การวิจัยและบริการวิชาการถือเป็นกิจกรรมพัฒนาปัญญาเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่มนุษย์เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาวิถีการดำรงชีวิตทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมให้ดีขึ้น ทั้งยังใช้ในการปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและอารยธรรมของโลกที่เปลี่ยนไปได้เป็นอย่างดี การวิจัยได้มีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ทั้งต่อการพัฒนาในส่วนเฉพาะตัวมนุษย์เองหรือแม้แต่ด้านสังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเมืองการปกครองและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการสร้างรากฐานของการพัฒนาประเทศและประชากร ให้สามารถเข้าใจปัญหาของประเทศและร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ การทำวิจัยทุกเรื่อง ผู้ทำวิจัยจะต้องทราบว่าเมื่อทำเสร็จแล้วผลการวิจัยจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไร ประโยชน์ของการวิจัยมีได้หลายลักษณะ เช่น การนำผลการวิจัยไปใช้ในการกำหนดนโยบาย ปรับปรุงการปฏิบัติงาน ใช้เป็นแนวทางการตัดสินใจ ใช้ในการแก้ปัญหา หรือทำวิจัยต่อไป เป็นต้น การสร้างแรงจูงใจในการทำวิจัยและนำผลงานวิจัยไปบูรณาการสู่การบริการวิชาการก็เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักวิจัย โดยนโยบายของมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ นโยบายการบริหารงานตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยทั้งด้านการวิจัยและการบริการวิชาการ สามารถนำมาเสริมสร้างศักยภาพให้บุคลากรในการคิดวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ และเป็นแนวทางในการพัฒนาองค์กรและสังคมให้มีความยั่งยืนต่อไป จากเหตุผลข้างต้นนั้น ทางฝ่ายงานบริการวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ ฯ จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริม สนับสนุน และสร้างแรงจูงใจในการทำวิจัยและบูรณาการไปสู่การบริการวิชาการ จึงได้จัดทำโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานวิจัยและบริการวิชาการขึ้น