ตอนที่ 1 : ข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก
รหัสอ้างอิง : 1002
ชื่อสมาชิก : ปารวี กาญจนประโชติ
เพศ : หญิง
อีเมล์ : parawee@mju.ac.th
ประเภทสมาชิก : บุคลากรภายใน[สังกัด]
ลงทะเบียนเมื่อ : 29/3/2555 5:18:19
แก้ไขล่าสุดเมื่อ : 29/3/2555 5:18:19


ตอนที่ 2 : ประวัติการเขียนบทความของสมาชิก
การเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ได้รับฟังการบรรยาย เรื่อง Future Trends in Plant Factory บรรยายโดย ผศ.ดร.สิริวัฒน์ สาครวาสี โดยได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรงงานผลิตพืช หรือ plant factory ซึ่งเป็นระบบผลิตพืชที่มีคุณภาพที่คงที่ อาจเป็นระบบปิดหรือกึ่งปิด สามารถปลูกพืชในทุกสภาพแวดล้อม และมีการบรรยายถึงแนวโน้มของโรงงงานผลิตพืชในอนาคต โดย Trends in Plant Factory Business แบ่งออกได้เป็น 7 Trends ได้แก่ 1. Big Plant Factory for Economy of Scale โดยการสร้างเป็นโรงงานผลิตพืชขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป เช่น มีการสร้างโรงงานผลิตพืชขนาดใหญ่ที่บริษัท SananBio ประเทศจีน 2. Medicinal Plant Production เป็นการใช้โรงงานผลิตพืชเพื่อผลิตพืชสมุนไพร หรือพืชที่มีมูลค่าสูงเพื่อการสกัดสาร เช่น การปลูกกัญชาในโรงงานผลิตพืช โดย สวทช. 3. Data Driven Plant Factory เป็นการทำงานภายใต้ระบบข้อมูล 4. Harvest on Demand เป็นการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ได้จากโรงงานผลิตพืชที่สามารถเก็บได้ตามความต้องการของลูกค้า เช่น การปลูกผักภายในระบบโรงงานผลิตพืชที่ลูกค้าสามารถเก็บผักได้ตามความต้องการ 5. Automation เป็นการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติแทนแรงงานจากคน 6. Post Organic concept เป็นการปลูกพืชแบบอินทรีย์ 7. Failure of Plant Factory Business ความล้มเหลวของโรงงานผลิตพืชสามารถเกิดขึ้นได้ มีหลายสาเหตุที่ทำให้โรงงานผลิตพืชไม่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ เช่น การกำหนดราคา ในกรณีของผักเมื่อมีการกำหนดราคาเทียบกับผักตามท้องตลาด, ต้นทุนแรงงาน, การควบคุมคนเข้าออกภายในโรงงานผลิตพืช และได้ฟังบรรยายเรื่อง Optimal Nutrient and Cultural Environments of Ice Plants โดย ดร.ธิติพัฒน์ วีเปลี่ยน ในเรื่องของการศึกษา Ice plants (Mesembryanthemum crystallinum L.) ซึ่งเป็นพืชคลุมดินที่ชอบเกลือ มีถิ่นกำเนิดจากแถบชายทะเลแอฟริกา เป็นพืชที่มีการสังเคราะห์แสงแบบ CAM พืชชนิดนี้สามารถสร้างสาร antioxidant ได้ เมื่ออยู่ในสภาพเครียด (stress) โดยผู้วิจัยได้สร้างสภาพเครียดให้กับ ice plants เพื่อให้พืชสร้างสาร pinitol (inositols) โดยสารชนิดนี้มีประโยชน์ในการปรับปริมาณน้ำตาลในเลือดได้ โดยมีการบรรยายถึงการเจริญเติบโตของ ice plants การผลิต ice plants ในระบบโรงงานผลิตพืช และราคาของ ice plants จะอยู่ที่ 150 บาท/ 100 กรัม ซึ่งเป็นที่นิยมนำมารับประทาน โดยเฉพาะในประเทศไต้หวันและญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังได้ฟังบรรยาย เรื่อง Medical Cannabis Production in Plant Factory บรรยายโดยคุณรัชสิทธิ์ หิรัญญาภินันท์ ได้บรรยายประสบการณ์ในการปลูกกัญชา การปลูกกัญชาโดยส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกเพื่อต้องการดอก โดยสารสำคัญในกัญชาจะอยู่ที่ไตรโครมซึ่งมีมากในช่วงของการติดดอก และได้มีการบรรยายเปรียบเทียบถึงการปลูกกัญชาใน green house, plant factory