้องสมุดอื่น คำสำคัญ : ภาพยนตร์ ; การพัฒนาทรัพยากรห้องสมุด ; การเทียบเคียงสมรรถนะ ; มาตรฐานห้องสมุด
คำสำคัญ : การเทียบเคียงสมรรถนะ  การพัฒนาทรัพยากรห้องสมุด  ภาพยนตร์  มาตรฐานห้องสมุด  
กลุ่มบทความ : กลุ่มงานตามสมรรถนะบุคลากร
หมวดหมู่ : กลุ่มงานห้องสมุด
สถิติการเข้าถึง : เปิดอ่าน 2993  ครั้ง | แสดงความคิดเห็น 0  ครั้ง
ผู้เขียน สุธรรม อุมาแสงทองกุล  วันที่เขียน 21/9/2561 11:36:10  แก้ไขล่าสุดเมื่อ 24/3/2567 19:51:56