และการปลูกแบบ out door โดยข้อดีของการปลูกกัญชาในโรงงานผลิตพืช คือ สามารถปลูกได้หลายรอบ เนื่องจากสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ ไม่ต้องใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช เมื่อเทียบกับการปลูกภายนอกซึ่งไม่สามารถปลูกได้ในฤดูฝน เนื่องจากเมื่อส่วนของไตรโครมโดนน้ำฝนแล้วจะเกิดความเสียหายส่งผลให้สูญเสียสาระสำคัญไป นอกจากนี้การที่ต้นกัญชาอยู่ในสภาพความชื้นสูงอาจส่งผลทำให้เป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคจากเชื้อราทำให้ดอกเน่า และข้อดีของการปลูกกัญชาในโรงงานผลิตพืชอีกประการหนึ่ง คือ สามารถใช้แสงเพื่อกระตุ้นให้ต้นกัญชาสร้างไตรโครมได้เยอะ ทำให้ผลิตสารสำคัญในปริมาณที่สูงขึ้นด้วย การปลูกกัญชาภายนอก หรือ out door มีความเสี่ยงต่อดอกกัญชาได้รับการผสมจากแมลง เพราะเมื่อดอกถูกผสมจะสร้างเมล็ด ทำให้ต้นกัญชาสร้างไตรโครมได้น้อยลงและไม่ผลิตสารสำคัญ ซึ่งการปลูกในโรงงานผลิตพืชจะปราศจากแมลงในธรรมชาติ ทำให้ต้นกัญชาตัวเมียไม่ได้รับการผสมจึงทำให้สามารถผลิตสารสำคัญได้ และได้บรรยายถึงปัญหาและสิ่งที่ต้องคำนึงถึงการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ในโรงงานผลิตพืช คือ 1. สายพันธุ์ ที่มีสาระสำคัญทางยาสูง ผลผลิตดี 2. ศัตรูพืช เช่น เพลี้ยไฟ 3. เทคนิคของการปลูกกัญชา แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการใช้เทคโนโลยีการปลูกกัญชาในโรงงานผลิตพืช คือ ความคุ้มทุน เพราะต้นทุนของการปลูกพืชในโรงงานผลิตพืชนั้นค่อนข้างสูง
การเข้าร่วมโครงการ “หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2560 (หลักเกณฑ์ใหม่) ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ทำให้คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่มีความสนใจจะขอกำหนดตำแหน่งวิชาการมีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2560 (หลักเกณฑ์ใหม่) โดยหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ หลักเกณฑ์ใหม่มีการเปิดโอกาสให้อาจารย์ที่มีคุณวุฒิปริญญาเอก มีโอกาสขอกำหนดสู่ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ได้เร็วขึ้นกว่าหลักเกณฑ์เดิม คือ ปฏิบัติราชการมาแล้ว 1 ปี และพ้นระยะทดลองการปฏิบัติงานที่กำหนดโดยมหาวิทยาลัย แทนเกณฑ์เดิมที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติราชการมาแล้ว 2 ปี นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในชั่วโมงสอน จากเดิมที่มีหลักเกณฑ์ว่า ให้สอนประจำวิชาใดวิชาหนึ่งที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัย แต่ในหลักเกณฑ์ใหม่ ได้มีการกำหนดจำนวนหน่วยกิตอย่างชัดเจน คือ เทียบค่าได้ไม่น้อยกว่า 3 หน่วยกิต ในระบบทวิภาค นอกจากนี้ต้องมีการเสนอเอกสารประกอบการสอนที่มีคุณภาพดี มีการอ้างอิง และได้ใช้ประกอบการสอนมาแล้ว ซึ่งหลักเกณฑ์ของเอกสารประกอบการสอนให้ขึ้นอยู่กับทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นผู้กำหนด ในส่วนของผลงานวิจัยสำหรับการกำหนดตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทางสายวิทยาศาสตร์นั้น ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการยื่นจำนวนชิ้นผลงานวิจัยที่ชัดเจน โดยได้กำหนดให้ต้องยื่นผลงานวิจัย จำนวน 2 เรื่อง แทนหลักเกณฑ์เดิมที่ได้กำหนดผลงานอย่างน้อย 1 เรื่อง ซึ่งได้มีการแจ้งว่าเป็นการแก้ปัญหาให้แก่ผู้ประเมินซึ่งมีแนวคิดที่แตกต่างกันว่าการให้ผ่านของการขอกำหนดตำแหน่งวิชาการนั้นจำนวนชิ้นของผลงานวิจัยเพียงพอหรือไม่ นอกจากนี้ผลงานวิจัยนั้นผู้ที่กำหนดตำแหน่งวิชาการต้องเป็นผู้วิจัยหลัก หมายถึงต้องมีสัดส่วนผลงานวิจัยไม่น้อยกว่า 50% ในผลงานวิจัยแต่ละเรื่อง และในกรณีที่ต้องการรวบรวมสัดส่วนของผลงานวิจัยแต่ละชิ้นที่มีสัดส่วนไม่ถึง 50% ผลงานวิจัยนั้นๆ จะต้องมีลักษณะเป็นชุดโครงการที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในผลงานแต่ละเรื่องจึงจะสามารถใช้รวมสัดส่วนของผลงานวิจัยได้ และผลงานวิจัยจะต้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูลที่ สกอ. ยอมรับ สามารถตีพิมพ์ในฐานข้อมูล TCI (Thai-Journal Citation Index Centre) ได้ ผลงานวิจัยที่ยื่นเพื่อขอกำหนดตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ต้องเป็นผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดี นอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่น นอกจากการยื่นด้วยผลงานวิจัย 2 เรื่อง คือ อาจใช้ผลงานวิจัย 1 เรื่อง ที่เป็นผู้วิจัยหลักและเป็นผลงานวิจัยมีคุณภาพดีและผลงานวิชาการในลักษณะอื่น 1 รายการ หรือผลงานวิจัย 1 เรื่อง และผลงานวิชาการรับใช้สังคม 1 เรื่อง หรือผลงานวิจัย 1 เรื่อง และตำราหรือหนังสือ 1 เล่ม ที่มีคุณภาพดี โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไป
การเข้าร่วมโครงการสัมมนาในครั้งนี้ได้มีการบรรยายเกี่ยวกับเรื่อง Thailand 4.0 ประเทศไทยยังคงมีการทำเกษตรกรรมแบบเก่า การทำอุตสาหกรรมและการใช้เทคโนโลยียังไม่สูงมากนัก จะเป็นการใช้แรงงานเป็นส่วนมาก Thailand 4.0 เป็นการทำเทคโนโลยีแบบสูงเข้ามาช่วยในการทำเกษตรกรรม ทำให้ได้ผลผลิตแบบมีมูลค่าสูง ซึ่งงานวิจัยในมหาวิทยาลัยที่จะสามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อนำไปใช้ให้เข้ากับ Thailand 4.0 ได้นั้น เมื่อต้องการให้งานวิจัยที่จะใช้เพื่อพัฒนาประเทศประสบความสำเร็จจะต้องมีการให้งบประมาณเงินวิจัยที่ต่อเนื่องในระยะยาว มีเครื่องมือ บุคลากรที่มีความสามารถพร้อมสำหรับงานวิจัย โดยมักจะมีการทำงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งส่วนสำคัญที่จะพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ได้นั้น ส่วนหนึ่งต้องมีการพัฒนาคนไทย ให้เป็นคนไทย 4.0 ด้วย หมายถึง คนที่มีความรู้ความสามารถ มีจิตสาธารณะ และพร้อมที่จะรับความรู้อยู่เรื่อยๆ นอกจากนี้ยังได้มีการบรรยายถึง การพัฒนางานวิจัยในมหาวิทยาลัยให้ไปสู่นวัตกรรมได้อย่างไร เพื่อเข้าสู่ Thailand 4.0 และได้ยกตัวอย่างถึงไต้หวัน ที่สมัยก่อนไต้หวันเป็นประเทศที่ทำการเกษตรกรรมคล้ายกับประเทศไทยในปัจจุบัน แต่ได้มีการพัฒนาสินค้าเกษตรโดยได้ผ่านกระบวนการหรือการตัดแต่งเพื่อให้ได้คุณภาพ ไม่ให้เน่าเสีย เป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร ไม่เหมือนประเทศไทยในปัจจุบัน ที่สินค้าเกษตรยังคงวางขายกองอยู่ที่พื้นถนน ที่เก็บเกี่ยวจากที่ปลูกและนำมาขายเลยโดยไม่ผ่านกระบวนการใดๆ ดังนั้นสินค้าเกษตรในประเทศไทยควรใช้งานวิจัยมาช่วยในการพัฒนาให้สินค้าเกษตรอยู่ในระดับที่คงราคาได้ นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่น่าสนใจในการทำการเกษตรที่เข้ากับ Thailand 4.0 ที่สามารถพัฒนางานวิจัยมาช่วยในการเพาะปลูกได้ คือ Precision Agricultural เป็นการทำการเกษตรแบบแม่นยำ ที่จะช่วยลดต้นทุนและทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณมากขึ้น
รายงานงานประชุมวิชาการ สวทช. ภาคเหนือ 2559
การเข้าร่วมการประชุมวิชาการ ประจำปี 2559 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.ภาคเหนือ) ในครั้งนี้ได้ฟังการนำเสนอโครงการวิจัย เรื่อง อาหารผสมครบส่วนจากเปลือกข้าวโพดเพื่อการเลี้ยงโคเนื้อ และ การเสริมซังข้าวโพดปรับสภาพเพื่อลดต้นทุนอาหารไก่พื้นเมือง โดย ดร.มนตรี ปัญญาทอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้มีการใช้เปลือกข้าวโพดที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งเป็นองค์ประกอบสำหรับการเลี้ยงโคขุน และเป็นอาหารไก่พื้นเมือง ในจังหวัดพะเยา เป็นการช่วยลดต้นทุนค่าอาหารและเป็นทางเลือกในช่วงที่อาหารขาดแคลน เรื่อง ผลิตภัณฑ์กัมมี่เยลลี่ผักเชียงดาเพื่อสุขภาพ โดย ดร.ภัทราภรณ์ ศรีสมรรถการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในผักเชียงดาเป็นพืชสมุนไพรที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ที่สามารถยับยั้งการดูดซึม ลดน้ำตาล ลดการแตกตัวของเม็ดเลือดแดง นอกจากทานใบสดแล้วยังสามารถนำมาแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น เครื่องดื่มผักเชียงดาสกัด ผักเชียงดาสกัดแคปซูล เป็นต้น จึงคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์กัมมี่เยลลี่ที่สามารถรับประทานได้ง่ายทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เรื่อง วัสดุปลูกจากซังข้าวโพดทดแทนกาบมะพร้าวเพื่อการปลูกพืชไร้ดิน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โชค โสรัจกุล มหาวิทยาลัยพะเยา โดยทั่วไปการปลูกพืชไร้ดินจะใช้กาบมะพร้าวสับเป็นวัสดุปลูก ในอำเภอปง จังหวัดพะเยา มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้มีแนวคิดในการประยุกต์ใช้เศษเหลือจากการปลูกข้าวโพดมาเป็นวัสดุปลูกสำหรับการผลิตผักเศรษฐกิจแก่เกษตรกร โดยได้มีการทดลองใช้ส่วนต่างๆ ของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เช่น เปลือกฝัก ซังข้าวโพด และต้นแห้ง มาพัฒนาเป็นวัสดุปลูกพริกหวานเปรียบเทียบกับการใช้กาบมะพร้าว ใช้ระบบการให้ปุ๋ยเป็นแบบสารละลายธาตุอาหารพืช จากการทดลองพบว่าสามารถใช้ซังข้าวโพดและต้นแห้งของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาเป็นวัสดุปลูกทดแทนการใช้กาบมะพร้าวได้ เรื่อง ปุ๋ยอินทรีย์น้ำเข้มข้นจากมูลหนอนไหมอีรี่ ผู้วิจัย ดร.ชัยอาทิตย์ อิ่นคำ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอโดย คุณเจิมขวัญ ศรีสวัสดิ์ ในกระบวนการเลี้ยงไหมอีรี่จะพบมูลปริมาณมาก โดยเกษตรกรบางท่านได้นำมูลของหนอนไหมอีรี่มาตากแห้ง และนำไปใช้เป็นปุ๋ยให้กับต้นลำไยพบว่า ลำไยมีการเจริญเติบโตที่ดี ผู้วิจัยจึงมีแนวคิดในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากมูลหนอนไหม เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมอีรี่อีกทางหนึ่ง และเนื่องด้วยไหมอีรี่เป็นสัตว์กินพืชที่กินอาหารเพียง 2 ชนิด คือ ใบละหุ่ง และใบมันสำปะหลัง ทำให้มูลไหมอีรี่มีธาตุอาหารที่คงที่ แตกต่างจากมูลสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่กินอาหารหลายชนิด และพบว่าในมูลไหมอีรี่มีปริมาณธาตุไนโตรเจนที่สูงถึง 5.81 กรัม/100 กรัม จึงเหมาะแก่การนำมาพัฒนาเป็นปุ๋ยน้ำอินทรีย์ ซื่งเมื่อพัฒนาได้เป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยน้ำแล้วมูลไหมอีรี่มีปริมาณธาตุไนโตรเจน 0.16% ซึ่งสูงกว่ามูลค้างคาว และมูลไส้เดือนดิน ด้วยปริมาณธาตุไนโตรเจนที่สูง จึงเหมาะในการใช้ปุ๋ยน้ำอินทรีย์นี้สำหรับการปลูกผักใบ เช่น ผักกาดหอม ผักกาดแก้ว